อ่านข่าว “นาแปลงใหญ่” พลันนึกถึง “นาแปลงน้อย”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ผมอ่านข่าวที่ระบุไว้ว่าเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ “มติชนออนไลน์” ก็จัดการปรินต์ไว้ทันที ตั้งใจจะนำมาเขียนถึงในสัปดาห์นี้

เผอิญท่านนายกฯ เศรษฐา ท่านแถลงรายละเอียดว่า จะเดินหน้า โครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ตามที่หาเสียงไว้ พร้อมกับจะเสนอออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการนี้ ฯลฯ ผมก็เลยต้องเขียนแสดงความคิดเห็นว่าผมไม่อยากให้ดำเนินการโครงการนี้อย่างไร? และมีความห่วงใยในประเด็นใดบ้างไปถึง 2 วันเต็มๆ

บัดนี้ดูเหมือนจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มขึ้นมากมาย กลายเป็นข่าวใหญ่ตามมาดังที่ท่านผู้อ่านคงได้อ่านกันแล้ว

ผมก็ขออนุญาตปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกลไกและวิถีทางการเมืองต่อไป…พร้อมกับหันมาเขียนถึงเรื่องราวที่ผมอ่านพบจากข่าวเชิงประชาสัมพันธ์ในมติชนออนไลน์ตามที่ตั้งใจไว้

ข่าวดังกล่าวพาดหัวว่า “นาแปลงใหญ่ : โมเดลสู่ความยั่งยืนยกระดับชีวิตเกษตรกร ตั้งแต่ต้นนํ้าปลายนํ้า”

บรรยายถึงความก้าวหน้าของโครงการ “นาแปลงใหญ่” ซึ่งเป็นโครงการเอกของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีจุดมุ่งหมายในการที่จะชักชวนให้ เกษตรกร มารวมกลุ่มกันเพื่อจัดการทั้งด้านการปลูกหรือการผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายหลังปลูกหลังผลิตแล้ว

นั่นก็คือเอานาเล็กๆ หลายๆ แปลงมารวมเป็นนาผืนใหญ่ขึ้น เวลาผลิตก็สามารถจะใช้เครื่องมือผลิตร่วมกันได้ เช่น รถไถ รถเก็บเกี่ยวข้าว หรือแม้แต่การรวมตัวกันไปซื้อปุ๋ยซื้อพันธุ์ข้าวก็จะใช้เงินน้อยลง เพราะซื้อได้เป็นลอตใหญ่ๆ ราคาย่อมถูกกว่าซื้อลอตเล็กๆ อยู่แล้ว

ในการจำหน่ายก็ถือว่ามีพลังต่อรองสูง จะไม่เสียเปรียบพ่อค้าคนกลาง ซึ่งบ่อยครั้งมีการจับมือกันมาซื้อแบบกดราคา

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการรวมตัวในทุกรูปแบบของเกษตรกรอยู่แล้ว และเขียนให้กำลังใจมาโดยตลอด จึงขอสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่

แต่ที่ผมตั้งใจจะเขียนถึงในวันนี้เป็นเรื่องความหลังส่วนตัวในอดีตของผมอยู่เรื่องหนึ่งครับ…น่าจะประมาณปี 2517 ผมไปอ่านข่าวเจอว่า โสเภณี แถวๆ โรงแรมย่านวิสุทธิ์กษัตริย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า งาน ของเธอหนักมาก จากการถูกหลอกมาประกอบอาชีพนี้

โดยเฉพาะในเทศกาลตรุษจีน (ของสมัยโน้น) เธอจะต้องรับแขก ที่ได้เงินแต๊ะเอียแล้วมาเที่ยวโรงแรมวันละ 20-30 ราย โดยเฉพาะวัน “ชิวอิ๊ด” นั้น สูงถึง 30 ราย หรือ 30 ประตูเลยทีเดียว

ผมก็จับประเด็นมาเขียนล้อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า พัฒนากันอย่างไรหนอ เกษตรกรถึงยากจนลงทุกขณะ ต้องจำนองที่นาต้องขายที่นาออกไปบุกรุกถางป่าเพื่อหาที่ทำกินใหม่ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ลูกหลานชาวนาซึ่งพ่อแม่ขายที่นาไปหมดแล้ว ยังต้องกระเสือกกระสนมาขาย “นาแปลงน้อย” ของตนเองอีกด้วย มาทั้ง โดนหลอกลวง แต่ก็มีไม่น้อยที่มาด้วยความสมัครใจเพราะไม่มีทางเลือก

เปรียบเทียบว่าการรับแขกในเทศกาลตรุษจีนของโสเภณีดังกล่าวนั้นคือการทำนา “แปลงน้อย” นั่นเอง

โดยบัญญัติศัพท์ใหม่ “นาแปลงน้อย” ให้หมายถึง ที่ดินผืนเล็กๆ ที่ติดตัวลูกสาวชาวไร่ชาวนาทั่วประเทศมาแต่กำเนิด

ปรากฏว่าถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่าเป็น “ไวรัล” ไปเลยครับ เพราะ คำว่า “นาแปลงน้อย” กลายเป็นคำที่ฮิตทั่วประเทศขึ้นมาในชั่วข้ามคืน

โดยเฉพาะ “ลำตัด” ยุคนั้นมีข่าวว่านำไปใช้เป็น “มุก” เรียกเสียงฮาอยู่หลายคณะเลยทีเดียว

ผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้เรายังมีปัญหาทำนา “แปลงน้อย” หรือปัญหาโสเภณีอยู่อีกหรือไม่ เพราะดูตัวเลขแหล่งบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะโรงอาบอบนวด หรือโรงแรมที่เคยมีชื่อเสียงในเรื่องนี้ดูจะหายๆ ไป

นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านเราก็มาดูมาเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม หรือชมธรรมชาติหาดทราย สายลม แสงแดดของบ้านเรา มิได้มีข่าวว่า มามั่วสุมทางเพศท่าเดียวดังเช่นยุคโน้น

ผมหวังว่าลูกสาวชาวนาชาวไร่ หรือลูกสาวคนยากคนจนยุคนี้ คงไม่มีใครต้องมาทนทุกข์ทรมาน “ทำนาแปลงน้อย” กันอีกแล้วนะครับ

ขอให้คำว่า “นาแปลงน้อย” หายไปจากประเทศไทย และขอให้ “นาแปลงใหญ่” ตามโครงการของกระทรวงเกษตรฯ จงประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ตามที่ตั้งเป้าไว้นะครับ.

“ซูม”

อ่านข่าว, นาแปลงใหญ่, พลันนึกถึง, นาแปลงน้อย, การเมือง, โครงการ, แจกเงิน, ดิจิทัล, เกษตรกร, ข่าว,​ ซูมซอกแซก