“ประวัติศาสตร์” อเมริกัน วิชา “บังคับ” ของอเมริกา

เขียน “ซีรีส์” เรื่องวิชาประวัติศาสตร์มาได้ 3 วัน ขณะกำลังนึกว่าจะเขียนวันที่ 4 ด้วยเรื่องอะไรดีนั้น ก็ได้รับข่าวสารจาก “ไลน์” ของเพื่อนเก่ารายหนึ่ง

ทำให้นึกขึ้นมาได้ทันทีว่า ควรจะเขียนเรื่องการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกานี่แหละ เพราะเพื่อนรายนี้เคยเรียนปริญญาตรีที่โน่น และถูกบังคับให้เรียน “ประวัติศาสตร์อเมริกัน” มาแล้ว

คุณ ธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวางแผนซี 11 ของสภาพัฒน์ เมื่อ 20 กว่าปีก่อนโน้น เพื่อนใกล้ชิดสนิทสนมของผมคนหนึ่งนั่นเอง

ท่านผู้ทรงคุณวุฒิธรรมรักษ์ ซึ่งได้รับการเลือกจากสมาชิก สมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคม แจ้งข่าวสารมาว่าสมาคมของท่านจะจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน ด้วยวิธีการ OD (Organizational Development) ระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรม ริชมอนด์ รัตนาธิเบศร์ ค่าลงทะเบียน 4,500 บาท

ท่านบอกว่ายังมีที่ว่างเหลืออยู่บ้าง ขอเชิญผู้สนใจเข้ารับการอบรม โทรศัพท์ไปหารือที่ฝ่ายเลขานุการ คุณศรีกัญญา หมายเลขโทรศัพท์ 09-4973-4441 ได้ตั้งแต่บัดนี้

คุณธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ เป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์รุ่นที่ 12 แต่ระหว่างเรียนปี 2 ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา และกลับมารับราชการที่สภาพัฒน์อยู่ระยะหนึ่ง ก็ได้ทุนไปเรียนโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ วิลเลียมส์ คอลเลจ แล้วกลับมารับราชการต่อ พร้อมกับเกษียณอายุที่สภาพัฒน์ด้วยตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ 11 ด้านการวางแผนดังกล่าว

ผมจำได้ว่าช่วงที่เราเข้าทำงานใหม่ๆ ด้วยกัน และออกตระเวนสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมทั่วประเทศด้วยกันนั้น คุณธรรมรักษ์มักจะท่องคำประกาศอิสรภาพแห่งสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ให้พวกเราฟังอยู่เสมอ หลังดื่มเบียร์ไปสัก 2-3 แก้ว

คุณธรรมรักษ์บอกว่า ถูกบังคับให้ท่องเพราะต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์อเมริกัน ซึ่งเป็น 1 ในวิชาภาคบังคับของมหาวิทยาลัยตอนเรียนปริญญาตรี จึงจำติดสมองกลับมาเมืองไทย

ผมยังนึกในใจว่า ถ้าเราไปเรียนคงตกแน่ เพราะภาษาอังกฤษไม่แตกฉานนัก จะไปท่องคำ “ร้อยแก้ว” ยาวๆ และยากๆ อย่างคำประกาศ อิสรภาพของสหรัฐฯ ที่ว่านี้ได้อย่างไร

ครับ…ขอขอบคุณคุณธรรมรักษ์ที่มาฝากข่าวผมพอดีกับจังหวะที่ผมเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ไทย…ทำให้นึกขึ้นได้ถึงเรื่องเก่าๆ ที่คุณธรรมรักษ์เล่าให้ฟังถึงการเรียนวิชาประวัติศาสตร์อเมริกันในอดีต

เมื่อไม่นานนี้เอง ผมมีโอกาสอ่านบทความในเพจ “โอเคเนชั่น” เขียนถึงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุใจความสำคัญว่า วิชาประวัติศาสตร์อเมริกันเป็นวิชาที่เขา “เน้น” อย่างมาก ในโรงเรียนมัธยมเมืองลุงแซม

วิธีการสอนประการหนึ่งของเขาก็คือ การให้เขียนรายงาน โดยฝึกให้เด็กนักเรียนอ่านและเขียนรายงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเขาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นหน่อยก็จะเพิ่มวิธีรายงานจากข้อเขียนเป็นการออกไปแถลงหน้าชั้น คือเล่าให้ฟังด้วยปากควบคู่ไปด้วย

บางเมืองของบางรัฐจะมีการประกวดทั้งข้อเขียนและการรายงานด้วยคำพูด มีการมอบรางวัลจากเมืองหรือเขตท้องที่ให้แก่นักเรียนและโรงเรียนที่ชนะการแข่งขัน

การสอนแบบทั้งอ่าน ทั้งเขียนรายงาน ทั้งพูดจาปราศรัย ทำให้เด็กนักเรียนรู้ประวัติศาสตร์อเมริกา เมื่อรู้แล้วก็รักอเมริกา และเติบใหญ่เป็น พลเมืองที่รักชาติบ้านเมือง เห็นได้ชัดในเหตุการณ์เครื่องบินก่อการร้ายชนตึกเวิลด์เทรด คนอเมริกันต่างพร้อมใจแสดงออกซึ่งความรักชาติทั่วประเทศ

ขอขอบคุณ บทความใน โอเคเนชั่น เป็นอย่างสูง และก็ถือโอกาสนำมาฝากกระทรวงศึกษาบ้านเรา เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ เพื่อการเรียนการสอนของเราบ้าง

มีคนถามว่าจะช้าไปไหม? สายไปไหม? เพราะเด็กไทยเราทุกวันนี้ถูกป้อนข้อมูลผิดๆ จนความรักชาติรักแผ่นดินแปรเปลี่ยนไปเป็นอันมาก

ผมยังเชื่อว่าไม่สายครับ…ที่เป็นไปแล้วก็ให้เป็นไป…แต่เด็กๆ ที่เหลือของเรายังมีเวลาและโอกาส…ถูกต้องแล้วครับ สพฐ.ที่หันมาเริ่มต้นสอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างเอาจริงเอาจังกันอีกครั้ง.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

"ประวัติศาสตร์" อเมริกัน วิชา "บังคับ" ของอเมริกา, วิชา,​ ประวัติศาสตร์ไทย, สพฐ., โรงเรียน, กระทรวงศึกษา, ข่าว, ซูมซอกแซก