117 ปี บ้าน “สุริยานุวัตร” จาก “ตำรา” สู่ “แผนพัฒนา”

หัวหน้าทีมซอกแซกได้รับหนังสือปกแข็งพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดี และเสริมด้วยกระดาษอาร์ตในส่วนที่ใช้จัดพิมพ์รูปภาพอันสำคัญยิ่ง รวมแล้วหนากว่า 240 หน้า จำนวน 3 เล่ม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ได้แก่หนังสือ “ทรัพยศาสตร์ขั้นต้น” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทยเรียบเรียง โดย พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย และเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ต่อมายังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้วก็ยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลที่มี พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายก รัฐมนตรี แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทำหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโสแก่รัฐบาลของท่านอีกด้วย

หลังจากวางมือจากงานราชการทุกอย่างในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ได้ใช้เวลาว่างในการเรียบเรียงตำราที่ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นขึ้นชุด 1 รวม 3 เล่ม ตั้งชื่อว่า “ทรัพยศาสตร์ขั้นต้น” เล่ม 1 เล่ม 2 และ “เศรษฐกิจการเมืองหรือเศรษฐวิทยา” เล่ม 3 นับเป็นตำราเศรษฐศาสตร์ชุดแรกของประเทศไทย

พระยาสุริยานุวัตรเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์ขึ้นเอง ในทำนองเขียนเอง พิมพ์เอง สำหรับการพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2454 หรือ 111 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางเท่าไรนัก

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2475 นาย ทองเปลว ชลภูมิ ได้นำมาจัดพิมพ์อีกครั้ง จากนั้นก็เงียบหายไป จนถึง พ.ศ.2518 สำนักพิมพ์พิฆเนศจึงได้นำมาจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 ได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั้งเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่อย่างมาก จึงได้มีการพิมพ์ครั้งที่ 4 ใน พ.ศ.2547 โดยสำนักพิมพ์โฆษิต

ล่าสุดก็มาถึงฉบับปัจจุบันที่จัดพิมพ์โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ สภาพัฒน์ ดังที่มีการแถลงข่าว โดยท่านเลขาธิการ ดนุชา พิชยนันท์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง

อย่างไรก็ตาม ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ สภาพัฒน์มีความมุ่งหวังที่จะนำเสนอผลงานที่เป็นข้อเขียนของพระยาสุริยานุวัตรอย่างละเอียดครบถ้วนตามต้นฉบับดั้งเดิมทุกประการ จากนั้นก็จะนำเข้าสู่ระบบออนไลน์เป็น E-Book ซึ่งจะเก็บได้อย่างยั่งยืนและสามารถกระจายไปสู่ผู้สนใจที่จะอ่านได้มากกว่าการจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มในแบบปกติธรรมดา

ขณะนี้สำนักงานได้ดำเนินการจัดลงระบบเรียบร้อยแล้ว ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือทั้ง 3 เล่มได้จากคิวอาร์โค้ดที่สำนักงานได้เผยแพร่ออกไปแล้วส่วนหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็เข้าไปที่เว็บไซต์ของสภาพัฒน์ www.nesdc.go.th ก็จะสามารถดาวน์โหลดได้โดยตรง

จุดเด่นที่หัวหน้าทีมซอกแซกชื่นชอบสำหรับการจัดพิมพ์ชุดนี้ก็คือการนำประวัติของพระยาสุริยานุวัตรมาลงไว้อย่างละเอียดทำให้ทราบถึงผลงานอันทรงคุณค่าของท่านในการรับใช้แผ่นดินไทยตลอดชีวิตของท่าน

โดยเฉพาะการป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยและสนิทสนมอย่างยิ่งของรัชกาลที่ 5 ที่พระราชทาน “หีบทอง” ใบหนึ่งแก่ท่าน พร้อมกับมีพระราชหัตถเลขาท่อนหนึ่งว่า

“จึงถือเอาความพอใจส่งมาให้เป็นของส่วนตัวหาใช่เครื่องยศฤาเป็นบำเหน็จบำนาญไม่ขอให้รับไว้อย่างเพื่อนคนหนึ่ง ให้เป็นพยานแห่งความพอใจในความคิดฤาว่าสั้นๆ ว่าถูกคอกันและได้ร่วมทุกข์ยากในราชการด้วยกัน”

นอกจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังพระราชทานที่ดินประมาณ 7 ไร่ครึ่ง ให้ปลูกสร้างบ้านเป็นที่อยู่อาศัย ณ บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมใกล้ๆจะถึงนางเลิ้ง และได้รับพระราชทานทรัพย์ในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2448 และได้ใช้เป็นที่แต่งตำราเศรษฐกิจทั้ง 3 เล่มดังกล่าว

ต่อมาใน พ.ศ.2493 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีดำริให้ก่อตั้ง “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล…ท่าน สุนทร หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการสภาเศรษฐกิจคนแรกได้ตัดสินใจซื้อบ้านของพระยาสุริยานุวัตรเป็นที่ทำการ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเพราะเหตุใดท่านสุนทรจึงมาเลือกซื้ออาคารหลังนี้

ต่อมาใน พ.ศ.2502 หลังปฏิวัติและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมาได้ระยะหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสนอ พ.ร.บ.ยกฐานะ สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้เป็น สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509 ให้แก่ประเทศไทยตามคำแนะนำของธนาคารโลก

เนื่องจากมีจำนวนข้าราชการเพิ่มมากขึ้น สภาพัฒน์ จึงได้จัดสร้างตึกสูง 5 ชั้นขึ้นบริเวณด้านหน้าคฤหาสน์ที่เคยเป็นบ้านของพระยา

สุริยานุวัตร ทำให้ผู้ที่ขับรถผ่านไปมาไม่สามารถมองเห็นตัวอาคารอีกต่อไป เว้นแต่จะเข้าไปติดต่อราชการด้านใน จึงจะยังคงเห็นบ้านของท่านตระหง่านอยู่เช่นเดิม ณ บริเวณเดิม

ทุกวันนี้สภาพัฒน์ได้ดำเนินการปรับปรุง อาคารหลังนี้ เป็น “พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตร เพื่อการพัฒนาประเทศ” เก็บรวบรวมเรื่องราวของการพัฒนาประเทศในระยะต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษาของอนุชนรุ่นหลังสืบไป

คิดอย่างไทยๆ (โบราณหน่อย) ก็คงสรุปได้ว่า บางครั้ง สิ่งมหัศจรรย์ก็มีจริง…จากบ้านของผู้แต่งตำราเศรษฐกิจเล่มแรก แห่งสยาม ได้กลายมาเป็นที่ทำงานของบุคคลระดับมันสมองของชาติที่ร่วมกันวางแผนเศรษฐกิจและสังคมมาแล้วถึง 12 แผน ย่างสู่แผน 13 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศไทยของเราเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ

ทุกวันนี้อาณาจักรของสภาพัฒน์ใหญ่โตมากเป็นอาคารทันสมัย ขยายออกไปรอบๆ ทั้ง 4 ทิศ…แต่ ณ บริเวณใจกลางยังคงเป็นที่ตั้งของตึก “สุริยานุวัตร” อาคารที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาประเทศไทย หากนับจากสร้างบ้านหลังนี้เสร็จ เมื่อ พ.ศ.2448 จนถึงบัดนี้ ก็คือ 117 ปีพอดิบพอดี

ขอขอบคุณที่สภาพัฒน์ยังคงรักษาอาคารประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอันทรงคุณค่าหลังนี้ไว้ และดูแลอย่างดียิ่ง…ขอให้ดูแลสืบต่อไปตราบนานเท่านานนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, สภาพัฒน์, ประวัติศาสตร์, เศรษฐกิจ, พระยาสุริยานุวัตร, เกิด บุนนาค, พิพิธภัณฑ์, สุริยานุวัตร, ซูมซอกแซก