สถานีกลางบางซื่อ สถานี “แห่งอนาคต”

ถ้าจะมีการโหวต “สถานที่แห่งปี” แบบเดียวกับการโหวต “บุคคลแห่งปี” ของสื่อต่างๆ ในยุคนี้ละก็…สถานที่ที่โด่งดังสุดๆ และได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดประจำปี 2564 สืบต่อมาจนถึงปี 2565 เห็นทีจะหนีไม่พ้น “สถานีกลางบางซื่อ” อย่างแน่นอน

โด่งดังมาตั้งแต่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟยกให้กระทรวงสาธารณสุขมาใช้สถานที่สำหรับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อปี 2564 จนถึงบัดนี้มาจนถึงข่าวว่า การรถไฟจะใช้สถานีแห่งนี้เป็นสถานีศูนย์กลางคมนาคมทางรางของประเทศไทยแทนสถานีหัวลำโพง ซึ่งมีข่าวถึงขนาดว่าจะยุติการใช้สถานีหัวลำโพงในปีหน้าจนผู้คนต้องเดินทางไปอำลาอาลัยกันเป็นแถวๆ

และล่าสุดก็มีข่าวใหญ่อีกว่าตั้งแต่วันเสาร์ที่ 26 มี.ค. หรือเสาร์หน้าเป็นต้นไปถึงวันพุธที่ 6 เมษายนก็จะมีการใช้พื้นที่ของ “สถานีกลางบางซื่อ” ส่วนหนึ่งประมาณ 20,000 ตารางเมตร สำหรับการจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50” ที่คนรักหนังสือต่างรอคอย

โด่งดังเสียขนาดนี้ปกติทีมงานซอกแซกจะต้องรีบไปสัมผัสตั้งแต่แรกเริ่มช่วงก่อนเปิดใช้งาน หรือช่วงเปิดใช้วันแรกๆ โน่นแล้ว…แต่ที่ต้องชักช้าไม่กล้าแวะไปเยี่ยมเยือนก็เพราะเจ้าโควิด-19 นี่เอง ทำให้ต้องหมกตัวอยู่กับบ้าน “เวิร์กฟอร์มโฮม” และเที่ยวทิพย์ไปเกือบ 2 ปีเต็มๆ

อย่ากระนั้นเลย แม้ตัวเลขติดเชื้อใหม่จะยังไม่ซาลง แต่เมื่อรัฐบาลท่านหาญกล้าตั้ง เป้าหมายจะให้ 1 กรกฎาคมเป็นวันแห่งการปรับโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นดังที่เป็นข่าวเอิกเกริก…เราก็ควรแสดงความกล้าหาญฉลองศรัทธารัฐบาลเสียหน่อย

ว่าแล้วหัวหน้าทีมซอกแซกก็ตัดสินใจไปเดินตระเวนชม “สถานที่แห่งปี” หรือ “สิ่งก่อสร้างแห่งทศวรรษ” อันได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ มาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

ไปเดินยํ่าต๊อกมา 1 รอบเล็กๆ ได้เหงื่อมาหลายโชก (แม้จะติดแอร์เย็นฉ่ำ) ต้องยอมรับว่า “อลังการงานสร้าง” จริงๆ สมคำรํ่าลือ และ ณ ขณะนี้ดูเหมือนจะเสร็จสิ้นครบถ้วนทุกประการแล้ว รอวันที่จะเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น

ข้อมูลทั่วไปใน วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุไว้ว่าสถานีกลางบางซื่อเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2556 ใช้เวลาสร้างประมาณ 8 ปี จึงแล้วเสร็จในปี 2564 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 34,142 ล้านบาท

ตัวอาคารสถานีมีความกว้าง 244 เมตร ยาว 596.6 เมตร สูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวม ทั้งสิ้น 274,192 ตารางเมตร (ไม่รวมพื้นที่สถานีใต้ดิน) ประกอบด้วย 26 ชานชาลา เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย 24 ชานชาลา และของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2 ชานชาลา

อาคารสถานีมีทั้งหมด 7 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยฝั่งใต้เป็น สถานีรถไฟฟ้ามหานคร และส่วนที่เหลือใช้เป็นที่จอดรถได้ถึง 1,600 คัน ซึ่งหัวหน้าทีมซอกแซกกับทีมงานได้ลงไปจอด ณ ช่อง K15 ใกล้ทางขึ้นประตู 2 ในการไปเยือนคราวนี้

ในข้อมูลทั่วไปที่ลงไว้ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรียังบอกอีกว่าโครงการก่อสร้าง สถานีกลางบางซื่อ เริ่มจาก พ.ศ.2536-2537 ยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย แต่ชะงักไป เพราะมีการยุบสภา มาริ่มใหม่ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จน พ.ศ.2553 รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสีแดง

มาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ทว่าก่อนสร้างไม่นานนัก รมว.คมนาคมยุคนั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สั่งการให้ปรับแบบสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง แต่รัฐบาลยังไม่ทันอนุมัติวงเงินก็เกิดการยุบสภาในปลายปี 2556

ข้อความช่วงนี้รวบรัดสั้นๆ บอกว่า กว่าจะอนุมัติใหม่โดยคณะรัฐมนตรีก็เดือนกุมภาพันธ์ 2558 (ก็น่าจะเป็นรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา) ทำให้การก่อสร้างช้าไปปีครึ่ง แต่ในที่สุดก็แล้วเสร็จเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2564

หัวหน้าทีมซอกแซกคิดว่าช่วงหลังสุดนี้น่าจะปรับข้อความใหม่เอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ล่าสุดในรัฐบาลนี้มาจนถึง รมต.คมนาคมล่าสุด คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่จริงจังกับสถานีกลางบางซื่อมาก และเสนอเป็นที่ฉีดวัคซีนด้วย รวมถึงอีกหลายๆ กิจกรรมแต่การบันทึกขาดหายไป

ก็ควรนำมาลงเสียให้ครบถ้วน…ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ถ้าปล่อยให้บันทึกในวิกิพีเดียหายไปด้วนๆ แบบนี้ รัฐบาลนี้จะไม่มีชื่อในประวัติศาสตร์ของสถานีกลางบางซื่อเสียเปล่าๆ อย่าลืมว่า วิกิพีเดีย นั้นแก้ไขได้ ขอให้แก้ไขปรับปรุงเสียด้วยนะครับ

ปัจจุบันนี้ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีกลางบางซื่อของสาย สีน้ำเงิน เปิดใช้การแล้วและเมื่อขึ้นจากสถานีมาจะเป็นที่โล่งๆ บริเวณนั้นแหละ จะใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดงาน “สัปดาห์หนังสือครั้งที่ 50” ดังที่โฆษณาไว้

ที่ยังไม่เปิดใช้ก็คือชานชาลาสำหรับสถานีไกลๆ ที่ต่อไปต้นทางจะมาอยู่ที่นี่รวมถึงชานชาลาที่เขียนไว้ว่า “ชานชาลารถไฟความเร็วสูง” ก็ยังไม่เปิดใช้เช่นกัน แต่นำแผ่นป้ายและขึ้นแผงไฟฟ้าเจิดจ้าบ่งบอกเอาไว้แล้วล่วงหน้า

สำหรับบริเวณที่ใช้อยู่ทุกวันนี้และยังมีผู้ไปใช้บริการอยู่ตลอดเวลา ก็คือบริเวณ “ประตู 2” และ “ประตู 3” ที่ใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน

โควิด-19 มาโดยตลอด ซึ่ง ณ วันที่ไปเยือนก็ยังมีผู้ทยอยมาฉีดเป็นระยะๆ เป็นจำนวนประมาณพันคนเศษๆ ไม่ถึงกับหนาแน่นนัก

ส่วนหนึ่งจะเป็นการฉีดตามที่นัดหมายไว้ แต่เขาก็เปิดรับฉีดสำหรับ “วอล์กอิน” ด้วยครับ ขึ้นป้ายไว้เลยว่า สำหรับคน “วอล์กอิน” ไป นั่ง เก้าอี้สีแดง (เตรียมไว้เป็นร้อยตัวเลย) เดี๋ยวจะมีคนมาจัดการ นอกจากจะดูแลอย่างดีแล้วเขายังคุยด้วยว่าเลือกวัคซีนได้ด้วยนะครับ ว่าจะเอายี่ห้อไหน?

ก็สรุปว่า ประทับใจมากครับกับความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างและชื่นชมกับภารกิจในวันข้างหน้าที่สถานีกลางบางซื่อซึ่งจะเป็นศูนย์รวม “ระบบราง” ที่ใหญ่ที่สุดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อไปจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงไปถึง คุนหมิง และสิงคโปร์ และ ฯลฯ ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้

ขออวยพรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ทุกประการ คุ้มค่าเงินลงทุน 34,000 กว่าล้าน ดังกล่าวทุกบาททุกสตางค์ และขอขอบคุณทุกรัฐบาลย้อนหลังมาจนถึงรัฐบาลนี้ที่ผลักดันโครงการนี้ จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด.

“ซูม”

ข่าว, สถานีกลาง, บางซื่อ, รถไฟ, ฉีดวัคซีน, โควิด-19, สถานที่แห่งปี, ซูมซอกแซก