บทบาท “นายกฯน้อย” จาก “ประสงค์” ถึง “หมอมิ้ง”

ในระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติคณะรัฐมนตรี โดยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯอยู่นี้ เราคงจะได้ยินข่าวการเตรียมตัวและการประชุมโน่นนี่ในลักษณะทำงานล่วงหน้าของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน บ่อยครั้ง

โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยนั้น ท่านนายกฯ เศรษฐาถึงขนาดบินไปพูดคุยหาข้อมูลกับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่ จังหวัดภูเก็ต ด้วยตนเอง และก็ยังมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารสายการบินต่างๆ ที่ห้องประชุมพรรคเพื่อไทยอีกครั้งในวันต่อมา

ตลอดการประชุมและการดูงานเรื่องนี้ นอกจากจะมี “ว่าที่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ร่วมประชุมและร่วมเดินทางไปด้วยแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งปรากฏตัวเคียงข้างนายกรัฐมนตรีอยู่ตลอดเวลา

ได้แก่ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ “หมอมิ้ง” นักการเมืองอาวุโส คู่บารมีของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

มีข่าวแพร่สะพัดมาตั้งแต่แรกแล้วว่า “หมอมิ้ง” ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการนโยบายของพรรคเพื่อไทย จะเข้ามารับตำแหน่ง “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่ผู้สื่อข่าวในอดีตเคยเรียกว่า “นายกฯ น้อย” หรือนายกฯ เงา หรือนายกฯ คนที่ 2 ที่สามารถตัดสินใจ และสั่งการแทนนายกรัฐมนตรีได้ในบางเรื่อง

รวมไปถึงการเป็นสมองเป็นความคิดทางด้านนโยบายต่างๆ ที่อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่นายกรัฐมนตรี เพื่อการตัดสินใจครั้งสุดท้าย ก่อนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามข้อเสนอที่กระทรวงหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเสนอมาให้นายกฯตัดสินใจ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ใช่ว่าจะเป็นนายกฯ น้อยไปเสียหมดทุกคน…

ย้อนกลับไปสู่ยุค “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีเพียง 2 ท่านเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องว่า เป็น “นายกฯ น้อย”…ได้แก่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ตามที่มีการบันทึกไว้

แต่ในความทรงจำของผมเองจะหนักไปในทาง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ มากกว่า เพราะท่านมหาจำลองจะทำงานไปอย่างเงียบๆ เรียบๆ ไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก

ต่างกับ น.ต.ประสงค์ซึ่งจะมีการพูดให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ทำให้บทบาทการเป็น “นายกฯ น้อย” ค่อนข้างโดดเด่น และเป็นที่จดจำจนถึงบัดนี้

ต่อมาในยุค นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ราวๆ พ.ศ.2544 ซึ่งตั้ง “หมอมิ้ง” หรือ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช มาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่ปีเศษๆ ก่อนจะส่งขึ้นไป รองนายกรัฐมนตรีในภายหลัง

เท่าที่จำได้ “หมอมิ้ง” ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญและมีการให้สัมภาษณ์แทนนายกฯ ทักษิณในบางเรื่อง เข้าลักษณะ “นายกฯ น้อย” มากกว่าเลขาธิการนายกฯท่านอื่นๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

มาถึงยุคปัจจุบัน…ดูจากบทบาทที่ภูเก็ตและในการประชุมกับผู้บริหารสายการบินเมื่อ 2 วันก่อน น่าจะอนุโลมได้ว่า “หมอมิ้ง” จะมารับบทบาท “นายกฯ น้อย” ให้กับ นายกฯเศรษฐา ค่อนข้างแน่

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า นายกฯ เศรษฐา จะปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิด และยอมรับความคิดหมอมิ้งมากน้อยเพียงใด รวมทั้งในที่สุดแล้วจะเป็นคู่บารมีกันต่อไปจนครบ 4 ปีหรือไม่

เพราะถ้าย้อนกลับไปยุคป๋าเปรมอีกครั้ง จะเห็นว่าป๋าท่าน “อาวุโส” และมีบารมีมหาศาลมากกว่า “มหาจำลอง” หรือ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” อย่างชนิดไม่สามารถบรรยายได้…ดังนั้น หากจะแบ่งรัศมีความเป็นนายกฯไปให้ “เลขาฯ” ทั้ง 2 รายของท่านบ้างก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ตรงข้ามกับนายกฯ เศรษฐา เหมือนพระบวชใหม่ทางการเมือง อ่อนทั้งพรรษาและบารมี ตรงนี้แหละที่จะต้องระมัดระวังให้ดีและต้องขีดเส้นการทำงานให้ชัดเจน…อย่าให้เกิดภาพนายกฯน้อยมีบารมีเหนือกว่า หรือเก่งกว่านายกฯ ใหญ่อย่างเด็ดขาด

ก็ฝากไว้เป็นข้อคิดเท่านั้นเอง เพราะจริงๆ แล้วผมเห็นด้วยนะครับ กับระบบนี้ เนื่องจากจะได้แบ่งๆ งานกันทำ อะไรที่ไม่สำคัญมากนัก นายกฯ น้อยก็เหมาไปได้เลย

เพียงแค่ต้องระวังไว้หน่อย งานอะไรที่สำคัญและมีหน้ามีตาต้องยกให้นายกฯ ใหญ่นะครับ อย่าทำเองเด็ดขาด…จะได้อยู่เป็นนายกฯ ใหญ่นายกฯ น้อยคู่บารมีกันต่อไปได้ครบ 4 ปี ดังที่คาดหวังไว้.

“ซูม”

บทบาท “นายกฯน้อย” จาก “ประสงค์” ถึง “หมอมิ้ง”, นายกรัฐมนตรี, เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ข่าว, ซูมซอกแซก