ตำนานราเม็ง (ยืนกิน) เคียงคู่ “ตลาดปลา” ซึกิจิ

ซอกแซก “โตเกียว 2023” หรือ 2566 ยังไม่จบนะครับ ยังมีเรื่องราวที่อยากจะเขียนถึงอยู่อีก 2–3 เรื่อง รวมทั้งเรื่องที่ “พาดหัว” เอาไว้ ข้างบนนี้ว่า “ตำนานราเม็งยืนกิน…เคียงคู่ ตลาดปลาซึกิจิ” ด้วยอีก 1 เรื่อง

ตลาดปลาซึกิจิ เกิดขึ้นที่บริเวณปากอ่าวโตเกียว เมื่อเกือบๆ 90 ปีที่แล้วโน้น พัฒนามาจากตลาดปลาสดเล็กๆ ที่ชาวประมงขนาดเล็กซึ่งจับปลาได้ในแต่ละวันมาจอดเรือขนปลาขึ้นฝั่งเปิดแผงขายอย่างไม่เป็นทางการที่บริเวณนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่าน กินซ่า หรือย่านธุรกิจใหญ่ของโตเกียวเท่าไรนัก

ต่อมาก็พัฒนาเป็นตลาดปลาที่ถาวร มีบริเวณขายปลาชั่งปลาอย่างถาวรรวมทั้งมีพ่อค้าคนกลางมาขอซื้อปลาไปขายต่อวันละหลายๆร้อยรายในช่วงเช้าๆ

รอบๆ ตลาดปลาก็ค่อยๆ พัฒนาตามไปด้วย กลายเป็นตลาดขายอาหาร ขายเครื่องปรุงอาหาร ขายผักขายผลไม้ รวมทั้งขาย “ปลาดิบ” ที่ซื้อจาก ตลาดปลา ก็แล่มาขายที่ร้านค้าข้างๆ นี่เลย

กลายเป็นย่านของกินใหญ่นอกจากร้านขายปลาดิบแบบซูชิดังๆ หลายร้านแล้ว ก็ยังมีแผงลอยขายอาหารอร่อยเกิดขึ้นอีกมากมายรวมทั้งร้าน “ราเม็ง” เจ้าหนึ่งที่เจ้าของชื่อ โกโระ วากาบายาชิ ที่มาเปิดร้าน “ราเม็ง” ที่นี่เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว

เนื่องจากตลาดปลา ซึกิจิ เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งหนึ่งที่ทางการญี่ปุ่นช่วยโปรโมต ทำให้มี นักท่องเที่ยวมาเที่ยววันละมากๆ ส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ ขายดีไปด้วย และของกินหรือร้านขนมในย่านนี้ก็พลอยติดปากชาวบ้านไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ไข่หวาน” ฟูๆ คล้ายสังขยาสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งที่หน้าตลาดปลามีอยู่หลายเจ้า แต่ 2 เจ้าดังมากคนเข้าคิวยืนซื้อไม่ตํ่ากว่า 20-30 คนทุกครั้งที่ไปยืนรอ

อีกเจ้าที่คิวยาวมากคือ “ข้าวแกงกะหรี่เนื้อ” สีดำข้นคลั่ก รอไม่ตํ่ากว่า 20 รายเช่นกัน รวมไปถึง “ราเม็ง” ของคุณ โกโระ วากาบายาชิ นี่ด้วย ที่ยาวมาก เมื่อไปเข้าคิวจ่ายเงินและได้ราเม็งมาหนึ่งชามแล้ว เขาจะมี “โต๊ะ” แบบ ให้ยืนกินอยู่หน้าร้านยกชามไปยืนโจ้ได้เลย

แน่นอนร้านซูชิสายพานต้นตำรับของย่านนี้ “SUSHI ZANMAI” ซึ่งมี 2-3 สาขาอยู่ในบริเวณตลาดก็พลอยขายดีไปด้วย

ทุกครั้งที่หัวหน้าทีมซอกแซกไปญี่ปุ่น ไม่ว่าจะไปเองหรือไปโดยเป็นแขกรับเชิญจากองค์กร หรือบริษัทรถยนต์ดังของญี่ปุ่นก็จะแวะไปที่ตลาดปลาแห่งนี้โดยไม่ขาดแม้สักครั้งเดียว

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสำหรับหัวหน้าทีม ซอกแซกแล้ว มีโอกาสได้ “ชิม” ของอร่อยในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเข้าไปนั่งกินหรือเข้าคิวซื้อมายืนเกือบครบทุกอย่าง ขาดอยู่เพียง 2 อย่างเท่านั้นคือ “ข้าวแกงกะหรี่” กับ “ราเม็ง” ของคุณโกโระ

ในความฝันส่วนตัวของหัวหน้าทีมซอกแซกเกี่ยวกับ “ราเม็ง” นั้นมีอยู่ 2 ความฝัน ด้วยกัน…ความฝันแรกคือ “ราเม็งปู่หมาย” ซึ่งเป็นราเม็งร้านหนึ่งอยู่ในใต้ถุนของร้านที่อยู่เป็นหย่อมๆ ตัวตึกค่อนข้างเก่าใกล้ๆ โรงแรมอิมพีเรียล ที่ข้าราชการไทยชั้นผู้ใหญ่ชอบไปพัก

“ปู่หมาย” ในที่นี้ก็คือ ปู่ สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยุคป๋า เปรม ติณสูลานนท์ ผู้เสนอให้ป๋าลดค่าเงินบาทจนเกือบมีการปฏิวัติซ้อนนั่นแหละ

ปู่สมหมายเป็นนักเรียนญี่ปุ่นมีร้านราเม็ง เจ้าประจำอยู่ที่ใกล้ๆ โรงแรมอิมพีเรียล ดังกล่าว ช่วงหลังๆ เมื่อท่านมารับราชการและมาเป็นรัฐมนตรีแล้ว เวลาไปราชการที่ญี่ปุ่นก็จะยังแวะไปกินราเม็งที่ร้านนี้เสมอๆ จนคนไทยเรียกร้านดังกล่าวว่า “ร้านราเม็งปู่หมาย” ตามไปกินกันอีกมากมาย

กินแล้วก็มักจะเซ็นชื่อเป็นภาษาไทยตัวโตๆ ไว้…และเอามาเล่าสู่กันในหมู่นักข่าวสายเศรษฐกิจบ้าง การเมืองบ้าง เพราะหลายๆ คนก็เคยมีโอกาสตาม “ปู่หมาย” และรัฐมนตรีอื่นๆ ที่ทราบเรื่อง ของปู่หมายไปรับประทานที่ร้านนี้มาด้วย

หัวหน้าทีมซอกแซกจึงฝันที่อยากจะไป “ลิ้มรส” ดูสักครั้งในชีวิต และฝันก็เป็นจริงเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วนี่เอง ช่วงนั้นเป็นแขกของธนาคารออมสินไปดูการแสดง “คอนเสิร์ต” อะไรสักอย่าง ที่โตเกียว จึงได้ไปนอนพักที่โรงแรมอิมพีเรียลแล้วก็เดินตระเวนหาร้าน “ราเม็งปู่หมาย” จนเจอ

ชัดเจนว่าไม่ผิดร้านเพราะมีลายเซ็นคนดัง ไทยอยู่เต็มร้าน จำได้แม่นว่ามีของคุณ บัญญัติ บรรทัดฐาน และ “เสธ.หนั่น” พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ อยู่ด้วย

สำหรับรสชาติ “ราเม็งปู่หมาย” นั้น โดยส่วนตัว “ชอบครับ” ให้คะแนน A- แต่แม่บ้านเธอติว่าเค็มมากไปหน่อยหักเหลือ B

ส่วนฝันที่ 2 ก็คือ “ราเม็งตลาดปลาซึกิจิ” นี่แหละ หัวหน้าทีมเคยอ่านเรื่องราวของราเม็งของคุณ โกโระ วากาบายาชิ จากรายงานพิเศษของ นิวยอร์กไทม์ส เมื่อหลายปีก่อนโน้น ว่าเป็นตำนานคู่ตลาดปลามากว่า 50 ปี ก็อยากรับประทาน ขึ้นมาทันที…

พอดีมีข่าวว่าจะย้ายตลาดปลาไปที่อื่น นิวยอร์กไทม์ส ก็มาสัมภาษณ์ว่าจะเดือดร้อนไหม?

ที่ไหนได้ แม้ตลาดปลาตัวจริงจะย้ายไปแล้ว แต่ราเม็งในฝันของผมร้านนี้ยังอยู่ครับ และยังขายดีเหมือนเดิม ทุกวันนี้ยังเปิดขายตั้งแต่ตี 5 ถึงบ่าย 2 เหมือนเดิม ผู้คนก็ยังไปเข้าคิวยืนกินราเม็งร้านนี้เหมือนเดิม

ไปเที่ยวนี้หัวหน้าทีมซอกแซกไม่ยอมพลาด โอกาสไปเข้าคิวซื้อมายืนกินด้วย 1 ชาม (ยักษ์) ต้องอาศัยลูกชายและลูกสะใภ้ช่วยอีก 2 ปาก จึง หมดเกลี้ยง เราให้คะแนน A เท่าๆ กัน ทั้ง 3 คน เพราะไม่เค็มจัดเหมือน “ราเม็งปู่หมาย”

ใครมีโอกาสไปโตเกียวแล้วทัวร์เขาพาไปเยือนตลาดปลาซึกิจิ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเปิดบริการเหมือนเดิม อย่าลืมแวะยืนซด “ราเมนปู่โกโระ” ดูบ้างนะครับ

หัวหน้าทีมตั้งชื่อราเม็งแกว่า “ปู่โกโระ” เพราะท่าทางแกก็น่าจะอายุเฉียดๆ 70 หรือกว่า 70 หน่อยๆ แล้วด้วยซํ้า ให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่ากำลังจะวางมือยกร้านให้ “ลูกชาย” ซึ่งทุกวันนี้ก็มาช่วยขายช่วยปรุงอยู่แล้วสืบทอดต่อไป

ไปซะตอนนี้ยังทัน รับประทานฝีมือปู่โกโระ แต่ถ้าช้าไปอีกสักปี 2 ปี แกวางมือไปจริงๆ อาจจะรับประทานได้แค่ฝีมือของ “ตัวสำรอง” คือลูกชายปู่โกโระเท่านั้นเอง รสชาติอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ใครจะรู้ล่ะ.

“ซูม”

ตำนาน, ราเม็ง, ยืนกิน, เคียงคู่, ตลาดปลา, ซึกิจิ, โกโระ วากาบายาชิ, สมหมาย ฮุนตระกูล, ท่องเที่ยว, ญี่ปุ่น, ข่าว,​ ซูมซอกแซก, เมนู, โตเกียว