มอง “สงคราม” ยิว-อาหรับ ทำไม “วันนี้” ไม่เหมือน “วันนั้น”?

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในกาซายังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วถึงเดือนเศษๆ ก็ตาม

อะไรไม่อะไรยิ่งรบกันไปดูเหมือนจะมีแต่ผู้คนออกมาแสดงความเห็นใจกลุ่มฮามาสและประชาชนในฉนวนกาซา ทั้งๆที่ “ต้นตอ” ครั้งนี้ เกิดมาจากการกระทำของกลุ่มฮามาสที่บุกโจมตีอิสราเอลก่อน

ต่างกับในอดีตเวลาที่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มอาหรับ ชาวโลกส่วนใหญ่รวมถึงคนไทยเราด้วยมักจะเชียร์อิสราเอล

เมื่อประมาณ พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ดังมากเรื่องหนึ่งชื่อว่า “Exodus” เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยการเข้าไปตั้งรัฐอิสราเอลให้แก่ยิว มี พอล นิวแมน ดาราดังมากของยุคนั้นเป็นพระเอก

ที่ฮิตมากกว่าภาพยนตร์ก็คือ เพลงประกอบภาพยนตร์ที่เรียกกันว่า Theme of Exodus ที่มีเนื้อร้องท่อนแรกว่า “This land is mine, God gave this land to me”

คนที่ดูหนังและฟังเพลงด้วยต่างสงสารและเห็นใจอิสราเอลอย่างยิ่งที่กลายเป็นชนชาติที่ไร้ประเทศ ซึ่งบัดนี้จะมีประเทศแล้ว

นอกจากจะชื่นชมทั้งหนังและเพลงดังกล่าวแล้ว ในโลกแห่งความจริง อิสราเอล ซึ่งมาได้ประเทศใหม่กลางวงล้อมของประเทศอาหรับ และยังต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้านรอบๆ ก็ยังได้รับเสียงเชียร์อยู่เสมอๆ

โดยเฉพาะอีก 10 ปีต่อมา หรือประมาณ 2513 เมื่อเกิดศึกใหญ่อีกระลอก กองทัพอียิปต์บุกเข้าโจมตีอิสราเอล และอิสราเอลก็สู้ยิบตาโดยใช้วิธีให้ฝูงบินบินตํ่าหลบเรดาร์ไปถล่มฐานทัพต่างๆ ของอียิปต์จน เสียหายหนักเป็นผลให้อียิปต์ต้องยอมยุติศึก ซึ่งก็คือยอมแพ้นั่นเอง

ผู้สื่อข่าวเรียกสงครามคราวนั้นว่า “สงคราม 6 วัน” และหลังชัยชนะก็บังเกิด “วีรบุรุษ” ของอิสราเอลขึ้นท่านหนึ่งคือ นายพลโมเช่ ดายัน ซึ่งเป็นนักรบตาเดียว มีแผ่นหนังเล็กๆ ปิดตาไว้ข้างหนึ่ง

คนไทยชื่นชมโมเช่ ดายัน มาก มีการกล่าวขวัญถึงและยกย่องราวกับท่านเป็นคนไทย และเป็นขวัญใจคนไทย

หากจะถามว่าทำไมคนส่วนใหญ่ของโลก รวมทั้งคนไทยด้วยยุคนั้น จึงเชียร์อิสราเอล และโมเช่ ดายัน…คำตอบเท่าที่ผมนึกออก ก็เพราะว่าผู้คนทั่วโลกมักชอบเชียร์ มวยรอง การที่ประเทศอิสราเอลเล็กนิดเดียว ทำสงครามชนะอียิปต์จึงได้ใจผู้คนส่วนใหญ่

ต่างกับสงครามในยุคปัจจุบัน ซึ่งอิสราเอลแม้จะยังเป็นประเทศเล็กๆ อยู่ แต่มีกำลังอาวุธที่เข้มแข็งกว่า ร้ายแรงกว่า การบุกเข้าถล่มกาซาจึงเป็นการบุกข้างเดียว ถล่มข้างเดียวแบบอีกฝ่ายไม่มีทางสู้

แล้วผลของการถล่มแบบไม่ยั้งก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และแน่นอนย่อมจะมีเด็กๆจำนวนมากด้วย เพราะมองจากภาพด้วยตาเปล่าก็จะเห็นแต่แรกว่าในกาซามีเด็กๆยั้วเยี้ยไปหมด

การกล่าวอ้างของกลุ่มฮามาสที่ว่ามีเด็กๆ เ สียชีวิตจำนวนมากถึงกว่า 4,000 ราย จึงเป็นที่เชื่อถือของชาวโลก รวมไปถึงองค์กรใหญ่ของโลกอย่าง UN ก็ยอมรับตัวเลขนี้ และออกมาตำหนิอิสราเอล

โดยส่วนตัวผมยังยืนยันว่าผมเป็นกลางอย่างเคร่งครัด มีความรักความเคารพมนุษย์ทุกๆเชื้อชาติ ทุกๆเผ่าพันธุ์ อย่างเท่าเทียมกันเสมอมา

แม้ผมจะรู้สึกโกรธที่แรงงานไทยเราต้องไปเสียชีวิต และต้องไปถูกจับกุมเป็นตัวประกันยังไม่ทราบชะตากรรมในขณะนี้

แต่ผมก็พยายามนึกเสียว่าเป็นคราวเคราะห์ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ถ้าเป็นไปได้ก็ขออย่าให้เกิดขึ้นอีก และขอให้ตัวประกันทุกคนจงพ้นอันตรายได้กลับมาหาลูกเมีย

ทำให้ผมนึกถึงเพลงฮิตอีกเพลงหนึ่ง คือเพลง “We are the World” ที่แต่งขึ้นตอนแรกก็เพื่อความมุ่งหมายที่จะร่วมแรงร่วมใจส่งความช่วยเหลือไปยังเด็กๆที่อดอยาก ยากไร้ ขาดอาหารในทวีปแอฟริกา

แต่พอๆร้องๆกันไปด้วยความไพเราะของท่วงทำนองและความกินใจของเนื้อหา ทำให้มีการตีความเพลงนี้ไปไกลกว่าแอฟริกาคือไปถึงโลก ทั้งโลกด้วยซํ้า

ชาวโลกควรจะรักกัน ควรจะช่วยเหลือกัน และเป็นหนึ่งเดียวกัน

หวังว่าสงครามตะวันออกกลางจะยุติได้สักวันใดวันหนึ่งในไม่นานนัก เพื่อชาวโลกจะได้หันมาร้องเพลง “We are the World” อย่างเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันในที่สุด.

“ซูม”

สงคราม, ยิว, อาหรับ, ตะวันออกกลาง, กลุ่มฮามาส, อียิป, ประเทศ, อิสราเอล, ข่าว, ต่างประเทศ, ซูมซอกแซก, We are the World