เส้นทางสู่ไทยแลนด์ 4.0 จากมหิดลฯ ถึงกำเนิดวิทย์

ผมได้รับเอกสารประชาสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ข่าวแจก” จากฝ่ายสื่อสารองค์กรของ ปตท.มาแผ่นหนึ่ง…อ่านจบแล้วก็ต้องรีบนำมาเขียนให้ทันที

เพราะเป็นข่าวที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อเขียนของผมที่เคยเขียนไว้หลายวันติดกันเมื่อเกือบๆ 2 ปีที่แล้ว

เขียนด้วยความประทับใจ หลังจากที่ผมได้รับเชิญจาก ปตท.นี่แหละ ให้ไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมโรงเรียนหนึ่งที่จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ค้ำชูดูแลของกลุ่ม ปตท.

โรงเรียนกำเนิดวิทย์ น่ะครับ…โรงเรียนที่กลุ่ม ปตท.ลงขันกันก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบ่มเพาะเด็กนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะ

เพื่อให้เด็กๆมีความรู้ความสามารถในการสอบเข้าเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ที่เด็กมีความประสงค์ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป จนถึงปริญญาโทและปริญญาเอก

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อไปสู่จุดหมายในการผลิตนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกรชั้นนำให้แก่ประเทศไทยที่ยังขาดแคลนอย่างมาก ให้มีจำนวนที่เพียงพอ จนประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

ผมแวะไปเยี่ยมชมโรงเรียนนี้ และเขียนในคอลัมน์นี้ทันทีที่กลับมาถึงโรงพิมพ์

ซึ่งจากเอกสารที่ผมได้รับระบุว่า บัดนี้นักเรียนรุ่นแรกที่ผมไปคุยด้วย รวมทั้งสิ้น 71 คน ได้เรียนจบหลักสูตร 3 ปี ม.4-ม.6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่น่ายินดีก็คือ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง ทั้งๆที่ยังไม่ถึงวันจบหลักสูตรด้วยซ้ำ นักเรียนกำเนิดวิทย์ส่วนหนึ่งได้รับข้อเสนอให้ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศถึง 48 คน

เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนที่เรียนจบรุ่นแรกว่าอย่างนั้นเถอะ

นอกจากนี้ ผลการสอบทั้งในด้านภาษาอังกฤษและการทดสอบเข้ามหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ก็ได้คะแนนในระดับสูงอย่างน่าพอใจ

ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เด็กๆเหล่านี้จะเป็นความหวังและเป็นกำลังสำคัญ ในฐานะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในอนาคต เมื่อก้าวขึ้นไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

สำหรับแนวความคิดในการคัดกรองเด็กที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แล้วนำมาเพาะบ่มโดยตรงนั้นได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว

มีการก่อตั้ง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2533และได้จัดการเรียนการสอนโดยเน้นด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จนประสบผลสำเร็จ สามารถผลิตเด็กนักเรียนสมองเป็นเลิศทางด้านนี้ปีละกว่า 200 คนมาโดยตลอด

ต่อมาก็ได้มี โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ในจังหวัดต่างๆรวม 12 จังหวัดทั่วไทย มุ่งเน้นการเรียน การสอน ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แบบเข้มข้นเช่นกัน เริ่มจากปี 2534

แต่ความต้องการบุคลากรทางด้านนี้ ยังมีสูงมากในประเทศไทย แม้จะเร่งระดมผลิตขึ้นมาแล้วก็ยังไม่พอเพียง ทำให้กลุ่ม ปตท.ตัดสินใจเข้ามาร่วมในการเปิดโรงเรียนเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง

ได้รับพระราชทานนามโรงเรียนจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” เมื่อ พ.ศ.2557 ซึ่งบัดนี้ นักวิทย์รุ่นเยาว์รุ่นแรกรวม 71 คน ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วดังกล่าว

ผมขอแสดงความยินดีและขอให้กำลังใจแก่เด็กๆที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรับใช้ประเทศชาติในอนาคต

เราจะไปถึง 4.0 อะไรที่ว่าได้ ก็ด้วยลูกๆหลานๆเหล่านี้แหละครับ ต้องขอขอบคุณ “กลุ่ม ปตท.” ที่มาร่วมเพาะบ่มด้วยการทุ่มเทงบประมาณผ่านมูลนิธิพลังแห่งการเรียนรู้มาหลายปีแล้ว และจะดำเนินการต่อไป

รวมทั้งต้องขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการด้วยที่แม้จะดูย่ำแย่ในภาพส่วนรวมของการให้บริการการศึกษา แต่ก็ยังมีแนวคิดเด็ดๆ ในการสร้างโรงเรียนเพาะบ่มเด็กพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม้จะยังไม่พอเพียง แต่ก็ช่วยอุดช่องว่างได้พอสมควร

โรงเรียนมหิดลวิทยนุสรณ์นั้น เริ่มจากแนวคิดของท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา เมื่อ พ.ศ.2533 ไปขอจับมือกับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลับมหิดลใน พ.ศ.ดังกล่าว จัดตั้งโรงเรียนทดลองขึ้นที่ วัดไร่ขิง จนเติบโตมาจนถึงวันนี้

ต้องขอขอบคุณย้อนหลังไปถึง ดร.โกวิท ผู้ล่วงลับอีกท่านหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลเหลือเกินครับ…ท่านอาจารย์.

“ซูม”