คนไทย “ตาย” มากกว่า “เกิด” 60 ปีข้างหน้าเหลือ 33 ล้าน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง มีการประชุม “คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ” ของกระทรวงสาธารณสุข และมีการเผยแพร่ผลการประชุม พร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับ “ประชากร” ของประเทศไทยในอนาคตที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอ ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งออกมาแถลงด้วยตนเองระบุว่า อัตราการลดลงของเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤติแล้วในช่วงนี้

เพราะจากเดิมที่เคยมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วง 2506-2526 นั้น ปรากฏว่าลดลงเหลือแค่ 485,085 คนเท่านั้น จากตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2564

ขณะที่จำนวนการตายในปีเดียวกัน หรือ 2564 อยู่ที่ 550,042 คน ทำให้ยอดการตายสูงกว่าการเกิดสุทธิถึง 64,957 คน

ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้โดยตลอด คือตายมากกว่าเกิดย่อมจะส่งผลให้ประชากรไทยโดยรวมค่อยๆ ลดลงไปด้วย

ในการนี้ท่านศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากร ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน ได้ขยายความเพิ่มเติม โดยใช้ตัวเลขคาดการณ์จากแบบจำลองสรุปได้ว่า ใน 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยทั้งหมดจะลดจำนวนจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ประชากร “วัยแรงงาน” หรือผู้มีอายุระหว่าง 15-64 ปี ก็จะลดจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน

ส่วนประชากร วัยเด็ก อายุ 0-14 ปี จะลดจาก 10 ล้านคนในปัจจุบันเหลือเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น…แต่ในทางตรงข้าม ประชากรสูงวัย ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป กลับจะเพิ่มพรวดจาก 8 ล้านคน ณ บัดนาวเป็น 18 ล้านคน ณ บัดนู้น

ผมอ่านถ้อยแถลงทั้งหมดของคุณหมอชลน่าน และท่านศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ จากสื่อสังคมออนไลน์บางสำนัก แล้วก็บังเกิดความหวั่นไหว…ตื่นเต้นและตระหนกถึงปัญหาที่จะเกิดใน 60 ปีข้างหน้า

แต่พอมาตรวจสอบในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าไม่มีฉบับใดเท่าที่ผมรับอยู่ 3 ฉบับตื่นเต้นเลย

นำลงเป็นข่าวหน้าในพาดหัวตัวเล็กๆ แทบทั้งสิ้น

หัวใหญ่หน้า 1 ยังคงเป็นเรื่อง “แจกเงินดิจิทัล” ว่าจะแจกหรือไม่แจก? แจกได้เมื่อไร? แจกอย่างไร? เอาเงินมาจากไหน? เหมือนเดิม

ก็ไม่เป็นไรครับ…สื่อมวลชนเขาก็พาดหัวข่าวเสนอข่าวไปตามที่เขาคาดว่าประชาชนจะสนใจเรื่องไหนมากกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว

สำหรับเรื่องประชากรของประเทศไทยที่จะลดลงเหลือแค่ 33 ล้านคน ใน 60 ปีนั้นไกลตัวเหลือเกิน จะมีใครในยุคนี้อยู่ถึงสักกี่คนก็ไม่รู้ได้

เอาเป็นว่ากระทรวงสาธารณสุขนั่นแหละจะต้องรับไป และไปดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้ประชากรไทยเพิ่มขึ้นให้จงได้

เหมือนปี 2515-2519 ช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 3 ของประเทศไทย อัตราการเพิ่มของประชากรไทยสูงมากถึงร้อยละ 3.2 ต่อปี ขืนปล่อยไว้ประชากรล้นประเทศแน่ จึงออกมาตั้งเป้าหมายว่าจะลดอัตราเพิ่มให้เหลือ 2.5 ให้ได้ เมื่อสิ้นแผนพัฒนาฉบับ 3

ผู้เสนอว่าปัญหาประชากรเพิ่มสูงจะเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ จำเป็นต้องลดอัตราการเพิ่มลงให้มีขนาดครอบครัวที่เหมาะสม ก็มาจากกระทรวงสาธารณสุขนี่แหละ

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขยุคดังกล่าวจึงขันอาสาเป็นแม่งานในโครงการ “วางแผนครอบครัว” โดยมีภาคประชาชน เช่น องค์กรของคุณ มีชัย วีระไวทยะ มาเป็นผู้สนับสนุนด้วยในการปฏิบัติ

โดยผมเองก็มีส่วนในการช่วยประชาสัมพันธ์เขียนกระตุ้นและเชิญชวน พี่น้องประชาชน ให้หันมาวางแผนครอบครัวผ่านคอลัมน์นี้เป็นระยะๆ

ผลปรากฏว่า การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ได้ผลตามเป้าและอาจทะลุเป้าด้วยซ้ำ เพราะทำให้อัตราเกิดของคนไทยลดฮวบลงจากที่เคยกลัวจะมีประชากร “ล้นประเทศ” กลายเป็นกลัวว่าประชากรจะน้อยเกินไปเสียแล้วในอนาคต

ดังนั้น จึงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขอีกนั่นแหละครับ ที่จะต้องโชว์ฝีมือให้สุดฤทธิ์ให้คนไทยหันมาแต่งงานมากขึ้น และมีบุตรมากขึ้น เพื่อหาทางเพิ่มจำนวนประชากรของเรา

เอาน่า ตอนลดยังทำให้ลดได้ ถึงตอนจะกลับมาเพิ่มก็ต้องเพิ่มได้ซีน่า…ผมยังเชื่อมือกระทรวงสาธารณสุขนะครับ.

“ซูม”

คนไทย, ตาย, มากกว่า, เกิด, 60 ปี, ข้างหน้า, เหลือ 33 ล้าน, ประชากร, ไทย, เด็กเกิดใหม่, วางแผนครอบครัว, ข่าว, ซูมซอกแซก