ดราม่า “หน้ากากอนามัย” เชื่อหมอไทยมากกว่าฝรั่ง

เมื่อ 2 วันที่ผ่านมานี้เอง ในท่ามกลางข่าวไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไป 70 ประเทศทั่วโลกแล้วขณะนี้ก็มีบทสัมภาษณ์จากศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาออกมาเรียกเสียงฮือฮากรณีสวมหน้ากากอนามัยสามารถป้องกันไวรัสร้ายตัวนี้ได้หรือไม่?

ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกา ชื่อคุณหมอ อีไล เปเรนเซวิซ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ฟอร์บส์ เอาไว้ว่า

สำหรับคน “สุขภาพดี” ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยแต่อย่างใด แม้จะมีผู้ติดเชื้ออยู่แถวๆ บ้านก็ไม่จำเป็นต้องใส่…ว่างั้น

เชื้อโรคตัวนี้จะระบาดผ่านปากผ่านจมูกผ่านผิวหนังนี่ต่างหาก ไม่ใช่ผ่านทางอากาศ จึงควรระวังด้วยการล้างมือบ่อยๆ และอย่าเอามือใส่ปากใส่จมูกตัวเองบ่อยนักจะดีกว่าการสวมหน้ากากอนามัย

ว่าแล้วคุณหมออีไลก็ฟันธงเปรี้ยงว่า ผู้ที่ สมควรใส่หน้ากากอนามัย คือ “ผู้ป่วย” หรือผู้ติดเชื้อมากกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปกระทบคนอื่นๆ

คนที่บอกเล่าเรื่องทำนองนี้ให้ผมทราบมาก่อนที่จะอ่านบทความการสัมภาษณ์คุณหมออีไลก็คือคุณ ไพโรจน์ ปักษาษิณ ผู้สื่อข่าวพิเศษของไทยรัฐประจำนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา

คุณไพโรจน์มาเยี่ยมบ้านเมื่อเดือนที่แล้ว ช่วงที่ไวรัสตัวนี้ยังไม่มีชื่อเป็นทางการ ยังเรียกกันทั่วๆ ไปว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ด้วยซ้ำ

วันที่ผมชวนคุณไพโรจน์ไปรับประทานอาหารเย็น พูดคุยระลึกความหลังนั่นเอง ก็มีข่าวว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุขเกิดอาการที่สมัยก่อนเรียกว่า “นอตหลุด” พาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

เหตุเพราะ “คุณหมอหนู” หรือท่านรองฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ท่านเอาหน้ากากอนามัยไปแจกที่สถานีรถไฟฟ้า สยาม แล้วมีฝรั่งคนหนึ่งไม่ยอมรับ แถมทำท่าหัวเราะใส่หมอหนูด้วย

หมอหนูจึงกล่าวขับไล่ฝรั่งอย่างรุนแรงถึงขั้น ถ้าไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็ไม่ควรเข้ามาประเทศไทย คิดว่าท่านผู้อ่านคงจำข่าวนี้ได้

คุณ ไพโรจน์ ซึ่งอยู่นิวยอร์กมากว่า 40 ปี บอกผมว่าฝรั่งรายนี้เขาคงคุ้นกับวิถีปฏิบัติที่ว่า จะสวมใส่หน้ากากก็ต่อเมื่อตัวเองเจ็บป่วยเท่านั้น เพื่อไม่ให้ไปติดคนอื่น มิใช่ใส่เพื่อป้องกัน

ที่นิวยอร์กเคยมีไวรัสระบาดเมื่อหลายปีก่อน ไปตามไชน่าทาวน์จะเห็นคนจีน สวมหน้ากากอนามัยเป็นแถวๆ แต่ฝรั่งจะไม่สวมเลย เพราะเขามองว่า คนสวมคือคนที่เป็นไข้แล้วเสียมากกว่า

เพราะฉะนั้น ที่ฝรั่งรายที่ว่าไม่ยอมรับหน้ากากอนามัยจากหมอหนู คงเป็นเพราะเขารู้สึกว่า เขาไม่ได้เป็นอะไรจะรับไปทำไม? และจะต้องสวมใส่ทำไม?…ก็เลยโดนหมอหนูด่าไปฟรีๆ

ผมก็เดาว่า ฝรั่งเขาคงมีงานวิจัย มีงานทดลองเยอะ และการให้สัมภาษณ์ของคุณหมอท่านนี้ ผ่านนิตยสารฟอร์บส์ ซึ่งเป็นนิตยสารการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ และของโลกด้วย คงจะมีการกลั่นกรองกันแล้ว

แต่เผอิญผมคุ้นกับวิถีปฏิบัติแบบไทยๆ ที่แนะนำกันมานานว่า สวมใส่เอาไว้อาจป้องกันเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะเวลาไปตามที่ชุมนุมชนต่างๆ เช่น ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือเวลาไปโรงพยาบาล

เมื่อวันก่อน ศ.นพ. “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” แห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านก็ออกมาโพสต์ว่า เมื่อหมอหรือพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อกัน “ละอองฝอย” จากผู้ป่วยมาเข้าตัวคุณหมอได้ ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในที่สาธารณะ หรือในที่ผู้คนหนาแน่น ซึ่งมีโอกาสจะได้รับ ละอองฝอย จากผู้คนที่อยู่ข้างเคียง ก็สมควรที่จะสวมหน้ากากอนามัยได้เช่นกัน

ก็ต้องขอบคุณคุณหมอ ธีระวัฒน์ ที่ทำให้ผมซึ่งใส่หน้ากากอนามัยขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เจ็บป่วยอะไร มีความรู้สึกที่ดีขึ้นและไม่ได้นึกว่าตัวเองทำอะไรผิดแบบที่หมอฝรั่งเขาให้สัมภาษณ์

ผมขอยืนยันว่า จะใส่หน้ากากอนามัยต่อไปและเชิญชวนให้พี่น้องทั้งหลายสวมใส่ต่อไปเช่นกัน ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก

เพราะฉะนั้น ขอให้รัฐบาลเร่งผลิตหน้ากากอนามัย และนำมาวางจำหน่ายตามร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อในราคามาตรฐานอย่าให้ขาดแคลน จนประชาชนเดือดร้อนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้

เจอ “แฟลชม็อบ” จากนิสิตนักศึกษาก็เหนื่อยอยู่แล้ว ถ้ามาเจอ “แฟลชเม้าท์” คือเสียงบ่นจุ๊บๆ จิ๊บๆ จากประชาชน กรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลนซ้ำเข้าไปด้วยจะเหนื่อยขึ้นอีกหลายสิบเท่านะครับบิ๊กตู่ครับ.

“ซูม”