ให้กำลังใจ “นักเรียนดี” ประเทศนี้ยัง “ต้องการ” หนูๆ

ผมเขียนกราบเรียนท่านผู้อ่านไว้ในฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ในวาระสำคัญที่คนไทยได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานและกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 นั้น… มีกิจกรรมที่จัดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันและสถานที่ก็อยู่ติดๆกันรวม 2 กิจกรรม

ได้แก่งาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP หลอมดวงใจด้วยพระบารมี” จัดโดยกระทรวงมหาดไทยและกรมพัฒนาชุมชน ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 และงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2566” ที่อาคาร 9-11 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

จำได้ว่าเมื่อปีกลาย 2 งานนี้ก็จัดขึ้นในเวลาเดียวกันนี้ ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้และผมกับลูกๆ หลานๆ ต่างก็ไป ณ สถานที่แห่งนี้ด้วยกัน

เพียงแต่ไปแยกกันเดินคือ ผมกับภรรยาแวะเข้างาน “โอทอป” แต่ลูกๆ ผมกับหลานๆ วัย 8 ขวบ รายหนึ่ง 4 ขวบ อีกรายหนึ่งต่างพากันเดินขึ้นสะพานลอยข้ามไปที่ฝั่งงานวิทยาศาสตร์ด้านตรงข้าม

สำหรับปีนี้ครอบครัวของผมก็วางแผนที่จะไป เมืองทองธานี อีกหน แต่ไปเฉพาะลูกๆ กับหลานๆ เท่านั้น เพราะผมติดภารกิจอื่นๆ ไม่สามารถไปด้วยได้

แน่นอนครับ…งานหรือกิจกรรมที่ทำให้หลานของผม 2 คนติดใจมากจนถึงขั้นรบเร้าให้พ่อกับแม่พาไปดูซ้ำอีกปีก็คืองาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2566” นั่นเอง

ผมไม่ทราบว่าทาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โต้โผใหญ่จัดงานเอาไว้อย่างไร? และมีกิจกรรมใดบ้างที่สามารถดึงดูดใจเด็กๆ จนอยากจะไปเที่ยวซ้ำสองได้ แถมแสดงความดีใจอย่างออกหน้าเมื่อทราบว่าปู่กับย่าจะไม่ไปด้วยปีนี้…เพราะเด็กๆ อยากจะอยู่ดูและเล่นในงานนี้จนถึงหัวค่ำปิดงานไปโน่นเลย

ที่ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนถึง แม้จะดูเป็นเรื่องส่วนตัว และเรื่องภายในครอบครัว ก็เพราะเผอิญผมรู้จักท่านรัฐมนตรี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และเคยสัมภาษณ์พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านหลายครั้ง ในยุคที่ท่านยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี

จึงอยากจะหยิบยกเรื่องราวในครอบครัวมาเรียนท่านว่าผลงานการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ของท่าน นอกจากจะมีผู้คนทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ แห่ไปเที่ยวงานอย่างล้นหลามแล้ว

ยังมีเด็กวัย 9 ขวบ กับ 5 ขวบ อีก 2 คนที่เป็นหลานผมติดใจงานของท่านมาก ถึงขนาดรบเร้าขอให้พ่อแม่พาไปดูซ้ำอีกในปีนี้

ผมหวังว่าจะมีเยาวชนคนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็กๆ ของโรงเรียนต่างๆ แวะไปเที่ยวชมงานนี้อย่างหนาแน่นอีกปีหนึ่ง

วิชา วิทยาศาสตร์ กับ ประวัติศาสตร์ เป็นของคู่กัน…สัปดาห์ที่แล้วผมไปร่วมสัมมนากับผู้บริหารโรงเรียน ไทยรัฐวิทยา และสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อหาลู่ทางและวิธีเรียนวิธีสอนให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สนุกน่าเรียนรู้ เพื่อเพาะบ่มเด็กไทยให้รักความเป็นไทยและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยให้ยืนยาวตลอดไป

จากนั้นค่อยเติมความรู้อื่นๆ เพื่อให้เด็กๆ ที่รักชาติ เติบโตเป็นพลเมืองดีของชาติ และมีความรู้ความสามารถในการแบกรับภาระการพัฒนาชาติสืบต่อจากคนรุ่นปู่รุ่นย่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ที่จะต้องวางมือลงไปตามอายุขัย และกฎของความจริงแห่งชีวิต

ประเทศชาติไม่ใช่ต้องการแค่คนดีเท่านั้น แต่ยังต้องการคนดีที่เป็น “คนเก่ง” อีกด้วย โดยเฉพาะความเก่งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชาติที่สำคัญที่สุด

หลายปีนี้ คำว่า “นักเรียนเลว” ที่เยาวชนบางกลุ่มนำมาเรียกตนเอง ขึ้นมาเป็นข่าวพาดหัวสื่อต่างๆ เพราะกระทำในเรื่องที่เด็กๆ ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง…หลายต่อหลายครั้ง

ผมยังเชื่อว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น…ในขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศจะยังคงเป็น “นักเรียนดี” อยู่เหมือนเดิม

นักเรียนที่ตั้งใจเรียน สนใจในวิชาความรู้ เพื่อเป็นอาวุธติดตัวไปสู่การทำงานในอาชีพที่สุจริตและสัมมาอาชีพต่างๆ ในอนาคตข้างหน้า…อันจะเป็นพลังในการพัฒนาประเทศไทยทางอ้อมด้วย

ขอให้กำลังใจแก่น้องๆ “นักเรียนดี” ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง…ประเทศไทยต้องการน้องๆ อย่างมาก…และขอบคุณมากหากจะลองแวะไปเที่ยวงาน “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ที่เมืองทองธานี ซึ่งยังจะมีถึงวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เพื่อซึมซับวิชาวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาชาติบ้านเมือง ในอนาคตที่จะอยู่ในกำมือของน้องๆ หนูๆ ในวันข้างหน้าอย่างแท้จริง.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

ให้กำลังใจ “นักเรียนดี” ประเทศนี้ยัง “ต้องการ” หนูๆ, วิทยาศาสตร์, ประวัติศาสตร์, มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2566, ข่าว, ซูมซอกแซก