คำถามอีกหลายข้อ ที่ “อยากถาม” จุฬาฯ

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึง “อุเทนถวายที่ผมรู้จัก” และเรื่องราวของเพื่อนรักคนหนึ่งที่เคยเป็นศิษย์เก่าของช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ซึ่งไปทำงานอยู่ที่กรมทางหลวง มีส่วนอย่างมากในการสร้างทางหลวงทั่วประเทศไทย รวมทั้งการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่อำเภอบรรพตพิสัย บ้านเกิดของผมและเพื่อนรายนี้ด้วย

จริงอยู่แม้เพื่อนจะเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ แต่ถ้าไม่มีฟันเฟืองเหล่านี้โครงการต่างๆ ก็ยากที่จะดำเนินไปได้ด้วยดี ผมจึงถือโอกาสขอบคุณช่างก่อสร้างอุเทนถวายไว้ด้วยในคอลัมน์เมื่อวานนี้

ขณะเดียวกัน ผมก็ทิ้งท้ายว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้ทางจุฬาฯ เปิดเผยรายละเอียดของโครงการที่จะใช้พื้นที่หรือบริเวณที่เป็นส่วน ของ “อุเทนถวาย” ว่าจะเป็นโครงการประเภทใด? มีประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติอย่างไร? เทียบกับคุณค่าของการมีประโยชน์ที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเคยมีในอดีตมาจนถึงการเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ในปัจจุบัน ที่มีต่อประเทศไทย

พี่น้องชาวไทยที่สนใจในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะได้มีความเข้าใจมากขึ้นและเมื่อทราบถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ของโครงการใหม่ว่ามีมากอย่างไรแล้ว…หลายๆ คนที่ไม่เห็นด้วยกับจุฬาฯ จะได้คลี่คลายความกังวลและหันมาเชียร์จุฬาฯเต็มที่

โดยส่วนตัวผมเชื่อในเกียรติยศของผู้บริหารจุฬาฯ ทุกๆ ท่านในความซื่อสัตย์สุจริตและดำเนินการทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์แห่งจุฬาฯ ทั้งสิ้น ไม่มีที่จะเบียดบังส่วนไหนมาเป็นประโยชน์แห่งตนแม้แต่น้อย

แต่ก็อยากจะเรียนท่านว่า ในสังคมไทยที่มีผู้บริหารในองค์กรอื่นๆ หรือส่วนราชการอื่นๆ ไม่น้อยเลยที่มีพฤติกรรมไปในทาง “ลบ” ย่อมจะทำให้ ประชาชนทั่วไปอดหวาดระแวง หรือคิดในทางลบไปทุกๆ องค์กรเสียมิได้

การแถลงในทุกเรื่องอย่างโปร่งใส จึงเป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากนี้ หลายๆ กิจกรรมที่จุฬาลงกรณ์เคยยอมให้ส่วนราชการอื่นๆ มาใช้พื้นที่ แล้วปรากฏว่า ส่วนราชการนั้นๆ สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างเป็นประโยชน์และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนส่วนใหญ่นั้น จุฬาฯ จะต้องระมัดระวังยิ่งในการเรียกคืนภายหลัง

ดังเช่น กรณีเรียกพื้นที่ของ กรมพลศึกษา กลับคืนพร้อม สนามศุภชลาศัย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนจับตาอยู่พอสมควร

กรมพลศึกษาอาจไม่มีข้อโต้แย้งและยอมโยกย้าย แต่อย่าลืมว่าผลงานที่กรมพลศึกษาเคยสร้างไว้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทยหลายๆ เรื่อง ที่ทางจุฬาฯ จะต้องรับโอนตามไปด้วย

สนามศุภชลาศัยที่เคยเป็นสนามกีฬาแห่งชาตินั้น คือต้นกำเนิดของวงการกีฬาไทยในฐานะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬา แหลมทอง, ซีเกมส์ และ เอเชียนเกมส์ หลายต่อหลายครั้ง

การได้สนามศุภชลาศัยกลับไปจึงควรต้องมองอย่างให้เกียรติประวัติศาสตร์และต้องดูแลให้สมฐานะกับที่เป็นสนามกีฬาแห่งประวัติศาสตร์

ขณะเดียวกัน เมื่อกรมพลศึกษาไม่อยู่แล้ว สนามศุภชลาศัยก็มีการใช้งานด้านกีฬาน้อยลงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นทันตาเห็นขณะนี้ก็คือ ถนนบรรทัดทองหน้าสนามกีฬาแห่งชาติได้แปรสภาพไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

จากที่เคยมีร้านขายเครื่องกีฬาและเสื้อผ้ากีฬาเต็มไปหมดก็เหลือน้อยลง และที่โผล่ขึ้นมาใหม่อย่างเหลือเชื่อกลับเป็นร้านอาหารสารพัดอาหาร จนทุกวันนี้ถนนบรรทัดทองกลายเป็นถนนอาหารที่น่าจะใหญ่ที่สุดของ กทม.ไปแล้ว

ก็ไม่ว่ากัน เพราะ “อาหาร” ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง เมื่อจะเปลี่ยนจากถนน กีฬา มาเป็น ถนนอาหาร คงจะพอชดเชยกันได้ แต่คำถามที่แฟนกีฬาถามไถ่ก็คือ เมื่อจุฬาฯ ยึดสนามศุภชลาศัยกลับไปแล้ว จะเอาไปทำอะไร? ใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไร?

นี่แหละที่ผมบอกว่า การปล่อยให้คนอื่นเช่าหรือให้ยืมใช้ในยุคก่อนๆ บางครั้งก็เป็นผลเชิงลบแก่จุฬาฯ เอง เมื่อเรียกคืนกลับมาดังเช่นที่ให้ยืมไปเป็นที่ตั้งของกรมพลศึกษาและสนามกีฬาแห่งชาตินี่แหละครับ

ฝากไว้ให้คิดเป็นการบ้านเล่นๆ เท่านั้นแหละครับ…อย่าลืมว่าแม้ที่ดินจุฬาฯ จะเป็นของจุฬาฯ แต่จุฬาฯ ก็เป็นของประเทศไทย…คนไทยมีสิทธิ์ซักถามและตรวจสอบตลอดเวลา จะทำอะไรในเรื่องใหญ่ๆ ก็ขอให้เตรียมคำตอบสำหรับประชาชนไว้บ้าง คือประเด็นที่ผมฝากผู้บริหารจุฬาฯ เพิ่มเติมไว้ในวันนี้ครับ.

“ซูม”

อุเทนถวาย, ย้ายออก, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ก่อสร้าง, โรงเรียน, เตรียมอุดมศึกษา, ประท้วง, ธุรกิจ, ที่ดิน, จุฬาฯ, ข่าว, ซูมซอกแซก, บรรทัดทอง