ตำนาน “ศูนย์ฯสิริกิติ์” มีทั้งเศรษฐกิจ+การเมือง

เมื่อวานนี้ผมเชิญชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 ซึ่งจะเป็นงานหนังสือครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อปรับขยายให้ใหญ่ขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยอีกสักครั้งนะครับ ด้วยความรักความอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

เพราะคาดเดาไม่ถูกว่าโฉมใหม่จะเป็นอย่างไร? เท่าที่อ่านเจอก็มีเพียงข่าวว่าพื้นที่จะเพิ่มจากเดิม 20,000 ตารางเมตร เป็น 70,000 ตารางเมตร และจะใช้เงินค่าลงทุน 6,000 ล้านบาทเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น

ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อนท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าประเทศไทยของเราได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 เมื่อเดือนตุลาคม 2534

เป็นการประชุมที่ใหญ่มาก ถือเป็นมหกรรมระดับ “กีฬาโอลิมปิก” ของวงการเงินและการธนาคารเลยทีเดียว จะมีนักการเงินการคลังจากประเทศสมาชิกมาร่วมประชุมนับหมื่นคน

ช่วงที่เราไปวิ่งเต้นนั้นก็ต้องเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแข่งกับชาติอื่นเหมือนกีฬาโอลิมปิกนั่นแหละ ซึ่งในตอนแรกเราจะใช้ห้องประชุม บางกอกคอนเวนชั่น ของเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่เอี่ยม ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

แต่พอธนาคารโลกอนุมัติปั๊บก็มีการขัดแย้งระหว่างเซ็นทรัลกับรัฐบาลไทย ซึ่งมี น้าชาติ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

น้าชาติจึงหันไปสั่งกระทรวงการคลังให้หาสถานที่ใหม่ และกระทรวงการคลังโดยท่านรัฐมนตรี ประมวล สภาวสุ หรือลุงมวล ซึ่งมีพื้นที่ว่าง เนื่องจากโรงงานยาสูบจะต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดพอดี ก็ขันอาสาสร้างให้

ลุงมวลใช้วิธีพิเศษก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งใหม่จนแล้วเสร็จ และโดยที่ลุงมวลลงไปคุมการก่อสร้างเอง จึงสามารถประหยัดเงินหลวงได้ก้อนใหญ่ ได้รับคำชมเชยจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับใน พ.ศ.นั้น

แต่วาสนาของน้าชาติและลุงมวลก็ไม่สามารถจะอยู่เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมธนาคารโลกได้ เพราะโดนปฏิวัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2534 นั่นเอง โดยคณะ รสช. ทำให้ในการประชุมใหญ่ธนาคารโลกครั้งที่ 46 ในระหว่าง 1-15 ตุลาคม 2534 นั้น นายกรัฐมนตรีที่มาเป็นเจ้าภาพแทนได้แก่ คุณ อานันท์ ปันยารชุน

ปรากฏว่า มีสมาชิกธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ 154 ประเทศ รวมแล้วกว่า 10,000 คน มาร่วมประชุม และต่างก็ชื่นชมโสมนัสในการจัดงานอันยอดเยี่ยมของรัฐบาลไทยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับผมที่บอกว่ามีความสัมพันธ์กับศูนย์ประชุมแห่งนี้ก็เพราะ ขณะนั้นผมยังอยู่ที่สภาพัฒน์ ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ให้จัดประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่แผนพัฒนาฉบับที่ 7 พ.ศ.2535-2539 ที่ร่างเสร็จใน พ.ศ.2534 ดังกล่าว

ด้วยความสนิทกับเพื่อนๆ ในกระทรวงการคลัง รวมทั้งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือท่าน สุธี สิงห์เสน่ห์ ก็เป็นอาจารย์เก่าผม จึงไปขออนุญาตท่านใช้ศูนย์การประชุมที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่เอี่ยม เพื่อประชุม “ปฐมทัศน์ แผน 7” โดยจะเชิญผู้คนมารับฟังกว่า 3,000 คน

ถือเป็นการทดลองใช้ศูนย์การประชุมฯ ไปด้วยว่า จะรับมือกับคน 3,000 คนได้ไหม? ก่อนจะไปรับมือกับคนเป็นหมื่นในช่วงธนาคารโลก

ผลการทดลองเป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เข้าประชุมล้วนตื่นตาตื่นใจกับความงามของศูนย์ประชุม พอๆ กับตื่นตาตื่นใจในการนำเสนอแผน 7 แบบจอกว้าง ซีเนรามา กลางห้องประชุมใหญ่ของศูนย์สิริกิติ์

สิ่งที่เราพบอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากก็คือ ห้องน้ำศูนย์ฯ (อยู่ข้างล่าง ตรงใกล้ๆ บันไดขึ้นฮอลล์ จำได้ไหมครับ) จะเหม็นฉุนกึกมากหลังการประชุม แปลว่าถ้ามีคนเป็นพันๆ มาปลดทุกข์พร้อมๆ กัน ห้องสุขาของศูนย์ ณ ขณะนั้น จะไม่สามารถขจัดกลิ่นได้ทัน

พวกเราจึงแจ้งให้ทางกระทรวงการคลังไปสั่งการให้ผู้รับเหมาแก้ไขด่วน และสามารถแก้ได้สำเร็จ ทำให้สามารถรับมือกับผู้คนนับหมื่นในการประชุมธนาคารโลก โดยไม่มีกลิ่นรบกวนใดๆ เลย

ด้วยความผูกพันอย่างนี้แหละครับ ที่ผมอยากจะขอร้องว่า ในการปรับปรุงสร้างศูนย์สิริกิติ์ใหม่ คราวนี้จะทำอย่างไรก็ทำเถิด แต่อยากให้คง “ศูนย์เก่า” ไว้ด้วย ณ จุดใดจุดหนึ่ง เพราะศูนย์แห่งนี้มีทั้งประวัติศาสตร์การเมือง และการพัฒนาอยู่ในตัว ถ้ารื้อทิ้งไปเสียทั้งหมดเลยก็น่าเสียดาย.

“ซูม”