“2 นครา” เริ่มเปลี่ยน ยกเว้นรสนิยมการเมือง

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึง “น้าดิน” ดอกดิน กัญญามาลย์ พร้อมกับบทสรุปที่ว่า น้าท่านรู้จักนิยามของคำว่า “2 นครา” มาก่อนนักวิเคราะห์การเมืองของประเทศไทยเราเสียอีก

น้าดินและคนในวงการบันเทิงทราบดีว่ารสนิยมในการเสพความบันเทิงของคนไทยมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งบางครั้งก็จะเรียกกันว่า “ตลาดล่าง” กับ “ตลาดบน” มานานมาก

โดยน้าดินกับกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในยุคของท่านต่างเลือกหนทางในการตอบสนองความต้องการของตลาดล่าง หรือนคราล่าง ที่ส่วนใหญ่จะเป็นประชากรชนบท หรืออพยพจากชนบทมาอยู่ในเมือง

ต่อมาเมื่ออาจารย์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ท่านเขียนหนังสือเรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย” ขึ้น และชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประชากรของทั้ง 2 นคราที่ซ้อนกันอยู่นี้มีรสนิยมทางการเมือง และวิถีในการเลือกนักการเมืองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

เพราะประชากรในนคราที่เคยเรียกว่า ตลาดล่าง ส่วนใหญ่เป็นคนจน รายได้น้อย การศึกษาน้อย จบ ป.4 ป.6 เป็นส่วนใหญ่

รสนิยมทางการเมืองของประชากรในนครานี้จึงเป็นไปในทางที่จะชอบนักการเมืองที่ให้สัญญิงสัญญาว่าจะทำให้เขารวยขึ้นได้ หายจากความยากจนได้ ฉันได้รับเลือกแล้ว ฉันจะเอาโครงการมาให้ แต่ก่อนเลือกพี่น้องเอาเงินไปใช้นิดๆหน่อยๆก่อนพอเป็นตัวอย่าง

รอให้พวกเราไปเป็นรัฐบาลเมื่อไร พี่น้องจะได้มากกว่านี้แน่นอน แล้วประชาชนก็เลือกนักการเมืองประเภทนี้เข้ามาและเข้ามาแล้วจะหาเงินไปแจกใหม่ได้ก็ต้องโกงต้องกิน ครั้นเมื่อเอาโครงการไปลงในท้องที่ ก็จะกินหัวคิวไปเสียอีกก้อนใหญ่กลายเป็นสาเหตุให้ถูกขับไล่ ทะเลาะเบาะแว้ง และเกิดความขัดแย้งมาโดยตลอด

รวมทั้งความขัดแย้งที่ทำให้เกิด คสช. และประชาธิปไตยหยุดไป 4 ปีเต็ม ก็มาจากความขัดแย้งของนักการเมืองจาก 2 นครา

ล่าสุด จากการติดตามความเคลื่อนไหวของสังคมไทยเราจากสื่อที่มีอยู่ทุกประเภท ผมพบว่าความแตกต่างในรสนิยมของ 2 นคราด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านความบันเทิงได้อ่อนตัวลงไปมาก และเกิดความประนีประนอมในความบันเทิงอย่างเห็นได้ชัด

นักเพลงลูกกรุง นักเพลงลูกทุ่งต่างยอมรับซึ่งกันและกัน รวมทั้งร้องเพลงข้ามสายกันไปมา

ลูกกรุงแบบเก่าค่อยๆหายไป กลายเป็นวงทันสมัยแบบร็อกแบบป๊อปมากขึ้น แต่เราก็จะเห็นบ่อยครั้งว่าเด็กหนุ่มเด็กสาวนักเพลงรุ่นใหม่สามารถจะร้องเพลงลูกทุ่งได้อย่างไพเราะ และไม่มีอาการรังเกียจเดียดฉันท์เลย

ภาพยนตร์ไทยในลักษณะที่จะเอาใจตลาดล่างค่อยๆหายไป เหลือแต่ภาพยนตร์ไทยของคนรุ่นใหม่เสิร์ฟตลาดบน หรือนคราบนแข่งกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่ยังมีอิทธิพลอยู่

แต่คนในนคราล่างก็หันไปมีความสุขกับละครโทรทัศน์แทนภาพยนตร์ไทยสไตล์เก่า โดยเฉพาะของช่อง 7 ที่ยังได้ใจคนในนคราล่างมากกว่า

คนนคราบนส่วนใหญ่จะดูละครช่อง 3 ซึ่งก็จะเห็นว่าแม้จะยังมีอะไรที่แตกต่างกันอยู่บ้างกับช่อง 7 แต่จะไม่ชัดเจน เหมือนยุคหนังดอกดิน กับหนังฝรั่ง ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้เลย

ดูแล้วรสนิยมบันเทิงของทั้ง 2 นคราจะค่อยๆเดินมาหากัน แม้จะมีเส้นแบ่งอยู่บ้าง แต่ก็เบาบางมากเมื่อเทียบกับในอดีต

แต่ที่ยังเป็น “2 นครา” อย่างแน่นปึ้กและไม่มีทีท่าจะโน้มเข้าหากันได้เลยก็เห็นจะเป็น “2 นคราทางการเมือง” นั่นแหละครับ

ผมนั่งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ช่วงนี้ทีไร ก็รู้สึกร้อนๆหนาวๆว่า อุตส่าห์หยุดพักไป 4 ปีเต็มๆ นึกว่าจะดีขึ้น พอเห็นผู้ที่ออกมาประกาศตัวทางการเมืองเพื่อจะให้พี่น้องใน 2 นคราเลือกหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แล้วก็รู้สึกท้อใจ เพราะส่วนใหญ่ก็คือคนหน้าเดิม มีคุณลักษณะเดิมๆ

อย่างวงการบันเทิงเขายังเปลี่ยนมีโปรดิวเซอร์ มีผู้สร้างสรรค์รุ่นใหม่เข้ามา ทำให้ผลผลิตด้านบันเทิงเปลี่ยนไปจนสามารถดึงรสนิยมและความพึงใจของประชากรใน 2 นคราให้หันเข้าหากันได้

แต่ฝ่ายผลิตหรือโปรดิวเซอร์ทางการเมืองไม่ได้มีผลผลิตใหม่ๆออกมาเลย ล้วนนักการเมืองหน้าเดิมที่เคยทะเลาะกันมาแล้วทั้งสิ้น

แล้วเราจะหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน 2 นคราประชาธิปไตยได้อย่างไรล่ะครับเนี่ย?

“ซูม”