เหตุที่งบประมาณกองทัพ เป็นประเด็น “ถกเถียง” ทั่วโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องฮอตๆ อยู่เรื่องหนึ่ง หลังจากที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดต นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ออกมาเสนอนโยบายให้ตัดงบประมาณกองทัพลงไป 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจะนำไปใช้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่เรียกกันว่า SMES

ทำให้มีการตอบโต้จากท่าน ผบ.ทบ. จนถึงขั้นมีการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” กันอยู่หลายวัน

ถ้าจะว่าไปแล้วการเสนอให้ตัดงบประมาณกองทัพ หรือการจำกัด งบประมาณด้านกลาโหมมิใช่เรื่องแปลกใหม่แต่ประการใด

แม้แต่ตัวผมเองก็มีส่วนในการเรียนรู้ หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 59 ปี ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2503 ด้วยซ้ำ

จำได้เป็นอย่างดีว่าท่านอาจารย์ผู้สอนวิชา “เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น” ของพวกเราคือ ท่านศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค ท่านกรุณาแปลตำราของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน Paul A. Samuelson ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลไพร์ส มาเป็นตำราสำหรับเรียนปีที่ 1

ท่านอาจารย์ ดร.เดือน ที่เราแอบเรียกว่า “แซมวลเดือน” ท่านแปลแบบ “เล่าความ” คืออ่านแล้วจับใจความมาอธิบาย มิใช่แปลตรงๆ แบบประโยคต่อประโยค ซึ่งความจริงควรจะง่ายต่อการเข้าใจ แต่เนื่องจากภาษาไทยของอาจารย์ค่อนข้างลึกซึ้ง ทำให้พวกเราต้องมาแปลไทยเป็นไทยอีกทอดหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยากขึ้นไปอีก

แต่เราก็สอบผ่านกันมาได้ เพราะอาจารย์เดือนท่านใจดีจะ “ใบ้หวย” ล่วงหน้าเสมอๆ ว่า ท่านจะออกข้อสอบเรื่องใดบ้าง

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ท่านย้ำแล้วย้ำอีกว่า ท่านจะออกข้อสอบแน่ๆ คือ ทฤษฎีว่าด้วย “การใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม”

อันเป็นทฤษฎีหรือแนวคิดที่ท่านแซมวลสันอธิบายว่า รัฐบาลที่ดีจะต้องรู้จักการใช้ทรัพยากรอันมีจำกัด เพื่อประเทศชาติอย่างลงตัว

ท่านแซมวลสันแบ่งผลผลิตที่รัฐบาลพึงผลิตให้เข้าใจง่ายๆ ว่า มี 2 อย่างคือ “ปืน” กับ “เนย”…โดยเนยนั้นก็เปรียบเสมือนตัวแทนของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ประชาชนพึงได้รับ

ในขณะที่ “ปืน” ก็คืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในการป้องกันประเทศ

ตำราของท่านแซมวลสัน แปลโดยท่านแซมวลเดือนเมื่อ 59 ปีที่แล้ว สอนว่า รัฐบาลจะต้องเลือกความพอดีในการผลิตสินค้าทั้ง 2 ประเภทนี้

เพราะถ้าผลิต เนย มากไป ประเทศชาติก็จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ น้อยลง อาจไม่เพียงพอที่จะใช้ป้องกันประเทศและจะโดนศัตรูรุกรานได้ง่าย

แต่ถ้าผลิต ปืน มากไป เอกราชของชาติแข็งโป๊กไม่มีใครกล้าย่ำยี่ก็จริง …ทว่าจะไม่มีทรัพยากรเหลือไปผลิต เนย ให้ประชาชนบริโภค อย่างพอเพียง ผู้คนก็จะอดอยากปากแห้ง

พออาจารย์ ดร.เดือน เก็งว่าจะเป็นข้อสอบผมก็ท่องจำเอาไว้เลย ทำให้ผมเขียนตอบได้อย่างละเอียดลออมากกว่าข้ออื่นๆ

ต่อมาเมื่อผมเรียนจบออกมาแล้วมีโอกาสติดตามอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ก็พบว่าเรื่อง “ปืน” กับ “เนย” ยังคงเป็นปัญหาตลอดมา ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

ที่สหรัฐอเมริกาก็ถกเถียงกันอยู่เสมอ รัฐบาลไหนใช้เงินผลิตปืนมากกว่าผลิตเนยมักจะถูกกล่าวหาว่าค้าสงคราม จึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่

เท่าที่ติดตามข่าวทุกๆ ประเทศก็มักจะอยากให้ผลิตเนยมากกว่าผลิตปืน ทำให้ฝ่ายผลิตปืนดูจะตกเป็น “ผู้ร้าย” ของสังคมอยู่ตลอด

ผมก็เพียงแต่หยิบทฤษฎีเก่าที่ยังไม่ตายมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น และถ้าหากจะมีคนเข้าข้างคุณหญิงสุดารัตน์พอสมควร ในกรณีนี้ก็โปรดอย่าเป็นเดือดเป็นแค้นไปเลย

เพราะจำนวนประชาชนที่เป็นฝ่ายพลเรือน จะมีมากกว่าฝ่ายทหารอยู่แล้ว เสียงเรียกร้องอยากได้ “เนย” จึงมากกว่า “ปืน” เป็นของธรรมดา

ใครมาเสนอให้ลดเงินซื้อปืนลงบ้าง เอามาผลิตเนย หรือซื้อเนยเถอะ (กรณีคุณหญิงสุดารัตน์ คือเอาไปผลิตคนหนุ่มรุ่นใหม่ เพื่อ SMES เถอะ) จึงจะได้รับเสียงเฮต้อนรับ

นอกจากคุณหญิงสุดารัตน์แล้ว ก็ยังมีอีก 2-3 พรรคออกมาเสนอนโยบายลดการซื้อปืนหันมาผลิตเนยมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ กันไป

ไม่แน่นา…เรื่อง “ปืน” เรื่อง “เนย” อะไรเนี่ยอาจจะเป็นประเด็นชี้ขาดทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกไปพลิกมาก็เป็นได้…โปรดติดตามอย่ากะพริบตาก็แล้วกันครับ!

“ซูม”