“บาดแผล” จากรถไฟฟ้า ใน “ประโยชน์” ก็ย่อม “มีโทษ”

เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานข่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสาย “สีเหลือง” ช่วงลาดพร้าว-สำโรง แล้วเสร็จไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายน 2566 นี้

ผมฟังข่าวแล้วก็ปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก มองเห็นความสุขจากการขึ้นรถไฟฟ้าสายนี้ จากบ้านผมมาทำงานที่โรงพิมพ์ไทยรัฐ รออยู่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มาพอสมควรคงจะได้อ่านข้อเขียนในทำนองร้องทุกข์ระบายอารมณ์ ถึงความยากลำบากในการเดินทางจากบ้านผมที่บางกะปิมาโรงพิมพ์ไทยรัฐ ระยะทางไม่เกิน 15 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงในแต่ละเที่ยว

เนื่องจากมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าบนถนนลาดพร้าวไปจนถึงสี่แยกบางกะปิแล้วก็วกไปเข้าถนนศรีนครินทร์เลี้ยวต่อไปจนถึงสำโรง

ทำให้ผมต้องระหกระเหินไปใช้บริการของบีทีเอสกับแอร์พอร์ตลิงก์อย่างที่เคยเขียนเล่าไว้

เมื่อทราบข่าวว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะเสร็จแล้วและจะออกให้บริการได้แล้ว ซึ่งประกอบกับโควิด-19 เริ่มซา ผมซึ่งชอบนั่งเขียนหนังสือที่โรงพิมพ์และเริ่มจะเข้าโรงพิมพ์บ่อยขึ้น…จึงรู้สึกตื่นเต้นและปลื้มปีติใจเป็นล้นพ้นอย่างที่เกริ่นไว้

แต่ก็นั่นแหละครับ…ขึ้นชื่อว่าการพัฒนาหรือการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆต่างๆ แม้จะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บางอย่าง หรือหลายๆอย่าง…ทว่าในทางทฤษฎีมักจะเกิดผลเสียตามมาด้วยเสมอ

ดังนั้น ก่อนลงมือก่อสร้างหรือลงทุนในเรื่องใดๆ นักเศรษฐศาสตร์จึงมักจะต้องวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย ในทำนองว่าทำแล้วจะได้อะไรดีๆบ้าง หรือเสียอะไรไปบ้าง ต้องหักกลบลบกันแล้วได้มากกว่าเสียเยอะๆ จึงค่อยสร้าง

รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ด้วย ที่ผมเชื่อว่าก่อนการลงทุนก่อสร้างคงจะได้วิเคราะห์ผลดีผลเสียอย่างรอบคอบแล้วฃ

ผมเองอยู่ในฐานะที่จะได้รับผลดี เพราะต่อไปในวันข้างหน้าจะได้มีโอกาสใช้รถไฟฟ้าสายนี้ในการเดินทางมาทำงาน หรือเดินทางเข้าเมืองเพื่อปฏิบัติภารกิจ หรือแม้แต่จะไปท่องเที่ยวก็จะทำได้สะดวกขึ้น

แต่ใครบ้างล่ะที่จะเป็นผู้เสียหายหรือเสียประโยชน์จากการที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล่นผ่าน ซึ่งจะต้องมีอยู่ไม่น้อยอย่างแน่นอน

เมื่อวานนี้ผมก็เลยออกสำรวจคร่าวๆ ว่าเป็นใครบ้างจะได้ให้กำลังใจหรือเขียนขอบคุณในความเสียสละของประชาชนเหล่านั้น

ผมพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของตึกแถวในถนนลาดพร้าวต้องปิดตายไปเป็นแถบๆ ระหว่างก่อสร้างรางรถไฟฟ้ากลายเป็นตึกร้างไร้ผู้อยู่อาศัยบ้าง หรือต้องปิดร้านค้าแบบปิดตายไปตามๆ กันบ้าง

ตึกแถวบางช่วงปิดตายทั้งแถบ กลายเป็นสถานที่แสดง “จิตรกรรม” พ่นสีเป็นรูปและข้อความต่างๆ บนผนังตึกที่ตะไคร่นํ้าเกาะยาวเหยียด

ร้านอาหารอร่อยๆ หลายร้านที่ผมเคยเป็นแฟนประจำก็พลอยเลิกกิจการไปด้วย

ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อเปิดใช้รถไฟฟ้าแล้วตึกแถวและร้านค้าจำนวนมาก ที่ว่านี้จะกลับมาเปิดใหม่ได้หรือไม่ เพราะธุรกิจใหม่ 2 ฟากทางรถไฟฟ้าจะต่างไปจาก 2 ฟากถนนยุคเดิม

ถ้าบริเวณไหนขายที่ให้ทำ “คอนโด” ได้ก็ดีไป แต่บางบริเวณที่อยู่กลางสถานีมักจะขายไม่ออกและไม่มีคนซื้อไปทำคอนโดเลย…ก็ต้องขาดทุนปิดตัวกันไป แม้ประกาศขายก็ไม่มีคนมาซื้อ

ในฐานะผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากรถไฟฟ้า ผมขอขอบคุณผู้เสียสละทุกๆ ท่านบน 2 เส้นทางรถไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและอดีต โดยเฉพาะที่ถนนลาดพร้าวนะครับ

พร้อมทั้งขอส่งกำลังใจมาช่วยปลอบประโลมตึกแถวจำนวนไม่น้อยที่จะต้องเจ็บ และปิดตัวเองเป็นแถวๆ 2 ฝั่งทางรถไฟฟ้าด้วยความเห็นใจอย่างสูงยิ่ง ณ ที่นี้

ท้ายที่สุดก็ขอฝากรถไฟฟ้าสีเหลืองและทุกๆ สายไว้กับพี่น้องประชาชนด้วย…ช่วยขึ้น ช่วยใช้ ช่วยอุดหนุนกันด้วยนะครับ

ผมละห่วงจริงๆ ในที่สุดแล้วจะไม่ค่อยมีคนขึ้นและจะต้องขาดทุนย่อยยับเหมือนหลายๆ สายที่สร้างเสร็จไปแล้ว ขณะนี้…อันจะเป็นผลให้จะไม่คุ้มการลงทุนและความเสียหายจากรถติดระหว่างสร้าง รวมทั้งความเสียหายจากการที่ตึกแถว 2 ฟากทางจำนวนมากต้องกลายเป็นตึกร้างเอาน่ะซี.

“ซูม”

“บาดแผล” จากรถไฟฟ้า ใน “ประโยชน์” ก็ย่อม “มีโทษ”, รถไฟฟ้าสาย “สีเหลือง”, ลาดพร้าว, สำโรง, ตึกแถว, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก