รีวิว…”Dark Waters” พลิกน้ำเน่าคดีฉาวโลก ตลกร้ายจนขำไม่ออก 8.5/10

ถ้าคุณได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจะเข้าใจได้ทันทีว่า ทำไมประโยคอย่าง  “…การแก้ไขปัญหา PM2.5 ต้องเริ่มที่ตัวเรา…” ถึงถูกต้องเพียงครึ่งเดียว !!!

เพราะทุกคนต่างอยู่อาศัยในโลกเดียวกับ Dark Waters อย่างนมนาน นานพอที่เราจะรู้จัก Erin Brockovich (2000) และ Spotlight (2015) ที่เคยพูดถึง “ความล้มเหลวของระบบ” ที่ควรจะมีเพื่อสนับสนุนสุขภาวะของประชาชน หรือกระทั่งเป็นที่พึ่งทางจิตใจ แต่เปล่าเลย…ระบบเหล่านี้กลับฉ้อฉลและบ่อยทำลายตัวเราเองเสียด้วยซ้ำ

Mark Ruffalo stars as “Robert Bilott” in director Todd Haynes’ DARK WATERS, a Focus Features release. Credit : Mary Cybulski / Focus Features

แล้วเราจะอยู่ด้วยการดูแลตัวเองกันไป แต่ก็ต้องเฉลี่ยกันรับยาพิษ (พิษจริงๆ) ที่ระบบทิ้งไว้ให้ในดิน ในน้ำ ในอากาศ ในทุกเครื่องอุปโภคบริโภค ปัจจัยสี่งั้นหรือ ?

หรือเราจะลุกขึ้นมาแสดงเสียงของเรา หาทางแก้ปัญหา เรียกร้องให้แก้ไข “ระบบ” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ไม่ใช่แค่เพียงของเรา แต่เป็นของคนรุ่นต่อจากเราไปทุกรุ่น

“Dark Waters” เล่าเรื่องราวการต่อสู้อันยาวนานถึง 13 ปี ของ “โรเบิร์ต บิลอตต์” (Robert Bilott) ผู้รับบทโดย มาร์ก รัฟฟาโล (Mark Ruffalo) ทนายความอนาคตไกลผู้เพิ่งจะได้เป็นหุ้นส่วนบริษัทกฎหมาย Taft Stettinius & Hollister LLP สำนักงานกฏหมายที่ว่าความให้บริษัทเคมีภัณฑ์มากมาย และมีแนวโน้มว่าจะได้บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ อย่าง “ดูปองท์” (DuPont) มาเป็นพันธมิตรและลูกค้าในไม่ช้า

แต่เขาก็เอาทั้งการงานและครอบครัวที่เพิ่งจะมีสร้อยทองคล้องใจ ไปแขวนอยู่บนเส้นด้ายด้วยการเดินหน้าฟ้องดูปองท์เอง หลังจากเกษตรกรคนหนึ่งนาม วิลเบอร์ เทนแนนต์ (Wilbur Tennant) ในเมืองปาร์กเกอร์สเบิร์ก รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ทำเทปที่เขาถ่ายทำความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการดื่มน้ำในลำธารข้างที่ดินของเขา ซึ่งอยู่ติดกับกลุมกลบฝังขยะ Dry Run ของโรงงานวอชิงตันเวิร์กส (Washington Works) ในสังกัดดูปองท์บนเนินเขา ที่เคยเป็นที่ดินของพี่ชาย อดีตพนักงานขุดหลุมกลบฝังขยะของดูปองท์เองนั่นแหละ ตลกร้ายของระบบทุนนิยม (และอาจจะเป็นระบบโลกเราเสียด้วยซ้ำ) นานาประการจึงได้เผยออกมา

ตลกร้ายประการแรก : อำนาจ(ใน)รัฐ

เมื่อเขาไปเยี่ยมที่ดินของครอบครัวเทนแนนต์ ก็ได้ทราบว่า มีการประเมินพื้นที่กรมควบคุมสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ไปแล้ว แต่ผลออกมาน่าหดหู่และค้านสายตาเป็นที่สุด (เป็นอะไรและเจ็บแสบแค่ไหนต้องไปดูเอง) นี่หมายความว่า เงินซื้อได้ทุกอย่างสินะ ?

ตลกร้ายประการที่สอง : ความฉ้อฉล(ด้วย)กลใน

เมื่อเขาจี้ถามดูปองท์เองถึงความไม่เข้าใจในสารบางประการ ที่ถูกนำไปทิ้งในบ่อกลบฝังขยะอันมีชื่อว่า “PFOA”

กรดเปอร์ฟลูโอโรออคตาโนอิก ซึ่งดูปองท์ตั้งชื่อใหม่ ว่า C8 อันแสดงพันธะเคมีของคาร์บอนที่เทปจะย่อยสลายไม่ได้เลย แถมเมื่อเข้าสู่ร่างกายก็ขับออกไม่ได้ และเป็นเหตุแห่งโรคภัยต่างๆ กว่า 6 กลุ่ม โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์อีกด้วย (ซึ่งประเด็นนี้ ในหนังก็ทำให้เราอึ้งไปเลยเช่นกัน แต่จะเป็นเพราะอะไร คำเฉลยอยู่ท้ายเรื่องก่อนถึงรายชื่อนักแสดง)

ซึ่งสารที่มาความทนทายาดนี้ เริ่มแรกนำไปใช้เคลือบรถถัง อุปกรณ์ทางการทหารเพื่อไม่ให้พังง่ายและซื้อกันบ่อยๆ (เอ๊ะ !)  แต่ดูปองท์ดันนำไปใช้เคลือบกระทะกันอาหารติด… ใช่แล้ว กระทะเทฟลอนที่เรารู้จักกันดีนั่นแหละ ! ว่าอาจจะส่งผลต่อสุขภาวะของพนักงานหรือไม่ มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับสารนี้บ้าง ดูปองท์ก็กลายเป็นศัตรูของเขาทันที และพยายามทำให้คดีนี้จบด้วยความรวดเร็ว ด้วยการให้ความร่วมมือตามที่ศาลสั่ง และเอกสารขององค์กรทั้งหมดมาให้บิลอตต์ ซึ่งมีตั้งแต่การ์ดคริสต์มาส ช่วงปี 50 ไปจนถึงเอกสารวิทยาศาสตร์ทุกอย่าง มากมายจนเป็นเราคงถอดใจที่จะจัดการเอกสารพวกนี้ โดยที่ทุกคนรอบตัวบอกในทิศทางเดียวกันให้พอเถอะโรเบิร์ต (ภรรยายังคิดว่าเขาเป็นบ้า)

ถึงมากมาย แต่มันไม่ได้มากพอที่ทำให้ทนายดีเดือดอย่างเขายอมถอย และตรงกันข้ามเอกสารเหล่านั้นที่บิลอตต์จัดการมันจนสำเร็จได้สำแดงความฉ้อฉลจนชั่วร้าย และกลายเป็นหลักฐานที่ดูปองท์ปฏิเสธไม่ได้เอง

ฉากที่เขาอธิบายให้ภรรยาซึ่งกำลังตั้งท้องลูกอีกคนฟังว่า เขา เธอ และลูก ได้ถูกวางยาทางอ้อมด้วยพิษจากผลิตภัณฑ์ของดูปองท์นั้นถึงกับทำให้เราอึ้งไปครู่หนึ่งได้เลย

ตลกร้ายประการที่สาม : สาร(พิษ)ที่รัฐไม่ได้ระบุว่าเป็นพิษ

สิ่งที่เลวร้ายคือทำไมดูปองท์ถึงทิ้งสารอันตรายเจือปนในแหล่งน้ำมา ตั้งแต่ปี 1951 รวมแล้วมากกว่า 7,100 ตัน มาได้นานกว่า 40 ปี และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในปาร์กเกอร์สเบิร์กกว่า 70,000 คน โดยที่ไม่มีใครสักคนจะเฉลียวใจตรวจสอบจนถึงวันที่สายและกลายเป็นสมาชิกถาวรของผู้ป่วยโรคมะเร็ง และความผิดปกติของร่างกายแต่กำเนิด ก็เพราะเวลาที่ดูปองท์เริ่มต้นทิ้งสารพิษเหล่านี้ เป็นเวลาก่อนหน้ากว่า 20 ปี ที่จะมีการก่อตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ในปี 1970) นั่นทำให้องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมไปมุ่งเน้นตรวจสอบสารพิษใหม่ๆ ที่มีการสังเคราะห์ขึ้นหลังปี 1970 โดยไม่ได้ตรวจสอบย้อนหลังถึงผลกระทบของสารที่เกิดขึ้นมาแล้ว ซ้ำร้าย การประกาศให้สารใดเป็นพิษนั้น เกิดขึ้นได้เพราะมีการร้องเรียน หรือการแจ้งจากผู้ผลิตเองว่าสารนั้นเป็นสารอันตราย รู้แล้วถึงกับร้อง WTF ?!?! เลยไหมล่ะ

ตลกร้ายประการที่สี่ : (ยิ่ง)ใหญ่ด้วยการประชาสัมพันธ์

ในวงการประชาสัมพันธ์นั้น รู้กันดีว่าภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่สร้างได้ และถ้าเราสร้างมาต่อเนื่องยาวนานยาวนานเพียงพอมันจะกลายเป็นความจริงเข้าสักวันและดูปองท์ก็รู้ดี และเจียดกำไรหลายล้านจากหลายพันล้านไปพัฒนาเมืองปาร์กเกอร์สเบิร์กบ่อขยะ จนแม้สุดท้ายจะมีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบฟ้องร้องกลุ่ม และมีการตรวจเลือดเพื่อหาสาร C8 ยังมีคนในชุมชนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีอาการใดๆ มาให้ตัวอย่างเลือดแล้วพูดทำนองว่า ดูปองท์เป็นคนดี พวกคุณที่คิดจะฟ้องดูปองท์มันขี้โวยวายน่ารำคาญ ตรวจยังไงก็ไม่เจอพิษหรอก ! (แต่มาให้เลือกนะจ๊ะ เพราะได้คนละ 400 ดอลลาร์)

แต่สุดท้ายสิ่งที่เลยขอบเขตของความตลกร้ายจนกลายเป็นไม่ตลก คือดูปองท์เลือกที่จะทำหนังสือแจ้งผู้คนในชุมชนหลังจากมีคดีของเทนแนนต์ว่า น้ำประปาในชุมชนนั้นมีการปนเปื้อน แต่เป็นในระดับที่ไม่เป็นอันตราย แล้วก็ใช้ระดับภาษาหรือคำอธิบายใดๆ ที่เรียกง่ายๆ ว่า ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องหรอก เพื่อฆ่าเวลาให้สิ้นสิทธิ์ในการฟ้องร้องของประชาชน ที่จะทำได้ต่อเมื่อรู้ว่าตัวเองได้รับสารพิษภายในหนึ่งปี นั่นหมายความว่า ดูปองท์ลักไก่ด้วยการแจ้งประชาชนให้รู้ แต่ประชาชนจะสิ้นสิทธิ์ในการฟ้องร้องเพียงเพราะเชื่อว่าตัวเองปลอดภัย ทั้งๆ ที่ดูปองท์เองรู้ก่อนใครในโลกหล้าว่าสารนี้เป็นพิษขนาดไหน ด้วยการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ภายในองค์กรตั้งแต่เริ่มแรกใช้สารนี้ แต่แล้วไง ก็ผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนนี่มันทำกำไรให้กว่าพันล้านเหรียญนี่นะ

อนิจจา เรื่องดันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะคดีนี้อยู่ในความดูแลของคนบ้าอย่างบิลอตต์ ที่ถึงแม้ดูปองท์จะฉีกสัญญาและเดินหน้าสู้คดีแบบโนสนโนแคร์ แม้ผลการพิสูจน์สารพิษจากประชากรในเมืองปาร์กเกอร์สเบิร์ก (ที่แจก 400 ดอลลาร์แล้วยอมมานั่นแหละ) อันเป็นเงื่อนไขต่อเนื่องจากคดีของครอบครัวเทนแนนต์จะยืนยันขนาดไหน ดูปองท์ก็ยัง “เท” สิ่งที่ตัวเองต้องรับผิดชอบทิ้งอยู่ดี เพราะพวกเขาก็ยังจะกล้าคิดว่าคนอย่างบิลอตต์ ไม่บ้าพอที่จะเดินหน้าคดีความฟ้องร้องกว่า 3,500 คดีในกรณีนี้ และ…นั่นแหละ ดูปองท์คิดผิดอีกครั้ง เมื่อบิลอตต์ไปยืนสู้คดีเองทุกคดี และมูลค่าคามเสียหายในแต่ละคดีที่ดูปองท์ต้องรับผิดชอบก็พุ่งขึ้นสูง จนสุดท้ายคดีฟ้องร้องมีมูลค่าสูงถึง 671 ล้านเหรียญ เทียบเป็นเงินกว่าสองพันล้านบาทจนเป็นที่มาของบทความ “The Lawyer Who Became DuPont’s Worst Nightmare” ตีพิมพ์ในนิตยสารนิวยอร์ก ไทม์ เมื่อปี 2016 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้…

ภาพยนตร์ที่ทำให้เราเห็นตัวเราเองในบิลอตต์และประชากรชาวเมืองปาร์กเกอร์สเบิร์ก

เห็นเหตุอันเกิดจากระบบง่อยเปลี้ยและกลุ่มทุนนิยมสามานย์ กระทำย่ำยีต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดีของเรา

เห็นผลว่าความสำเร็จจากการแก้ปัญหานี้ มันเกิดขึ้นไม่ได้จากการแก้ไขที่ตัวเราเองเพียงอย่างเดียวได้อย่างไร

เห็นความโกรธแค้นที่เราสมควรอย่างยิ่งแล้วจะโกรธและคั่งแค้นต่อระบบที่ควรจะคุ้มครองเรา
โกรธและอาละวาดเหมือนบทสนทนาของบิลอตต์และภรรยาหน้าร้านอาหาร ที่พวกเขาทั้งครอบครัวควรจะได้ฉลองหลังการสู้รบยาวนานกับดูปองท์จบลงด้วยข้อยืนยันว่าสาร PFOA หรือ C8 ของดูปองท์นั้นเป็นพิษ และดูปองท์จะต้องชดใช้

….แต่ดูปองท์กลับกลืนน้ำลายตัวเองและเอาอำนาจเงินเข้ายื้อให้เกิดสนามรบใหม่ที่พวกเขาต้องสู้อย่างต่อเนื่องและยาวนานยิ่งขึ้นไปอีก….เพราะดูปองท์มีอำนาจและเงินที่จะยื้อไปได้ในระบบนี้ ในขณะที่ประชาชนต้องแลกด้วยเงินทองที่ร่อยหรอไปทุกวันสวนทางกบความเครียดคั่งแค้นที่มีขึ้นทุกวัน และจบลงที่เรา “แห้งตายไปเอง” ไม่ว่าทั้งร่างกายหรือจิตใจก็ตาม

ลืมตาขึ้นมาเช้านี้…นึกถึงหนังที่ไปดูมาแล้วมองออกไปรอบตัวโดยไม่เห็นตึกเดิมในระยะที่เราเคยเห็น เฝ้ามองฝุ่นควันอันเกิดจากการเผาทำลายซากอ้อยของเกษตรกรเพื่อเร่งผลิตอ้อยใหม่ส่งนายทุน ผสมเจือกับฝุ่นควันท่อไอเสียดำทะมึนจากขนส่งมวลชนที่ไม่ได้รับการพัฒนาเป็นสิบๆ ปี ในระบบที่เรายังเสียภาษี เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ แสดงความรับผิดชอบด้วยการแค่บอกว่าให้เราดูแลตัวเอง

สูดลมหายใจที่ไม่มีทางจะบริสุทธิ์ได้โดยไม่ผ่านหน้ากากอนามัย ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะซื้อหากันได้ มีซีวิตที่แค่อยากตายก็ทำได้ง่ายๆ แค่หายใจ

หรือเราจะอยู่กันไปแบบนี้ ? จนเกิดสิ่งที่น่าสะพรึงที่สุดกับตัวเรา (ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้รู้ตัวเลย) มากขึ้นไปอีก

ดังเช่นในข้อความสุดท้ายที่หนังทิ้งไว้ว่า

แม้ปัจจุบัน เจ้าสาร C8 นี้ ได้ (กล่าวกันว่า) เลิกใช้เคลือบกระทะเทฟลอนไปแล้ว แต่ C8 ได้ตกค้างอยู่สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดเป็นที่เรียบร้อยไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และกว่า 99% ของประชากรมนุษย์มีสารชนิดนี้สะสมเป็นระเบิดเวลามะเร็งเป็นที่เรียบร้อย…

คะแนน 8.5 / 10

Pitirach Joochoy