สงครามสู้ “ความหวาน” ถึงเวลาขึ้นภาษีเครื่องดื่ม

เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น ก่อนที่ผมจะเดินทางไปเที่ยวจังหวัดเชียงราย มีข่าวที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กนัก แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผมอ่านเจอแล้วก็ตั้งใจว่าจะหยิบมาเขียนแสดงความเห็นด้วยและชื่นชมการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

แต่พอไปเที่ยวแล้วมีความสุข มีความสนุก ก็ลืมเสียสนิทไม่ได้ เขียนถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น

จนกระทั่งเมื่อวานนี้ ได้อ่านบทความพิเศษของหน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ เรื่อง “ปรับพฤติกรรมคนไทยสายหวาน…เช็กกลยุทธ์เอกชนรับมือขึ้นภาษีสรรพสามิต” จึงนึกขึ้นมาได้ว่าเรื่องนี้ไงที่ตั้งใจว่าจะเขียนถึงเมื่อวันก่อน

ขออนุญาตหยิบมาเขียนถึงในวันนี้ คงจะไม่ช้าจนเกินไปนัก

นั่นก็คือข่าวคราวที่ว่าในเดือนตุลาคมปี 2562 หรือประมาณ 7-8 เดือนจากนี้ไป กรมสรรพสามิตจะเริ่มบังคับใช้ภาษีสรรพสามิตกับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงเกินกว่าความต้องการของร่างกายเสียที

หลังจากที่ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่ได้เลื่อนเวลาใช้บังคับออกไป 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว

แปลความตามเนื้อข่าวได้ว่า ต่อไปนี้เครื่องดื่มประเภทที่มีความหวานหรือมีน้ำตาลต่างๆ ผสมอยู่จะต้องเสียภาษีมากขึ้นตามปริมาณความสูงของน้ำตาลในเครื่องดื่มนั้นๆ

เมื่อต้องเสียภาษีมากขึ้นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มก็คงต้องขึ้นราคาสูงขึ้น อันจะเป็นผลให้ผู้ที่จะดื่มเครื่องดื่มนั้นๆ ลดปริมาณการดื่มลง

หรือไม่ก็จะเกิดความระมัดระวังและคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น

รัฐบาลโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังมิได้มีเจตนาที่จะหารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นจากกรณีนี้ แต่มีเจตนาที่จะใช้ “ราคา” เป็นเครื่องมือในการลดการบริโภคน้ำหวานต่างๆ เพื่อสุขภาพของประชาชน

เพราะมีการศึกษาที่ชัดเจนมาแล้วว่า การขึ้นราคาเครื่องดื่มผสมน้ำตาลจะมีผลทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็ก ลดปริมาณการบริโภคลง และจะหันไปบริโภคเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทน

ผมเห็นด้วยครับและจริงๆแล้วก็เคยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคของหวานสารพัดสารพันมาตั้งแต่ต้น

เขียนรณรงค์คู่กับการลดการดื่มสุรามาแต่ไหนแต่ไร ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควรคงจะพอจำได้

ยังนึกน้อยใจที่ สสส. ซึ่งรณรงค์หนักมากในเรื่องสุรา ถึงขนาดมีคำขวัญว่า “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ในเทศกาลปีใหม่ซึ่งมีการส่งของขวัญให้แก่กันและกันอย่างแพร่หลาย

แต่กลับไม่รณรงค์เรื่องการให้ของหวานควบคู่ไปด้วย เพราะก็เท่ากับแช่งเช่นกัน เมื่อผู้คนส่งโรคเบาหวาน จากของหวานต่างๆไปแทนเหล้าอย่างมากมายในระยะหลังๆ

ผมไปเดินตรวจตลาดของขวัญเมื่อปีใหม่ที่แล้วพบว่า กระเช้าของขวัญถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นกระเช้าของหวาน โดยเฉพาะของหวานฝรั่ง เช่น ช็อกโกแลต เค้ก คุกกี้ ฯลฯ เป็นต้น

ถือเป็นการ “แช่ง” ผู้รับของขวัญ น้องๆ ส่งเหล้า หรือส่งสุราไปเป็นของขวัญเหมือนกันนะครับ

การเตรียมตัวขึ้นภาษีเครื่องดื่มสายหวาน ของกรมสรรพสามิตครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นของการทำสงครามกับความหวานเพื่อสุขภาพของคนไทยอย่างเป็นทางการ

ผมขอแสดงความชื่นชมและขอให้กำลังใจ แม้ว่าในใจของผมจะรู้สึกปวดร้าวอยู่มากก็ตาม เพราะถ้าจะว่าไปผมก็เป็นมนุษย์ “สายหวาน” หรือ “พันธุ์หวาน” คนหนึ่งชอบของหวานเป็นชีวิตจิตใจ

ทุกวันนี้น้ำตาลก็ปริ่มใกล้เต็มเกจ์ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้

ที่ต้องตัดใจเขียนต่อต้านของชอบของตัวเองก็เพราะเห็นต่อหน้าต่อตา จากการสูญเสียญาติสูญเสียเพื่อนมาหลายคนแล้ว เพราะความหวานเป็นเหตุ

นึกๆแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นกรรมเวรมาแต่หนไหน ที่ทำให้ผมต้องมา เขียนต่อต้านสิ่งที่ผมรักถึง 3 อย่างด้วยกัน

ต่อต้านสุราที่ผมเคยดื่มและชอบเป็นชีวิตจิตใจ ต่อต้านบุหรี่ ที่ผมเคยสูบและสูบจัดมากก่อนจะเลิกได้มาร่วมๆ 30 ปีแล้ว

และนี่ก็ต้องมาต่อต้านของหวานสุดที่รักเข้าให้อีก…เฮ้อ!

เอาน่า ถือเสียว่าผมกำลังพยายามทำกรรมดี เพื่อลบล้างกรรมเก่าก็แล้วกัน…เผื่อว่าตายแล้วจะได้ไปเกิดบนสวรรค์กับเขาบ้าง

จะได้ทั้งดื่มสุราดื่มน้ำหวาน และสูบบุหรี่อย่างมีความสุข เพราะชีวิตบนสวรรค์เขาว่าเป็นอมตะจะไม่ตายเพราะโรคใดๆอีกแล้ว.

“ซูม”