เที่ยว “ตรุษจีน” ต้นตำรับ นครสวรรค์ “ปากน้ำโพ”

วันนี้ (อาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562) ถือเป็นวันจับจ่ายซื้อข้าวซื้อของเตรียมไว้สำหรับพิธีไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ

ส่วนพรุ่งนี้ (จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์) ก็จะเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และเป็นวันตั้งโต๊ะ ไหว้เจ้า ไหว้เทพยดาฟ้าดิน ตลอดจนน้อมรำลึกถึงบรรพบุรุษ เพื่อขอพรขอความเป็นสิริมงคล และความโชคดีเซ็งลี้ฮ้อ ให้บังเกิดแก่ลูกๆ หลานๆ ซึ่งปีนี้ ท่าน นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านขอร้องมาโปรดกรุณาจุดธูป จุดเทียน เผากระดาษเงิน กระดาษทอง กันแค่พอหอมปากหอมคอนะจ๊ะ PM2.5 สูงปรี๊ดอยู่แล้วจ้า

มะรืนนี้ (อังคารที่ 5 กุมภาพันธ์นี้) นั่นแหละจึงจะเป็นวัน “ขึ้นปีใหม่” ตามประเพณีจีนที่แท้จริง ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกกันว่าวัน “ชิวอิ้ด” เป็นวันแห่งความเป็นสิริมงคล จะต้องพูดจาไพเราะ ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำอารมณ์ให้รื่นเริงตลอดทั้งวัน เพื่อต้อนรับความสุขความเจริญทั้งหลายที่จะหลั่งไหลมาในปีใหม่ปีนี้

ส่วนใหญ่แล้วจะถือเป็นวันออกท่องเที่ยวไปโน่นไปนี่กันตลอดทั้งวันของคนจีนทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเรา

ด้วยเหตุนี้บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ จึงได้จัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับตรุษจีนกันล่วงหน้ามาตั้งแต่วันพฤหัสฯ ที่ 31 มกราคม เป็นส่วนใหญ่ และจะมาถึงจุดพีกในจันทร์ วันอังคารนี้ ดังที่หัวหน้า ทีมซอกแซกเขียนถึงในคอลัมน์วันเสาร์มาถึง 2 สัปดาห์ติดๆ กัน

แต่สำหรับงานตรุษจีนที่หัวหน้าทีมซอกแซกจะเขียนถึงวันนี้ เริ่มมาแล้วตั้งแต่ 29 มกราคม 2562 ก็จริง แต่ยังไม่หมดครับ จะมีต่อไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ หรือวันเสาร์หน้าเป็นวันสุดท้าย

แถมจะมี “ไฮไลต์” หรือจุดโดดเด่นที่เป็น “เอกลักษณ์” จัดพิธี “แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่” อันยิ่งใหญ่ตระการตา ขบวนยาวที่สุดในประเทศไทย เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เพราะจัดมาแล้ว 102 ปี จะย่างเข้าสู่ปีที่ 103 ในปีนี้

นั่นก็คือ “ตรุษจีนปากน้ำโพ” หรือ “ตรุษจีนนครสวรรค์” เมืองสี่แคว ที่หัวหน้าทีมซอกแซกในฐานะศิษย์เก่า ซึ่งเคยร่วมขบวนแห่มาตั้งแต่เด็กๆ พอเติบใหญ่มามีอาชีพเขียนหนังสือพิมพ์รายวัน ใน กทม. ก็ได้เขียนถึงงานนี้ติดต่อกันโดยไม่หยุดเว้นวรรค ตั้งแต่ปี 2513 จนถึงปีนี้ 49 ปีเข้าไปแล้ว

จุดเด่นที่สุดของงานตรุษจีนนครสวรรค์ปีที่ 103 น่าจะอยู่ที่การเนรมิตตรอก ซึ่งความจริงก็เป็นถนนที่กว้างขวางพอสมควร ยาวประมาณ 400 เมตร ให้เป็นถนน “ปากน้ำโพโหงวซก” หรือถนนที่รวมความศรัทธาของชาวจีน 5 ภาษาในปากน้ำโพเอาไว้ด้วยกัน

จะมีการตกแต่ง การประดับประดา การจัดซุ้มต่างๆให้เป็นจีนโบราณ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความเชื่อถือ และศรัทธาของชาวจีน 5 ภาษา ไปตลอดทั้งถนน และจะมีการแสดงต่างๆ ที่จำลองมาจากขบวนแห่ เช่น สิงโต, มังกรทอง, เอ็งกอ พะบู๊ ฯลฯ ในทุกค่ำคืน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย

สามารถจะถ่ายรูป “เซลฟี่”+“เช็กอิน” กับนักแสดงต่างๆ และสถานที่ต่างๆ ได้อย่างเป็นกันเองและใกล้ชิดตลอดงาน

เป็นถนนสาย “ห้ามพลาด” คือถนน หรือตรอก “ศรีไกรลาศ” ฟังชื่อก็เดาถูกว่าอยู่ใกล้ๆ โรงภาพยนตร์ ศรีไกรลาศ (เดี๋ยวนี้จะยังมีหรือเปล่าก็ไม่รู้) แหล่งบันเทิงอันยิ่งใหญ่ในอดีตกาลของชาวสี่แคว

เดินเข้าถนน “ปักนํ้าโพโหงวซก” (ศรีไกรลาศ) ไปแล้ว พอสุดทางก็จะถึง ริมฝั่งเจ้าพระยา อันเป็นสถานที่จัดงานโดยรวมดังเช่นทุกปี แต่ปีนี้จะแบ่งเป็นโซนต่างๆที่ชัดเจน โดยเฉพาะ โซนอาหาร ซึ่งเรียกว่าโซน “อร่อยเหาะขึ้น (นคร) สวรรค์” นั้นจะนำอาหารอร่อยของร้านโด่งดังปากนํ้าโพมาให้รับประทานกันอย่างจุปากจุท้องและจุใจด้วยกว่า 300 ร้าน

โซนถัดไปก็จะเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ที่อัญเชิญจากศาลดั้งเดิมมาสถิต ณ บริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกในการกราบไหว้พร้อมๆ กันเป็นการชั่วคราว รวมทั้งจะมีเวทีแสดงใหญ่ที่มีการแสดงไม่ซํ้ากันในแต่ละคืน

แล้วก็มาถึง “ไฮไลต์” หรือจุดเด่นอันเป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษจีนนครสวรรค์ อันได้แก่พิธีแห่ และขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่อันเกรียงไกร ที่ยืนยงมาสู่ปีที่ 103 ดังได้เกริ่นไว้แล้ว

มังกรทอง, สิงโต 5 ภาษา, เอ็งกอ พะบู๊ นักสู้แห่งเขาเหลียงซาน, ขบวนนางฟ้า, ขบวนเจ้าแม่กวนอิมสมมติ และการแสดงพื้นบ้านนครสวรรค์ จะเริ่มแห่ภาคกลางคืนในคืนวัน “ชิวซา” หรือวันปีใหม่วันที่ 3 ซึ่งปีนี้ก็คือคืนวันพฤหัสฯที่ 7 กุมภาพันธ์

ความตระการตาของมังกรทองอันเป็นต้นตำรับของ “มังกรทองนครสวรรค์” เกิดขึ้นในขบวนแห่นี้ และทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่เป็นพระเอกเช่นเดิม และเมื่อรวมกับขบวนแห่อื่นๆ ดังได้กล่าวไว้แล้วจะทำให้คํ่าคืนวันที่ 7 ก.พ. เป็นคืนที่นักท่องเที่ยวทั่วไทยไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

สำหรับวันศุกร์ที่ 8 ก.พ. ขบวนแห่จะใหญ่และยาวขึ้นไปอีก โดยจะแห่ตลอดทั้งวันเพื่ออัญเชิญ “เจ้าพ่อเจ้าแม่” ไปให้ชาวนครสวรรค์กราบไหว้บูชาในทุกถนน ซึ่งพี่น้องจังหวัดอื่นรวมทั้งนักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆ ก็สามารถจะไปร่วมบูชาได้ด้วยและจะไปกันล้นหลามในแต่ละปี

นี่คือ 2 วันที่นักท่องเที่ยวตรุษจีนน่าจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมสักครั้ง เพื่อเป็นรางวัลของชีวิต จะเลือกไปกลางคืน หรือกลางวัน ก็เชิญตามความสะดวกของแต่ละท่านเทอญ

ไปกลางวันก็ดีครับ ขากลับเข้า กทม. เผื่อมีเวลาจะได้แวะเข้าเที่ยวงาน “มหกรรมหุ่นฟางนกและของดีศรีท้องถิ่น จังหวัดชัยนาท” บ้านพี่เมืองน้องของนครสวรรค์อีกงานหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 8–17 กุมภาพันธ์นี้ ขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ส่งท้ายให้ด้วยเลยครับ.

“ซูม”