ตั้งรัฐบาล “ยาวนาน” “ไทย” VS “เบลเยียม”

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 ยังไม่แล้วเสร็จ…ผมลองนับดูน่าจะราวๆ 90 วัน เห็นจะได้

แต่ก็เริ่มมีข่าวออกมาว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะตั้งได้สำเร็จ โดยจะมีพรรค “2 ลุง” (แต่ไม่มีลุง) มาร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และต้องการเสียง สว. อีกประมาณ 59 หรือ 60 เสียง ก็จะเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ดังนั้นถ้าในที่สุดพรรคเพื่อไทยตั้งได้สำเร็จและสามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ ก่อนเดือนตุลาคมอย่างที่แกนนำพรรคกล่าวกับนักข่าวเมื่อวันก่อน …เราก็จะมีรัฐบาลใหม่ที่สมบูรณ์ทุกประการ ภายในเวลาไม่เกิน 140 วัน

อาจจะเป็นเวลาที่นานไปนิดสำหรับบ้านเรา แต่ในระดับสากลแล้วถือว่าโอเคครับ เพราะอย่างที่ทราบกันแล้วว่าในต่างประเทศเขาใช้เวลานานกว่านี้เยอะ

โดยเฉพาะ เบลเยียม ที่ผมเคยเขียนไว้แล้วว่า เป็น “แชมป์โลก” ในการใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลถึง 2 สมัย…สมัยแรกใช้เวลา 541 วัน ในการเลือกตั้งเมื่อ 30 มิถุนายน ค.ศ.2010

ต่อมา เมื่อ 1 ตุลาคม ปี 2020 เบลเยียมก็ทำสถิติโลกใหม่อีกครั้ง ใช้เวลาถึง 652 วัน ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคมของปี 2018 จบลง

สื่อตะวันตกที่ติดตามข่าวของประเทศเบลเยียมเคยวิเคราะห์และตั้งคำถามว่าประเทศนี้อยู่ได้อย่างไรในสภาวะที่ไม่มีรัฐบาลตัวจริง?

พบคำตอบหลายๆ ข้อโดยเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับการ “ตั้งยาก” นั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่มาจากการแตกแยกทั้งทางความคิดความเชื่อของประชาชนในประเทศซึ่งมีถึง 3 กลุ่มใหญ่ๆ

ในการเลือกตั้งเกือบทุกครั้งคะแนนเสียงจึงกระจายออกไปเป็น 3 กลุ่ม ทำให้ยากที่จะเข้ามารวมกัน เพราะแต่ละกลุ่มมักมีนโยบายที่ค่อนข้างแตกต่างกัน

ทีนี้เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ยากและจะต้องใช้รัฐบาลรักษาการอยู่เป็นเวลานานนั้น…ประชาชนเดือดร้อนแค่ไหน?

คำตอบที่พบก็คือในส่วนของประชาชนจะรู้สึกเฉยๆ แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันเพราะการดูแลด้านรักษาพยาบาลหรือเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วไป ส่วนมากรัฐบาลท้องถิ่นเข้ามารับหน้าที่อยู่แล้ว

รถเมล์ รถราง รถไฟฟ้า หรือการขนส่งต่างๆ ก็ยังทำงานตามปกติ ประชาชนก็ยังคงไปทำงานได้เหมือนเดิม

ทำให้ครั้งล่าสุด 652 วัน หรือเกือบๆ 2 ปี ประเทศเบลเยียมและประชาชนเบลเยียมก็สามารถอยู่กันได้ แม้จะไม่มีรัฐบาลตัวจริง

จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดเหตุ “สำคัญ” เข้ามาบีบให้การเจรจาอันยืดเยื้อต้องรีบยุติลงโดยด่วน…ซึ่งก็คือการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง

เหตุเพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถจะตัดสินใจในบางเรื่องได้ทำให้การต่อสู้กับโควิดเป็นไปอย่างขาดประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน ในเวลาไม่นานถือว่าเป็นความล้มเหลว

นักการเมืองทุกพรรค ซึ่งถูกไฟโควิด-19 ลนก้นประชาชนด่าพรึมจึงต้องยอมจับมือและได้นายกรัฐมนตรีตัวจริงในที่สุด

ของเราดูแล้วที่จะให้นานเป็นปีแบบเขาคงยาก เพราะไม่ใช่แค่เรื่อง “โรคระบาด” เท่านั้นที่รัฐบาลรักษาการมีอำนาจสั่งการไม่ได้เต็มที่ เพราะดูๆ แล้วหลายเรื่องเหลือเกินที่รัฐบาลรักษาการทำแทบไม่ได้เลย

สำคัญที่สุด คือ เรื่อง “งบประมาณ” ซึ่งถ้าไม่ใช่นายกฯ จริงรัฐบาลจริงแทบจะดำเนินการอะไรมิได้ เพราะงบประมาณใหม่แต่ละปีจะต้องจัดทำโดยรัฐบาลตัวจริงเพื่อเสนอต่อสภาเท่านั้น

ดีแล้วครับที่เราจะจบได้ภายในประมาณ 140 วัน หรือก่อนเดือนตุลาคมอย่างที่แกนนำพรรคเพื่อไทยให้ความหวังไว้

ก็คงต้องขอบคุณ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ละครับ ที่เสนอแนวคิดว่าให้ดูเรื่องสามก๊กเป็นตัวอย่างเราชนะฆ่าแม่ทัพ เขาตายหมดแล้วจะฆ่าขุนพลของเขาด้วยหรือทำไมไม่เอามาใช้งานล่ะ?

แม่ทัพตู่ก็ไม่อยู่แล้ว แม่ทัพป้อมก็มิได้มาด้วย น่าจะใจกว้างรับขุนพลลูกน้องท่านมาใช้งาน ประเทศชาติจะได้เดินต่อไป

คงเป็นเพราะเบลเยียมไม่มี “สามก๊ก” ให้อ่านถึงต้องใช้เวลานานมากแต่ของเรามี “สามก๊ก” ให้อ่านหลายสำนวนเลยเร็วกว่าเบลเยียมหลายเท่าตัวด้วยประการฉะนี้แล.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

ตั้งรัฐบาล “ยาวนาน” “ไทย” VS “เบลเยียม”, การเมือง, เลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, เบลเยี่ยม, สถิติ, งบประมาณ, นายกรัฐมนตรี, ข่าว, ซูมซอกแซก