ภารกิจ “วันวาเลนไทน์” แต่งงานแล้วต้อง “มีลูก”

เมื่อวานนี้ผมเขียนขอบคุณบรรดาเขตต่างๆ ใน กทม. รวมทั้งอีกหลายอำเภอของต่างจังหวัดทั่วประเทศ ที่จัดให้มีการจดทะเบียนสมรสใน “วันแห่งความรัก” 14 กุมภาพันธ์ 2566

โดยหวังว่า การจดทะเบียนสมรส จะมีส่วนช่วยให้ประชากรของไทยเราเพิ่มขึ้น มีเด็กใหม่ๆเกิดขึ้นในไม่ช้านี้…เพื่อแก้ปัญหาใหม่ล่าสุดของประเทศไทย

นั่นก็คือปัญหา “สังคมผู้สูงอายุ” อันเนื่องมาจากประเทศไทยเรา ทุกวันนี้มีผู้สูงอายุเกิน 20 เปอร์เซ็นต์เรียบร้อย

แต่ผมก็ยังเป็นห่วง เกรงว่าคู่บ่าวสาวที่มาจดทะเบียนสมรสในวันนี้ จะมุ่งหวังเอาฤกษ์เอาชัย และมุ่งหวังจะได้ข้าวของที่ระลึกเท่านั้น เมื่อสมรสกันแล้วก็มิได้ปฏิบัติหน้าที่ของคู่สมรสที่สมบูรณ์แบบ

คือไม่ยอมมีลูกสืบสกุล เพราะความยากลำบากในการเลี้ยงลูกในยุคใหม่ ที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่ายุคก่อนๆ หลายเท่า

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องนี้ต่อ เพราะเพิ่งค้นเจอตัวเลขที่น่าตกใจ เกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยเรา

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2565 ที่ผ่านมาหมาดๆ นี้เอง ประเทศไทยเรามีประชากรตามทะเบียนทั้งสิ้น 66,080,812 คน หรือ 66 ล้านคนเศษ

ขณะเดียวกันสถิติที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุข ก็ปรากฏว่าในปีเดียวกันนี้ มีคนเกิดทั้งสิ้น รวมทั่วประเทศไทยจำนวน 502,107 คน และมีคนเสียชีวิตทั้งสิ้น 595,963 คน

แสดงว่าคนไทยเราตายมากกว่าเกิดถึง 93,858 คน ในปี 2565 นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้วที่คนไทยตายมากกว่าเกิด (ปีแรกคือ 2564)

เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่า อัตราเกิดของคนไทยอยู่ที่ 7.6 ต่อ 1,000 คน และอัตราตายอยู่ที่ 8.9 ต่อ 1,000 คน ส่งผลให้อัตราเกิดติดลบที่ 1 เปอร์เซ็นต์

เท่ากับญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ ซึ่งกำลังมีปัญหา “ประชากรสูงอายุ” ที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นในปัจจุบันนี้

ที่ญี่ปุ่นนั้น ท่านนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เพิ่งแถลงต่อรัฐสภาเมื่อกลางเดือนมกราคมนี้เองว่า สถานการณ์ด้านประชากรของญี่ปุ่นอยู่ใน “ภาวะวิกฤติ” อย่างมาก จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เมื่อญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอันดับ 2 ของโลกที่มีประชากรสูงอายุเกิน 65 ปี และมีประชากรเกิดใหม่ตํ่ากว่า 800,000 คน ปีล่าสุด

อีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็คือ สาธารณะรัฐประชาชนจีนนั่นเอง หลังจากที่อัตราเกิดของประเทศลดลงมาเรื่อยๆ จนเป็นผลทำให้ในปี 2022 ที่ผ่านมา ประชากรจีนลดลงไป 850,000 คนจากปีก่อนหน้า และเป็นการลดครั้งแรกในรอบ 60 ปี

นักประชากรศาสตร์เชื่อว่า ของจีนจะยังลดต่อไปอีก หรือหากเพิ่มก็จะน้อยมาก ทำให้คาดว่าปี 2030 อีก 7 ปีจากนี้ ประชากรจีนจะอยู่ที่ 1,416 ล้าน และจะถูกแซงโดยอินเดีย ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่สูงกว่า

โดยในปีดังกล่าว (2030) ประชากรอินเดียจะกลายเป็น 1,528 ล้าน เป็นที่ 1 ของโลกแทนจีน

จริงๆ แล้ว ปัจจุบันนี้จำนวนประชากรของโลกยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะในขณะที่หลายประเทศมีการวางแผนประชากร (รวมทั้งจีน) แต่อีกหลายๆ ประเทศมิได้มีการวางแผนแต่อย่างใด

ประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่ รวมทั้งอินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ ประชากรจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแอฟริกาบางประเทศอาจเพิ่มถึง 1 เท่าตัวด้วยซํ้าในปี 2050

สำหรับไทยเราซึ่งเริ่มใช้นโยบายวางแผนครอบครัวมาตั้งแต่ พ.ศ.2015 ภายใต้สโลแกน “ลูกมากยากจน” ปรากฏว่าดำเนินการอย่างได้ผล และเกินเป้าหมาย กลายเป็นคนเกิดน้อยกว่าคนตายมา 2 ปีดังกล่าว

ผลก็คือ จากนี้ไปอีก 10 ปี ประเทศไทยซึ่งมีผู้สูงอายุ 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ (ถือว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว) จะมีประชากรผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือ 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรียกกันว่า “สังคมผู้สูงอายุสุดยอด”

จึงขออนุญาตนำข้อมูลและข้อคิดเหล่านี้มาฝากหนุ่มสาวที่จะจดทะเบียนสมรสวันนี้อีกครั้งหนึ่ง

อย่าแค่จดทะเบียนสมรสเฉยๆ นะลูก…ช่วยผลิตลูกผลิตหลานให้แก่ประเทศไทยด้วย…ไม่ใช่อะไรหรอก ชีวิตของลูกๆ ในวันนี้นั่นแหละที่จะลำบากมาก เมื่อไทยเราเป็น “ประเทศผู้สูงอายุสุดยอด” เต็มตัว.

“ซูม”

ภารกิจ “วันวาเลนไทน์” แต่งงานแล้วต้อง “มีลูก”, ความรัก, เทศกาล, คุมกำเนิด, จดทะเบียนสมรส, สังคมผู้สูงอายุ, ประชากร, ซูมซอกแซก