คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ชีวิตนี้เพื่อ “ธรรมศาสตร์”

เมื่อคํ่าวันที่ 2 มกราคม หลังฉลองปีใหม่ได้วันเดียวก็มีข่าวเผยแพร่ไปทั่วสื่อออนไลน์ต่างๆ อย่างรวดเร็วว่า ศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เวลา 20.18 น. ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สิริอายุ 88 ปี

ผมตั้งใจจะเขียนถึงท่านตั้งแต่วันทราบข่าววันแรก แต่ก็ติดพันด้วยความจำเป็นที่จะต้องเขียนถึงเรื่องราวตามกรอบที่คอลัมน์วางไว้บ้าง และตามความจำเป็นที่ผมยังเขียนเรื่องบางเรื่องค้างคาไว้บ้าง จะต้องจบเรื่องเหล่านั้นเสียก่อน เพิ่งจะได้โอกาสเขียนถึงในวันนี้เอง

โดยส่วนตัวผมมีโอกาสรู้จักคุณหญิงนงเยาว์ในแบบรู้จักข้างเดียว ตั้งแต่ท่านยังรับราชการอยู่ที่สภาพัฒน์ ก่อนที่ท่านจะขอโอนย้ายเมื่อปี 2507 ไปเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะที่ท่านเคยเรียนจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมดีมาก และได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกานั่นเอง

ผมยังจำได้ถึงลีลาการนำเสนอเรื่องราวต่อที่ประชุมของท่านต่อกรรมการชุดต่างๆ ของสภาพัฒน์ ด้วยนํ้าเสียงที่ฉาดฉาน คล่องแคล่ว ชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ไปจนถึงลีลาการตอบคำถามเวลากรรมการซัก อย่างสั้นๆ ง่ายๆ เข้าใจได้ทันทีไม่มีเยิ่นเย้อ เป็นต้นแบบในการนำเสนอต่อที่ประชุมของชาวสภาพัฒน์มาตั้งแต่ยุคโน้น

ต่อมาหลายปีเมื่อคุณหญิงนงเยาว์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีช่วงแรกๆ พ.ศ.2525 ผมก็ได้รับมอบหมายจากสภาพัฒน์ให้ไปประสานงานกับท่านที่ธรรมศาสตร์ เพื่อก่อตั้ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบทขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นใน พ.ศ.นั้น

ยังจำได้ว่าท่านเอ่ยขึ้นก่อนว่า พี่ก็เคยเป็นศิษย์เก่าสภาพัฒน์เหมือนกันนะ ซึ่งผมก็ตอบทันทีว่า ผมทราบครับ และถือโอกาสขยายความด้วยว่าผมยังจำได้ถึงลีลาการนำเสนอเรื่องราวในที่ประชุมของท่าน และ ขออนุญาตนำไปใช้บ้าง เวลาจะต้องเข้าเสนอรายงานต่อที่ประชุมต่างๆ

จากนั้นผมกับท่านก็ถือได้ว่าเป็นคนรู้จักกัน และในที่สุดก็สนิทสนมกันเรียกพี่เรียกน้อง ตามประสาศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ด้วยกันมาตลอด

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าคุณหญิงนงเยาว์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญที่สานงานต่อจากท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการโยกย้ายหลายๆ คณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากท่าพระจันทร์ที่เริ่มคับแคบลงไปอยู่ที่ศูนย์รังสิตซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางกว่ามาก

นอกจากนี้ ท่านยังเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะเปิดการเรียนการสอนในภาควิชาต่างๆ ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ ฯลฯ ตามมา

รวมทั้งการจัดตั้ง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2529 และได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ 3 พ.ย.2529 พร้อมพระราชทานชื่อให้แก่โรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” ก่อนเปิดให้บริการประชาชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2531 เป็นต้นมา

ในช่วงนี้เองที่ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับคุณหญิงนงเยาว์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อได้รับเชิญให้ไปช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติติดต่อกันหลายปี

ต้องขอกราบขอบพระคุณคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ผู้เป็นแม่ทัพหลักของชาวธรรมศาสตร์ ในการเคลื่อนย้ายมาอยู่ทุ่งรังสิตและเป็นผู้บุกเบิกวิชาด้านวิทยาศาสตร์จนเกิดคณะแพทย์ คณะทันตฯ คณะพยาบาล และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติขึ้นในที่สุด

ขอบคุณในทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านอุทิศตนให้แก่ธรรมศาสตร์ และแน่นอนย่อมหมายถึงเป็นการอุทิศตนให้แก่ประเทศชาติด้วย ในฐานะที่ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 89 ปี

การสวดพระอภิธรรมให้แก่ ศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ณ ศาลา สารัชถ์–นลินี รัตนาวะดี วัดพระศรีมหาธาตุ ยังมีตั้งแต่วันนี้ (พุธที่ 10 มกราคม) เวลา 18.00 น. ไปจนถึงวันเสาร์ที่ 13 มกราคม เวลาเดียวกัน

จากนั้นจะมีพิธีพระราชทานเพลิง ณ เมรุ 2 วัดพระศรีมหาธาตุ ในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม เวลา 16.00 น.

ขอดวงวิญญาณของหญิงแกร่ง “เหลืองแดง” รุ่นพี่ผู้เป็น “ไอดอล” ของผมมาตลอดท่านนี้ จงเป็นสุข ณ สัมปรายภพตราบกาลนิรันดร์.

“ซูม”

คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ชีวิตนี้เพื่อ “ธรรมศาสตร์”, โรงพยาบาล,​ อธิการบดี, สวดพระอภิธรรม, ถึงแก่อนิจกรรม, ข่าว, ซูมซอกแซก