35 ปี “แฟนธอม” ลาแล้ว! “บรอดเวย์”

เมื่อเกือบๆ เที่ยงคืนของคืนวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน หรืออาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศ ไทย 11 ชั่วโมงในขณะนี้

ละครเวทีประเภท “ละครเพลง” หรือที่เรียกกันว่า “มิวสิคัล” เรื่องยิ่งใหญ่ที่โด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลก “The Phantom of the Opera” ก็ได้เวลา “ลาโรง” ปิดฉากการแสดงรอบสุดท้าย ณ โรงละครมาเจสติก ย่านบรอดเวย์ไปเป็นที่เรียบร้อย

หลังจากยืนหยัดเปิดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมปี 1988 (พ.ศ.2531) รวมแล้วประมาณ 35 ปีกับ 2 เดือนเศษ แสดงไปทั้งหมด 13,981 รอบ ทำสถิติ “ละครเพลง” ที่แสดงเป็นเวลายาวนานที่สุดของบรอดเวย์ ทิ้งห่างอันดับ 2 อันได้แก่เรื่อง “Chicago” ที่เคยทำสถิติไว้ 10,337 รอบ ไปถึง 3,644 รอบ รวมทั้งเหนือกว่าอันดับ 3 ละครเรื่อง “The Lion King” ที่แสดงไว้ทั้งหมด 9,953 รอบ ถึง 4,128 รอบ

น่าจะเป็นสถิติที่จะคงอยู่และยากแก่การทำลายต่อไปอีกนานแสนนาน

หัวหน้าทีมซอกแซกซึ่งดูละครเรื่องนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ก็ไม่เคยดูที่นิวยอร์กเลย เพราะครั้งแรกที่ดูและนำมาเขียนในคอลัมน์นี้ด้วย (น่าจะประมาณ พ.ศ.2537 หรือไม่ก็ 2538) นั้นเป็นการดูที่โรงละครต้นตำรับ Her Majesty’s Theatre ณ ย่านเวสต์เอนด์ มหานครลอนดอน

โดยความอนุเคราะห์ของเจ้าสัว ระวิโหลทอง เจ้าพ่อ สยามสปอร์ต ที่เชิญเพื่อนๆ พี่ๆ รุ่นเก่าของเขาจาก ไทยรัฐ ไปดูฟุตบอลอังกฤษแล้วพาไปดูละครเรื่องนี้เป็นของแถม

หัวหน้าทีมหลับไปเกือบครึ่งหนึ่ง เพราะเวลาแสดงที่อังกฤษตรงกับเวลานอนของประเทศ ไทย แต่พอตื่นขึ้นก็หายง่วงและตื่นตาตื่นใจ บังเกิดความประทับใจใหญ่หลวง จนต้องไปเข้าคิวซื้อ ซีดีเพลง กับเขาด้วยหลังจบการแสดง

จากนั้นก็ไปดูซ้ำอีกหนที่ลอนดอนเมื่อ พ.ศ.2542-2543 ซึ่งคราวนี้ได้ดูอย่างเต็มตาตั้งแต่ต้นจนจบ (ด้วยความประทับใจมากกว่าเดิม)

สำหรับครั้งที่ 3 ดูในประเทศไทยเรานี่แหละครับ จากการเดินสายมาแสดงของตัวละครชุด “สำรอง” ที่ออกเดินทางทั่วโลก แล้วแวะมาแสดง ที่ โรงละครรัชดาลัย ของ คุณบอย ถกลเกียรติ ด้วย ซึ่งแม้จะใช้ “ผู้เล่นสำรอง” แต่ก็เล่น (หมายถึงแสดง) ได้ดีไม่แพ้ตัวจริง สร้างความประทับใจให้แก่แฟนละครเมืองไทยอย่างมาก เรียกเสียงปรบมือยาวนานเมื่อแสดงจบ

หัวหน้าทีมเกือบจะได้ดูที่ บรอดเวย์ อยู่ครั้งหนึ่งจำไม่ได้ว่า พ.ศ.ไหน แต่ก็น่าจะหลัง พ.ศ. 2540 ไปแล้วช่วงที่ การบินไทย สายการบินแห่งชาติของเราเปิดเที่ยวบิน “บินตรง” แบบไม่หยุดเลย จาก “กรุงเทพมหานคร” ถึงสนามบิน จอห์น เอฟ เคนเนดี และเที่ยวปฐมฤกษ์ได้เชิญสื่อมวลชนร่วมบินไปหลายคน รวมทั้งหัวหน้าทีมด้วย

ในโปรแกรมเขียนไว้ชัดเจนว่า จะพาไปดู “แฟนธอม” ที่โรงละคร Majestic Theatre หนึ่ง รอบในค่ำคืนหนึ่ง…แต่เอา
เข้าจริงๆ จองตั๋วไม่ได้ จึงต้องไปดูเรื่อง “Beauty and The Beast” แทน

จากนั้นแม้หัวหน้าทีมจะมีโอกาสไปนิวยอร์กอีกหลายครั้ง รวมทั้งครั้งหลังสุดไปทำข่าวการชิงแชมป์ “ซุปเปอร์โบว์ส” อเมริกันฟุตบอลครั้งที่ 48 เมื่อ ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) หรือ 9 ปีที่แล้ว ซึ่งมหานครนิวยอร์กเป็นเจ้าภาพ และสถานที่พักก็อยู่ใกล้ๆ บรอดเวย์ และเดินผ่านโรงละครมาเจสติกทุกคืนแต่ก็ไม่ได้เข้าไปดู เพราะไม่มีเวลาว่างเลย

อย่างไรก็ดีหัวหน้าทีมซอกแซกพบว่า ในปีดังกล่าว แม้การแสดงจะผ่านมาหลายปีแล้วนับจากการแสดงครั้งแรกที่โรงละครนี้ แต่แฟนๆ ก็ยังไปอุดหนุนอย่างหนาแน่น ยืนเข้าคิวรอประตูเปิดยาวเหยียดขณะเดินผ่าน

จึงรู้สึกใจหายอยู่พอสมควรที่ทราบข่าวว่า “เจ้าปีศาจแห่งโรงละคร” ซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่ง “เทพเจ้า” ของมหานครนิวยอร์กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มานิวยอร์กเป็นเวลายาวนานถึง 35 ปีเศษ จะต้องอำลาจากมหานครแห่งนี้ไปเสียแล้ว

สำหรับสาเหตุหลักที่จะต้องยุติการแสดงนั้น ก็มาจากอิทธิฤทธิ์ของ “โควิด-19” นั่นเอง เพราะในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างหนัก การแสดงและการบันเทิงต่างๆ ในนิวยอร์กต้องหยุดลงตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ยาวนานถึง 18 เดือน

ครั้นเมื่อโควิด-19 ซาลงกลับมาเปิดแสดงใหม่ได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เริ่มทวีขึ้นไปอย่างมาก ถึงร้อยละ 15 เพราะต้องมีมาตรการป้องกันหรือการเว้นระยะห่างทำให้ต้องจำกัดคนดูและคนดูเองก็ยังไม่ ค่อยกล้าไปโรงละคร รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เคยหลั่งไหลไปนิวยอร์กก็หายไปกว่าครึ่งด้วยซํ้า

ทำให้รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ส่งผลให้คณะผู้บริหารตัดสินใจ “ปิดฉาก” เพียงเท่านี้

เดิมทีตั้งใจจะยุติในเดือนกุมภาพันธ์แต่พอคนรู้ข่าวว่าจะเลิกแน่ก็แห่กันมาอุดหนุนแน่นทุกรอบ ทำรายได้กว่า 3 ล้านเหรียญในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งทางผู้บริหารก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องชั่วคราว คนดูมาดูเพราะทราบว่าจะเลิกรานั่นเอง

ในการแสดงรอบสุดท้ายที่บรอดเวย์มีดารานำแสดงที่เคยแสดงเป็นตัว “แฟนธอม” ตั้งแต่ปี 1988 มาร่วมด้วยถึง 18 ราย รวมทั้ง โฮวาร์ด แม็คกิลลิน ที่รับบท “ปีศาจ” มาถึง 2,500 รอบ เป็นสถิติยาวนานที่สุดที่ยังไม่มีใครลบได้

ผู้ประพันธ์เพลง แอนดรูว์ ลอยด์ มาร่วมในการแสดงวันสุดท้ายด้วย และกล่าวอำลาท่ามกลางนํ้าตาและเสียงปรบมือของแฟนๆ

หนังสือพิมพ์ USA-TODAY พาดหัวข่าวว่าคนดูนํ้าตาท่วมโรงในวันสุดท้าย แต่ก็ยังมีความหวังว่า ละครเรื่องนี้จะกลับมาอีกในอนาคต

อย่างไรดี สำหรับการแสดงที่ลอนดอน ซึ่งก็หยุดไปช่วงโควิดเช่นกันและได้กลับมาใหม่อีกครั้งเมื่อ 18 มกราคมปีนี้ ยังคงเปิดแสดงอยู่ที่โรงละคร Her Majesty’s Theatre ณ ย่านเวสต์เอนด์ ลอนดอน ตามรายงานข่าวล่าสุด

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ละครเรื่องนี้เริ่มแสดงครั้งแรกที่เวสต์เอนด์ ลอนดอน เมื่อปี 1986 ก่อนจะข้ามไปเปิดแสดงที่บรอดเวย์ ในปี 1988 จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อย่างน้อยการแสดงที่โรงดั้งเดิม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังคงมีต่อไป.

“ซูม”