เรียนรู้จาก “ดอกดิน” “2 นครา” มีมานานแล้ว

นักวิเคราะห์ทางการเมืองเริ่มจะมองว่าประเทศไทยเราเหมือนมีนคร 2 นครซ้อนกันอยู่ เมื่อประมาณปี 2530 เศษๆ…ถ้าผมจำไม่ผิด นักวิชาการท่านแรกที่เสนอแนวคิดเรื่องนี้ขึ้นก็คือ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตนักการเมืองชื่อดังนั่นเอง

ท่านอาจารย์นำเสนอ “ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย” และพิมพ์หนังสือพ็อกเกตบุ๊กเล่มหนึ่ง เมื่อปี 2538 อธิบายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2533-2536 และวิเคราะห์ย้อนหลังไปถึงปี 2520 เศษๆ อันเป็นช่วงของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในประเทศไทย

สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า ประเทศไทยมี “สองนครา” ใหญ่ซ้อนกันอยู่ ระหว่างชนบทกับเมือง โดยคนชนบทกับคนในเมืองจะมีความคิดในทางการเมืองต่างกันอย่างชนิดไปกันคนละขั้วเลยทีเดียว

คนชนบทจะเลือกนักการเมืองแบบหนึ่ง ในขณะที่คนกรุง หรือคนเมืองจะเลือกนักการเมืองอีกแบบหนึ่ง ว่าอย่างนั้นเถอะ

สำหรับ “น้าดิน” หรือ ดอกดิน กัญญามาลย์ ศิลปินแห่งชาติ วัย 93 ปี ผู้ล่วงลับ แม้จะไม่ได้เขียนหนังสือ หรือเสนอทฤษฎีอะไรไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ แต่จากภาพยนตร์ทุกเรื่องที่น้าดินสร้างไว้ แสดงให้เห็นว่า ท่านรู้และคุ้นเคยกับทฤษฎี “สองนครา” มาแต่ไหนแต่ไร

นอกจากดอกดินแล้ว คนในแวดวงบันเทิงส่วนใหญ่จะรู้จักทฤษฎีนี้มาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กนุ่งกางเกงขาสั้นด้วยซ้ำ และได้แบ่งรสนิยมของคนไทยออกเป็น 2 รสนิยมมาโดยตลอด

หนังไทยหรือภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในอดีตจะสร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจคนชนบท หรือต่างจังหวัด คือออกมาในแนวสนุกสนานเฮฮาระคนโศกเศร้าเคล้าน้ำตา และบู๊ล้างผลาญยิงกันทะลุจอ มีครบทุกรส

คนกรุงหรือคนเมืองที่มีระดับจะดูภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือ “หนังฝรั่ง” เป็นส่วนใหญ่ โดยคนมีระดับในกรุงเทพฯจะดูแบบ “เสียงในฟิล์ม” มีคำบรรยายเป็นตัวอักษร ในขณะที่คนมีระดับของต่างจังหวัด จะดูหนังฝรั่งพากย์ไทย ทำให้เกิดนักพากย์โด่งดังขึ้นทั่วประเทศ เช่น “โกญจนาท” ภาคอีสาน “เทพา-อาภรณ์” ภาคใต้ “อรุโณทัย-วลีทิพย์” และ “รุจิกร” ดังมากในภาคเหนือตอนล่าง (โดยเฉพาะปากน้ำโพ)

วงการเพลงก็เช่นกัน แบ่งออกเป็น 2 นครอย่างชัดเจน มีทั้งเพลงสำหรับคนมีระดับกับเพลงของคนต่างจังหวัด ซึ่งแรกๆเรียกเพลงต่างจังหวัดว่า “เพลงตลาด” เอาเสียด้วยซ้ำ

ก่อนที่จะมีการเรียกอย่างประนีประนอม แต่ก็ยังชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างว่า เพลง “ลูกกรุง” และ “ลูกทุ่ง” ในภายหลัง

ด้วยรสนิยมด้านความบันเทิงที่เป็น 2 นครามาโดยตลอดเช่นนี้ ศิลปินจึงต้องเลือกข้าง รวมทั้งน้าดิน หรือ ดอกดิน กัญญามาลย์ ด้วย ซึ่งท่านได้เลือกที่จะอยู่เคียงข้างประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท หรือผู้มีรายได้น้อยในกรุง ซึ่งก็อพยพมาจากชนบทนั่นเอง

ผมได้รับมอบหมายให้ไปเขียน “วิจารณ์บันเทิง” ของหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ครั้งแรก เมื่อปี 2513 และได้นามปากกา “ซูม” มาเป็นนามปากกาคู่ชีวิตจนถึงบัดนี้ จากการตั้งของพี่ “มานะ แพร่พันธุ์” ปูชนียบุคคลอีกท่านหนึ่งของวงการหนังสือพิมพ์

เขียนไปได้พักหนึ่ง ผมก็พบว่า ภาพยนตร์ไทยใน พ.ศ.ดังกล่าวยังคงเป็นภาพยนตร์สำหรับคนไทย ที่มีการศึกษาน้อยเป็นส่วนใหญ่

เวลาเขียนถึงภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ของ “น้าดิน” ผมจะพูดเสมอท้ายคอลัมน์ว่า ทั้งหมดนี้ผมเขียนอย่างสวมวิญญาณ “ไอ้ถิน” คนจบ ป.4 ที่มาทำงานเมืองกรุงนะคร้าบ

ดังนั้น ถ้าผมบอกว่า หนังเรื่องนี้สนุกมาก ก็เป็นความสนุกของคนอย่าง “ไอ้ถิน” มิใช่ความสุขของคนจบมัธยม หรือมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

จำได้ว่า เพื่อนนักวิจารณ์บันเทิงจากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นในยุคนั้น หยิบมาเป็นประเด็นในการวิจารณ์ผมอีกทอดหนึ่งว่า กำลังจะเสนอให้คนดูหนังไทยแต่งชุดนักเรียน ป.4 ไปดูหนังหรืออย่างไร

ทำให้ผมซึ่งเป็นนักเขียนน้องใหม่ แต่นำเสนอทฤษฎีการดูหนังแบบใหม่คือ ต้องแบ่งรสนิยมออกเป็น 2 รสนิยมพลอยดังไปด้วย

บทสรุปของข้อเขียนวันนี้ก็คือ กว่านักวิชาการทางการเมืองจะรู้ว่า ประเทศไทยเราเสมือนมี “สองนครา” ทับซ้อนกันอยู่ก็จนปี 2530 กว่าๆเข้าไปแล้ว โดยท่านอาจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

แต่ “น้าดิน” ดอกดิน กัญญามาลย์ ท่านรู้มาตั้งนานแล้วว่าประเทศไทยของเรามี 2 นครา ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกของท่านที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2495 ก่อนหน้านักวิชาการด้านการเมืองไม่น้อยกว่า 30 ปี.

“ซูม”