ประเทศไทย “ศักยภาพ” สูง ถ้า “ผู้นำดี” ไม่มี “อับจน”

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่าด้วยการทำงานหนักของรัฐบาล+ภาคเอกชนสามารถเอาชนะสงครามเศรษฐกิจได้ ที่เกิดขึ้นในยุค “ป๋าเปรม” เมื่อ พ.ศ.2527 ที่ผมเล่าเป็นมินิซีรีส์เมื่อวานนี้จบลงด้วยการลดค่าเงินบาทและการแต่งตั้งคณะ “กรรมการ” ขึ้นมาใช้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาทให้เห็นผลโดยเร็วที่สุด

ผมจำไม่ได้แล้วว่าชื่ออย่างเป็นทางการของกรรมการชุดนี้คืออะไร แต่จำได้ถึงการทำงานอย่างหนักหน่วงของท่านประธาน ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ใน พ.ศ.นั้น กับท่านเลขานุการคณะกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ประสานงานของกรรมการด้วย…คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ใน พ.ศ.นั้นเช่นกัน

จริงๆ แล้วคณะกรรมการชุดนี้เริ่มงานอย่างไม่เป็นทางการ หลังปู่ สมหมาย ฮุนตระกูล ประกาศลดค่าเงินบาทเพียงไม่กี่วันโน่นแล้ว

ดร.เสนาะท่านเตรียมกรอบงานที่จะทำและเตรียมรายชื่อคณะกรรมการทั้งภาครัฐภาคเอกชนที่จะมาร่วมทำงาน ทั้งชุดใหญ่ชุดเล็กซึ่งจะมีหลายๆ ชุดเอาไว้พร้อมสรรพ

ท่านร่างสุนทรพจน์ปีใหม่ 2528 ของ พลเอกเปรม ด้วยตนเอง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจว่าตกต่ำอย่างไร? ทำไมต้องลดค่าเงินบาท? และเมื่อลดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป

ในสุนทรพจน์ดังกล่าว ป๋าเปรมจะบอกประชาชนในวันส่งท้ายปีเก่าเลยว่า รัฐบาลจะตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดูแลเรื่องนี้ และขอให้พี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจกันกอบกู้เศรษฐกิจไปพร้อมๆกับท่าน

จากนั้นวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2528 กลับมาทำงานวันแรกหลังปีใหม่ พลเอกเปรมก็ตั้งกรรมการทันที และท่านประธาน ดร.เสนาะและท่านเลขานุการก็ลงมือทำงานทันที

ถกกันทุกวันหาประเด็นกันทุกวันว่าปัญหาในแต่ละด้านอยู่ตรงไหน? จะต้องแก้อย่างไร? และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

อุปสรรคในการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลในเรื่องใดบ้าง…รีบไปหามาและรีบแจ้งโดยด่วน

ประชุมทุกวัน ประสานและดำเนินการทุกวัน และก็จะสั่งการให้ผม ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เข้าประชุมด้วยทุกวัน และเกือบทุกๆเรื่อง

ผมก็จะนำผลการประชุมมาตีฆ้องร้องป่าวตามหน้าที่ ส่งข่าวให้ทั้งสื่อไทยและสื่อภาษาฝรั่ง ซึ่งขณะนั้นก็มี Bangkok Post และ The Nation เป็นหลัก

มีความจำเป็นจะต้องขอร้องให้เพื่อนๆ ลงข่าวเรื่องใด ผมก็จะโทร.ไปขอเป็นกรณีพิเศษกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่อยู่ในสื่อมวลชนต่างๆ

เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือเพื่อให้พี่น้องประชาชนรู้ว่า เรากำลังทำงานเรื่องนี้กันอยู่และไม่เฉพาะพี่น้องชาวไทยเท่านั้น ยังรวมถึงพี่น้องชาวโลกผ่านสื่อภาษาอังกฤษของเราด้วย

ผมคิดว่าสักเดือนเศษๆ เท่านั้น

เราก็ได้มาตรการรวมแล้ว 24 มาตรการ พร้อมกับส่งคืนให้กระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ โดยคณะกรรมการจะประสานอยู่ข้างๆ เพื่อกระตุ้นให้การทำงานเดินหน้าต่อไป

พูดไปก็เหมือนโกหกแต่มันก็จริง เพราะ “วันลอยกระทง” 2528 ถัดมากลายเป็นวันลอยกระทงที่สนุกที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การลอยกระทงไทย เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ผู้คนรายได้ดี จึงออกมาฉลองวันลอยกระทงอย่างเต็มที่

จากนั้นไม่นานนัก นิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์ ก็นำเสนอสารคดีจากปกกล่าวถึงความสำเร็จในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย

ในขณะที่ ไทมส์ กับ นิวส์วีค ฉบับเอเชีย ก็แข่งกันตั้งฉายาประเทศไทยให้เป็น “เสือตัวใหม่” แห่ง “เอเชีย” บ้าง เป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” หรือ NIC บ้าง

ทำให้ผมเชื่อในศักยภาพของประเทศไทย และเชื่อว่าถ้าเรามีผู้นำประเทศที่อุทิศตน ไม่คอร์รัปชัน และมีความขยันตลอดจนรับฟังคนอื่นและใช้คนเป็น ประเทศไทยของเราจะไม่มีวันอับจนอย่างแน่นอน

รวมทั้งทำให้ผมเชื่อว่าช่องทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ และการทำให้เศรษฐกิจของชาติฟื้นตัวได้นั้น ไม่จำเป็นจะต้อง “แจกเงิน” หรือกระตุ้นด้วยนโยบายประชานิยมแต่อย่างใดเลย

ประเทศไทยของเรามีสมรรถภาพและประสิทธิภาพที่ดีพอ ที่พร้อมจะฟื้นตัวกลับมาใหม่ได้เสมอ

โดยไม่จำเป็นต้องทำในแบบเสี่ยงๆ และมีผลเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมหาศาลด้วยการ “แจกเงิน” เพื่อเอาใจประชาชน แต่ทำให้ประเทศล้มละลายทางเศรษฐกิจ ดังที่เกิดขึ้นให้เห็นจำนวนมากทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้.

“ซูม”

ประเทศไทย “ศักยภาพ” สูง ถ้า “ผู้นำดี” ไม่มี “อับจน”, เศรษฐกิจ, ลดค่าเงินบาท, ฟื้น, แจกเงิน, นโยบาย, แก้ปัญหา, ข่าว, ซูมซอกแซก