เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขที่ออก…ดร.ทศพร (ก.พ.ร.)

ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงเวลาบ่ายๆของวันอังคารที่ 17 เมษายน วันกลับมาทำงานวันแรกหลังหยุดยาวฉลองสงกรานต์

ปรากฏว่ามีการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลและมีมติแต่งตั้ง ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ จากเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เป็นที่เรียบร้อย

ที่ผมตั้งใจว่าจะเขียนต่อเรื่อง “เลขาธิการสภาพัฒน์…ตำแหน่งนี้ยังมีความหมาย” อีกสักวัน โดยจะทดลองสวมวิญญาณคุณ “ซี.12” ผู้เขียนคอลัมน์ “มุมข้าราชการ” ของไทยรัฐ เสนอแนะว่าควรจะเลือกใครบ้างที่มีคุณลักษณะเข้าสเปกที่ผมเสนอไว้เมื่อวานนี้ก็เป็นอันพับไปได้

เพราะคณะรัฐมนตรีท่านฟันธงออกมาเรียบร้อยว่าเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ซึ่งเรียนตรงๆว่าไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ผมจะเสนอแนะเลย เพราะไม่ได้คิดถึงท่านตั้งแต่ต้น

เนื่องจากบุคคลส่วนใหญ่ที่ผมคิดไว้ นอกจากคนในสภาพัฒน์จำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะเป็นข้าราชการที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่ทำงานด้านเศรษฐกิจ จากกระทรวงอื่นๆอีก 2-3 ท่าน

ถามว่าผมรับได้ไหมกับรายชื่อท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ที่ ครม.มีมติแต่งตั้งครั้งนี้? ผมก็คงต้องตอบว่า รับได้ครับ แม้ท่านจะมิใช่นักเศรษฐศาสตร์ก็ตาม

งานของสภาพัฒน์ยุคใหม่นั้น ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะในช่วงหลังๆงานด้านสังคมก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น หากจะได้นักรัฐศาสตร์ หรือนักบริหารรัฐกิจ มาเป็นเลขาธิการสลับกับนักเศรษฐศาสตร์บ้าง จึงมิใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

ในอดีตเราก็เคยมีนักรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสังคมมากกว่าเศรษฐกิจมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์แล้วท่านหนึ่ง ได้แก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งท่านก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขาธิการสภาพัฒน์ได้อย่างดียิ่ง

ดังนั้น เมื่อมาถึงยุคนี้งานของสภาพัฒน์ ดูจะกว้างขวางและงอกเงยจากยุคเก่าๆไปอีกมาก เพราะจะต้องเป็นฝ่ายเลขานุการให้กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามกฎหมายฉบับใหม่ๆที่ออกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

การที่ ครม.เลือก ดร.ทศพร มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในทัศนะของผมที่เน้นสเปกในเรื่องการประสานงานกับบุคคลอื่นๆ หรือการทำงานร่วมกับราชการหน่วยอื่นๆ และทุกภาคส่วนในสังคมเป็นประเด็นสำคัญ

แต่ผมก็ยังเห็นว่า งานทางด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป หรือการพยากรณ์เศรษฐกิจไทย ทั้งระยะสั้นระยะยาว ซึ่งเป็นงานหลักอีกประการหนึ่งของสำนักงานนี้ก็ยังมีความสำคัญอยู่

เมื่อตัวเลขาธิการมิใช่นักเศรษฐศาสตร์ก็ควรจะมีรองเลขาธิการหรือข้าราชการระดับสูง ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้คอยทำหน้าที่ติดตามดูแลและนำมาแถลงข่าวเป็นระยะๆโดยไม่ขาดสาย

รวมทั้งจะต้องแถลงด้วยความรู้ความชำนาญ และด้วยความละเอียดลึกซึ้ง เพื่อให้ผลงานทางด้านการพยากรณ์เศรษฐกิจ ตลอดจนรายงานภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกๆฝ่ายในประเทศไทยอยู่แล้วนั้น อยู่ในมาตรฐานเดิมที่สังคมไทยให้การยอมรับต่อไป

ที่สำคัญผมก็ฝากให้สภาพัฒน์ยังคงมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถวิเคราะห์โครงการเศรษฐกิจต่างๆได้อย่างละเอียดรอบคอบ สามารถบ่งบอกได้ว่าโครงการของรัฐโครงการไหนบ้างที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมอย่างไร?

กล้าที่จะแสดงความเห็นค้านอย่างสุภาพแต่หนักแน่น หากพบว่าเป็นโครงการที่น่าเป็นห่วง และอาจไม่เกิดประโยชน์

รัฐบาลนี้อาจจะมีนักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วจำนวนมาก รวมถึงท่านรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจและทีมงานของท่านที่ได้ริเริ่มโครงการเศรษฐกิจเอาไว้มากมาย แม้จะมีเจตนาดี แต่หลายๆโครงการก็น่าเป็นห่วงในแง่การลงทุนสูง และไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จในอนาคตหรือไม่?

หวังว่าจะยังคงมีเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ติดตามดูแลและประเมินผลโครงการเหล่านี้เป็นระยะๆ เพื่อจะบอกกล่าวหรือแจ้งเตือนแก่รัฐบาลในกรณีที่ไม่ประสบผลสำเร็จและจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุง

เรื่องราวว่าด้วยเลขาธิการสภาพัฒน์ของผมก็คงจะจบลงได้แล้วในวันนี้

จากนี้ไปก็คงต้องติดตามผลงานของ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ต่อไปครับว่าจะทำหน้าที่ซึ่งผมคิดว่ายังมีความหมายต่อการพัฒนา ประเทศชาติหน้าที่นี้ได้อย่างสมกับที่รัฐบาลคาดหวัง และผมเองก็คาดหวังด้วย…หรือไม่?อย่างไร?

“ซูม”