“เศรษฐกิจ–สังคม” ดีขึ้น เรียนรู้จาก “ขยะกระทง”

ผ่านไปแล้วนะครับเทศกาลลอยกระทง 2565 เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน…ซึ่งปรากฏว่าบรรยากาศสนุกสนานครึกครื้นทั่วประเทศ สมดั่งที่หลายๆ ฝ่ายคาดหมายล่วงหน้าไว้

โดยเฉพาะพาดหัวข่าวของไทยรัฐ กรอบล่วงหน้า เมื่อฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ย. อ่านแล้วก็เห็นภาพได้อย่างชัดเจนขออนุญาตคัดลอกมาลงไว้อีกครั้งหนึ่ง

“ไทย–ต่างชาติแน่นขนัด…ลอยกระทงคึกคักทั่วประเทศ” นี่คือหัวใหญ่ยักษ์ 3 ชั้น ตามด้วยหัวรองตัวเล็กลงหน่อยอ่านได้ใจความว่า

“หวนจัดหลังโควิดซา…ทั้งเผาเทียนเล่นไฟ…ม่วนยี่เป็งเชียงใหม่… บึงกาฬบูชาพญานาค เมืองกล้วยไข่ประชันนางนพมาศสาวสอง”

สำหรับบรรยากาศในกรุงเทพมหานคร แม้จะไม่มีการพาดหัวไว้ แต่จากการติดตามชมรายงานภาคข่าวจากโทรทัศน์ทุกช่องก็พบว่าสนุกสนานและผู้คนคึกคักเกือบทุกๆพื้นที่เช่นกัน

ต่อมาก็มีข้อมูลยืนยันจาก กทม. ในช่วงสายๆวันรุ่งขึ้น เมื่อวิทยุ หลายๆสถานีรายงานสถิติตัวเลขที่ กทม. ซึ่งดำเนินการเก็บขยะกระทงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ 2 ทุ่ม ถึงตี 5 จนเกลี้ยงจากแหล่งน้ำทุกแห่ง

พบว่าปีนี้หรือ 2565 มีผู้คนออกไปลอยกระทงมากกว่าปีกลายค่อนข้างเยอะ เก็บขยะกระทงได้ถึง 572,602 ใบ

เพิ่มจากปีที่แล้ว ซึ่งมีขยะกระทง 403,203 ใบ ถึง 169,367 ใบ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42

ถือว่าเพิ่ม “เยอะ” มากนะครับ ร้อยละ 42 ที่ว่าเทียบสถิติย้อนหลังไป 5 ปี ถึง พ.ศ.2561 พบว่าจำนวนขยะกระทงปีนี้สูงเป็นอันดับ 2 เลยทีเดียว…โดยปีที่มีการลอยสูงสุดได้แก่ปี 2561 นั่นแหละ มีขยะกระทงมากถึง 841,327 ใบ

เพราะเป็นปีที่เศรษฐกิจดีพอสมควรและโรคระบาดโควิด-19 ยังไม่มาเยือน พี่น้องประชาชนออกไปแสวงหาความสุขกันอย่างเต็มที่

ต่อมา 2562 ปลายๆ ปีเริ่มมีโควิด-19 แล้วคนออกมาเที่ยวและลอยกระทงลดลงไปมาก ทำให้ขยะกระทงลดไปเหลือ 502,024 ใบ ในปีดังกล่าว

มาถึงปี 2563 ซึ่งโควิดเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ ขยะจึงลดไปอยู่ที่ 492,537 ใบ และในปี 2564 ระบาดหลายระลอกทำให้ขยะกระทงลงไปเหลือแค่ 403,235 ใบ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ดังนั้นการที่ปีนี้กลับมาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 และกลับมาเกิน 570,000 ใบ ดังที่รายงานไว้ ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าประชาชนเริ่มออกมาเที่ยวกันแล้ว แม้จะยังไม่เท่ากับปี 2561 ซึ่งพีกมาก แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะฟื้นกลับมา

ซึ่งเมื่อตีความตัวเลขขยะกระทงในทางเศรษฐกิจก็น่าจะสรุปได้สั้นๆ ว่าเศรษฐกิจไทยเราเริ่มกระเตื้องแล้ว แต่จะกระเตื้องมากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามตัวเลขการประมาณการของจริงจาก จีดีพี กันต่อไป

หันมาดูในแง่สังคมบ้าง…ต้องขอบคุณที่ กทม. กรุณาแยกสถิติให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในบรรดาขยะกระทงที่เก็บได้นั้นเป็นกระทงประเภท “ย่อยสลาย” ได้มีกี่เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ “กระทงโฟม” ที่ย่อยสลายยากอาจใช้เวลาเป็นร้อยๆปีนั้นกี่เปอร์เซ็นต์

พบว่าปี 2561 ย่อยสลายง่าย 94.7 เปอร์เซ็นต์ โฟม 5.3 เปอร์เซ็นต์, ปี 2562 ย่อยสลายง่าย 96.3 เปอร์เซ็นต์ โฟม 3.7 เปอร์เซ็นต์, ปี 2563 ย่อยสลายง่าย 96.4 เปอร์เซ็นต์ โฟม 3.6 เปอร์เซ็นต์, ปี 2564 ย่อยสลายง่าย 96.5 เปอร์เซ็นต์ โฟม 3.5 เปอร์เซ็นต์ และปีนี้ย่อยสลายง่าย 95.7 เปอร์เซ็นต์ โฟม 4.3 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นต์การใช้กระทงโฟมลดลงตลอด แสดงว่าพี่น้องประชาชนคนลอยกระทงในกรุงเทพมหานครมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และให้ความระมัดระวังพวกขยะย่อยสลายยากมากขึ้น

ตัวเลข “กระทงโฟม” เพิ่งจะมาเงยศีรษะขึ้นนิดหน่อยในปีนี้ อาจเป็นเพราะดีใจที่เพิ่งมีโอกาสได้ลอยแบบสบายใจหลังโควิดซา…ถือเป็นข้อยกเว้น…หวังว่าปีหน้าคงจะกลับมาลดลงเช่นเคย

แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องขอขอบคุณ กทม.นะครับที่กรุณาเก็บขยะกระทง นับขยะกระทงอย่างละเอียดลออมาหลายปี และขอให้นับเช่นนี้ต่อไปโดยไม่ท้อถอย เพราะเป็นสถิติที่มีประโยชน์มากจริงๆ

แต่! แฮ่ม! ขอให้นับจริงๆและนับอย่างถี่ถ้วนนะครับอย่าให้เหมือนกระทรวงมหาดไทยยุคก่อน ที่สามารถนับช้างนับม้านับหมูนับวัวในจังหวัดได้ทั้งหมด แต่เป็นตัวเลขที่นึกขึ้นมาเองจนโดนล้อว่าเป็น “ลูกไม้มหาดไทย”

อย่าให้ใครมากล่าวหาว่าตัวเลขนับขยะกระทงที่ว่านี้เป็น “ลูกไม้ กทม.” เข้าให้ก็แล้วกันครับ.

“ซูม”

ข่าว, ลอยกระทง, เศรษฐกิจ, ไทย, ขยะ, กระทง, ซูมซอกแซก