โควิด “ทั่วโลก” ยังน่าห่วง ดีแล้ว “รัฐบาลไทย” ไม่ประมาท

ผมนั่งฟังถ้อยแถลงทั้งของ “บิ๊กตู่” และ “คุณหมอทวีศิลป์” หลังการประชุมใหญ่ของ ศบค. เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยความรู้สึกที่ปลอดโปร่งและคลายกังวลเหมือนยกภูเขาลูกเล็กๆ ออกไปจากอกลูกหนึ่ง

เพราะทั้ง 2 ท่านยืนยันตรงกันว่า แม้ที่ประชุมจะยอมรับหลักการ หรือ “ไฟเขียว” ในการกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นเป้าหมาย ในการปรับให้โรคโควิด-19 แปรสภาพเป็นโรคประจำถิ่น…ก็ตามที

แต่ในการดำเนินการนั้นจะเต็มไปด้วยความระมัดระวัง และกำหนดขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หละหลวม ไม่เร่งรัด และพร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

บิ๊กตู่ใช้ถ้อยคำที่ผมสรุปจากโทรทัศน์ดังต่อไปนี้…อาจไม่เป๊ะ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ประมาณนี้แหละครับ

“การจะปรับเป็นโรคประจำถิ่นนั้นเป็นเพียงแผนงาน…ถ้าเป็นไปได้สถานการณ์ดีขึ้นเราก็จะเดินไปสู่จุดนั้น…ไม่ได้หมายความว่า เราจะทำเลย…เขา (กระทรวงสาธารณสุข) มีขั้นตอนของเขาอยู่ ถ้าผ่านก็เดินหน้า ถ้าไม่ผ่านก็เป็นไปไม่ได้…ก็ต้องเปลี่ยนแผนการ”

ความระมัดระวังที่เห็นได้ชัดเจนมากก็คือ การที่ ศบค.ยังคง “เข้มงวด” สำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แม้จะผ่อนคลายให้จัดงานได้ แต่ก็จะต้องมีการควบคุม มีมาตรการคัดกรอง มีการกำหนดความหนาแน่นของพื้นที่จัดงาน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามสาดน้ำ ห้ามประแป้ง ห้ามจัดปาร์ตี้โฟม ฯลฯ

ดูแล้วก็อาจจะทำให้งานสงกรานต์ปีนี้ยังคงกร่อยๆ อยู่…ผู้ประกอบการด้านบันเทิง ด้านท่องเที่ยว หรือจำหน่ายสุราอาหารพากันบ่นกระปอดกระแปด

ผมเห็นด้วยกับทางราชการครับ และขณะเดียวกันก็คงต้องขอโทษผู้ประกอบการทั้งหลายที่เราไม่ควรจะจัดงานสงกรานต์ที่สนุกสนานหรือเอิกเกริกกันอีกปีหนึ่ง

เพราะดูจากสถานการณ์แพร่ระบาดขณะนี้ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนลง และยังคงติดเชื้อวันละ 2 หมื่นกว่ารายทุกวัน…ควบคู่ไปกับการเสียชีวิตที่ทำสถิติ “นิวไฮ” อยู่ตลอด วันละ 60-70 ไปจนถึงบางวันก็ 80

อย่างวันที่ผมนั่งบันทึกเหตุการณ์อยู่นี้ เราก็เสียชีวิตอีก 87 ทำให้ยอดรวมสูงถึง 24,165 แล้ว เป็นอันดับที่ 38 ของโลก

แม้จะไม่ใช่อันดับที่สูงนัก แต่ก็ไม่ใช่อันดับต่ำแต่อย่างใด…ที่สำคัญชีวิตแต่ละชีวิตล้วนมีความหมายสำหรับทุกครอบครัวและมิตรสหายอย่างยิ่ง…การสามารถ “ถนอม” และ “ป้องกัน” ไม่ให้ติดเชื้อแล้วพลาดพลั้งถึงขั้นชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ที่สำคัญเมื่อหันกลับไปมอง “สถานการณ์โลก” แม้จะดูเหมือน “ซาลง” ดีกว่าเมื่อตอน “พีก” ติดวันละ 3 ล้านกว่ารายเยอะ

แต่กระนั้นการที่ยังติดเชื้อวันละ 1.7 ล้าน หรือ 1.8 ล้าน ก็ต้องถือว่ายังมากอยู่ และแม้จะบอกว่าอันตรายน้อยลง ยอดเสียชีวิตน้อยลง…แต่ก็ยังเสียชีวิตโดยเฉลี่ยวันละ 5,000-6,000 ราย

สหรัฐอเมริกาที่มีข่าวว่าผ่อนคลายลงไปมาก ยอดติดจากวันละเกินแสน บัดนี้เหลือแค่วันละ 3 หมื่นนกว่าๆเท่านั้น

แต่ยอดเสียชีวิตของเขาก็ยังเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสมของสหรัฐฯ ณ นาทีที่ผมบันทึกขึ้นไปถึง 997,136 รายแล้ว…อีกแค่ 2,864 ราย ก็จะถึง 1,000,000 (หนึ่งล้านราย)

หากยังใช้อัตราเฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 1,000 ราย ก็จะไม่เกินอีก 3 วันจากนี้ไป ที่เราจะเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตของสหรัฐฯทะลุ 1 ล้าน

ผมเคยเขียนไว้แล้วว่า 1 ล้าน ถ้าเป็น “เงิน” ย่อมหมายถึงความสุข…ดังเช่นสมัยหนึ่งคุณ ดอกดิน กัญญามาลย์ สร้างหนังไทยออกฉายโรงต่างๆ….ได้ 1 ล้านบาทวันใดแกก็จะลงโฆษณาหนังสือพิมพ์เต็มหน้า ลงรูปตัวเองสวมวิก “ศีรษะล้าน” แบบตลกลิเก พร้อมกับตะโกนอย่างยิ้มแย้มว่า “ล้านแล้วจ้า”

ครับ! เห็นด้วยกับคุณดอกดินว่าเมื่อได้เงินล้านก็ควรจะตะโกนอย่างมีความสุข…แต่ในทางกลับกันเมื่อนำมาใช้กับการ “สูญเสียชีวิต” ของผู้คนก็จะเต็มไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจ

1 ล้านชีวิตที่จากไปย่อมหมายถึงหยดน้ำตาอีกไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยล้านหยดของญาติสนิทมิตรสหายผู้เสียชีวิต…อันมากมายมหาศาลเหล่านี้

ตัวเลขของโลกยังไม่นิ่งครับ…ของบ้านเราก็ยังไม่นิ่งเช่นกัน…ระมัดระวังเอาไว้และค่อยเป็นค่อยไป…ไม่ผลีผลาม ไม่ประมาท…เป็นนโยบายที่ดีที่สุดแล้วครับ.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, โรคประจำถิ่น, ศบค., ผู้ติดเชื้อ, ซูมซอกแซก