โรงพักในฝัน

อ่านข่าวหน้า 1 ว่าด้วยเรื่องราวของ “โปลิศจับตำรวจ” แทนที่จะเป็น “โปลิศจับขโมย” ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและข่าวออนไลน์ทุกสำนักแล้ว….ส.ว.หรือผู้สูงอายุอย่างผมก็อดนึกถึงข้อเสนอที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยเสนอความคิดเห็นไว้เมื่อ 50 ปีก่อนโน้นเสียมิได้

นั่นก็คือโครงการ “โรงพักในฝัน” ที่เสนอโดยท่านผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอก วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ที่โชคชะตาฟ้าลิขิตให้มาดำรงตำแหน่งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์ “วันวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปไม่กี่วัน

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมตำรวจอย่างกะทันหัน เนื่องจาก จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิบดีกรมตำรวจอีกตำแหน่ง ถูกขับไล่ออกจากประเทศ ทำให้ทุกตำแหน่งที่ท่านครองอยู่ว่างลง

โดยที่ตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจเป็นตำแหน่งที่สำคัญยิ่ง รัฐบาลของท่าน อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ จึงแต่งตั้งให้ พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร จากกองทัพบก มาดำรงตำแหน่ง หลังจากเหตุการณ์สงบลงเพียง 2 วัน และจากนั้นอีก 2-3 วันเช่นกัน ก็ได้แต่งตั้ง พลตรี วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีตำรวจอีกท่านหนึ่ง

พลตรีวิฑูรย์มีฉายาที่รู้จักกันดีในแวดวงทหารและนักข่าว พ.ศ.นั้น ว่า “หัวหน้าเทพ” หรือ “เทพ 333” ในฐานะผู้บังคับการกองผสมที่ 333 ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษที่ไม่เปิดเผยชื่อกำลังพล

ทั้ง 2 ท่านเป็นคนใหม่ของกรมตำรวจไทย จึงเชื้อเชิญพวกเราจากไทยรัฐไปรับประทานอาหารค่ำมื้อหนึ่งที่บ้านอธิบดีประจวบ แถวๆ สุขุมวิท ซึ่งทั้ง 2 ท่าน คาดหมายว่าพวกเราจะคุ้นเคยหรือรู้ปัญหาตำรวจมากกว่าท่านจึงอยากจะเชิญพวกเราไปให้ความรู้

ผมโชคดีมีโอกาสไปนั่งร่วมฟังการเสวนาแกล้มอาหารค่ำครั้งนั้นกับเขาด้วย ยังจดจำข้อสรุปจากการรับประทานไปคุยไปซึ่งเป็นความคิดของท่าน “ผู้ช่วยวิฑูรย์” ได้อย่างดียิ่งมาจนถึงวันนี้

การเสวนาเริ่มจากการกล่าวถึง “ปัญหา” ของตำรวจซึ่งมี 108 พันประการ จนได้ฉายาว่าเป็น “นักรีด” บ้าง “นักไถ” บ้าง “นักตบ (ทรัพย์)” บ้าง จากประชาชนชาวไทยทั่วไปใน พ.ศ.ดังกล่าว (2516)

จากนั้นผู้ช่วยวิฑูรย์ท่านก็เสนอความคิดว่า ท่านอยากจะจัดตั้ง “โรงพักในฝัน” ขึ้นมาสัก 2-3 โรงพัก จะคัดเลือกนายตำรวจน้ำดีไม่โกงไม่กินไม่รีดไม่ไถ–เริ่มตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละโรงพัก ลงไปจนถึงตำรวจชั้นประทวนและพลตำรวจในระดับล่างๆ

ท่านมองว่าเมื่อเลือกคนดีมาอยู่ด้วยกันก็จะตั้งใจทำดีร่วมกัน อันจะเป็นผลให้โรงพักดังกล่าวนั้นมีแต่ตำรวจดี ทั้งเก่งในด้านการปราบปราม การสืบสวนสอบสวน และไม่โกงไม่กิน ไม่รีด ไม่ไถ เป็นที่ชื่นชมแก่ประชาชน

ท่านเสนอด้วยว่า ตำรวจรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะระดับสัญญาบัตรจากโรงเรียนนายร้อย หรือระดับชั้นประทวนจากโรงเรียนพลตำรวจ ก่อนจะส่งไปโรงพักอื่นให้มาฝึกงาน มาดูงานที่นี่ก่อน และให้ทำงานไปสักพักใหญ่ๆเพื่อให้ได้เชื้อความดีติดตัวไปเหมือนฉีดวัคซีน

เพราะหากเรียนจบปุ๊บส่งไปโรงพักตำรวจเลย ก็จะโดนตำรวจของโรงพักเก่าๆ ที่เป็นโรคสารพัดที่ประชาชนรังเกียจอยู่ทั้งโรงพักแล้ว “กลืน” ไปหมด แม้ว่าจะฝึกอบรมบ่มนิสัยอย่างดีมาจากโรงเรียนตำรวจก็จะถูกกลืนจนไม่มีอะไรเหลือ

แต่ถ้ามาฉีด “วัคซีน” ความดีงามสักระยะหนึ่งที่โรงพักในฝันของท่าน…ก็อาจจะทำให้ตำรวจใหม่ๆ เหล่านั้นมีภูมิคุ้มกันตัวเอง

แน่นอนในระหว่างพูดคุยพวกเราก็มีความเห็นเสนอแนะท่านมากมาย รวมไปถึงข้อห่วงใยว่า ท่านจะทำไม่ได้เสียตั้งแต่ต้น–เพราะอาจไม่มีตำรวจดีๆมาเป็น “ต้นแบบ” ได้ครบทั้งโรงพักอย่างที่ท่านหวังไว้

แต่โดยสรุปของสรุป พวกเราก็เห็นว่าน่าจะ “ลองดู” เพราะอย่างไรเสียก็ดีกว่าไม่คิดอ่านแก้ไขปรับปรุงอะไรเสียเลย

น่าเสียดายที่ท่านวิฑูรย์อยู่ช่วยกรมตำรวจได้เพียงปีเศษๆ ก็ต้องกลับกองทัพ และระหว่างอยู่กรมตำรวจก็มีงานปราบปรามและงานรักษาความสงบจนแทบไม่ได้ทำอย่างอื่น เพราะผู้ที่ลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศในช่วง 14 ตุลาเริ่มทยอยกลับมา

หลังจากยุคพลตำรวจเอกประจวบ และพลตำรวจเอกวิฑูรย์แล้วก็มีแนวคิด “แก้ไขปรับปรุง” กรมตำรวจเกิดขึ้นมาโดยตลอดจากรัฐบาลชุดต่างๆ ตั้งแต่ใช้คำง่ายๆว่า “แก้ไขปรับปรุง” ไปจนถึงใช้คำที่ยากขึ้น และดูขลังขึ้น คือคำว่า “ปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งยังใช้อยู่ถึงปัจจุบันนี้

ครับจาก พ.ศ.โน้นถึง พ.ศ.นี้ จะ 50 ปีอยู่แล้ว…ผมนั่งอ่านข่าวหน้า 1 ครั้งใดก็รู้สึกท้อใจครั้งนั้น––เพราะปัญหาตำรวจไทยยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของชาติอยู่เหมือนเดิม คงอีกนานครับกว่าโครงการ “โรงพักในฝัน” ของท่านวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ (ซึ่งล่วงลับไปแล้ว) จะเป็นความจริง.

“ซูม”