จาก “ล้อเล่น” ถึง “บูลลี่” “วันนี้” กับ “วันนั้น” ต่างกันลิบ

ผมเกิดมาในยุคที่สังคมไทยอุดมไปด้วยการ “ล้อเล่น” และการล้อเล่นหรือล้อเลียนก็เป็นวัฒนธรรมเล็กๆ ที่แอบแฝงอยู่กับคนไทยในยุคสมัยที่ผมเป็นเด็กๆ เมื่อ 60–70 ปีก่อน

พ่อแม่ตั้งชื่อเล่นผมว่า “อู๊ด” ซึ่งเป็นเสียงร้องของ “หมู” สัตว์ที่ชอบกินทั้งวันและมักจะอ้วนพีกว่าสัตว์อื่นๆ…ล้อผมมาตั้งแต่เกิด

เมื่อเด็กๆ ผมเป็นเด็กอ้วนจ้ำม่ำ พ่อแม่จึงเรียกผมว่า “เจ้าอู๊ด” พอโตหน่อยๆ เด็กๆ แถวบ้านจะเรียกผมว่า “โกอู๊ด” ซึ่งผมก็ยอมรับชื่อนี้และเติบโตมากับชื่อนี้ด้วยความภูมิใจ

ตอนมาเรียนปากน้ำโพ เพื่อนบางคนเรียกผมว่า “ไอ้อ้วน” ด้วยซ้ำ ผมก็ไม่ได้ถือสา

เพราะผมรู้ว่ามันเรียกผมด้วยความรัก ด้วยความสนุก เพื่อต้องการหยอกล้อ และผมก็จะล้อมันกลับไป

ใครผอมผมก็จะเรียกมันว่า “ไอ้แห้ง” บ้าง “ไอ้กุ้ง” บ้าง “ไอ้ก้าง” บ้าง…ใครสูงเราก็เรียกว่า “โย่ง” ใครตัวดำหน่อยก็เป็นไอ้ดำ ไอ้หมึกไอ้ถ่าน หรือบางทีก็เรียกว่า ไอ้สำลี (เม็ดใน)

ตอนผมมาเรียนที่โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา…เพื่อนที่มาจากปักษ์ใต้จะถูกล้อเรื่องพูดเร็ว พูดสั้นๆ…เพื่อนหญิงจากภาคเหนือถูกล้อเรื่องพูดช้า พูดเนิบๆ และชนะใครไม่เป็น ทำอะไรก็เจ้าไปหมด

ห้องเราไม่มีเพื่อนจากสุพรรณบุรี แต่มีจากกาญจนบุรีใกล้ๆ กัน 1 คน…ก็โดนล้อโดยการทำเสียงเหน่อๆ ซึ่งเพื่อนก็ไม่โกรธ แถมยังพูดเหน่อเมืองกาญจน์ล้อตัวเองเสียด้วยซํ้า

ผมมาจากปากนํ้าโพ ดูเหมือนไม่มีจุดอ่อน…แต่ก็มีจนได้ เพื่อนบอกว่า ไอ้นี่มาจากเมืองลุงเชยถึงได้เชยบรรลัย…ทำให้นึกออกว่าในนิยายสามเกลอ พลนิกรกิมหงวนที่ฮิตมากในยุคโน้น…ตัวละครดังตัวหนึ่งคือ “ลุงเชย” ลุงของ พล พัชราภรณ์ เป็นชาวอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์

ชอบมาทำอะไรเปิ่นๆ ในเมืองกรุง แบบบ้านนอกเข้ากรุง จนคำว่า “ลุงเชย” หรือ “เชย” แปลว่า “เปิ่น” หรือบ้านนอกไปด้วย

เท่าที่ผมจำความได้ ยิ่งล้อกันเท่าไร เราก็ยิ่งรักกันเท่านั้น

แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อโลกพัฒนาไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ จนมีอินเตอร์เน็ตใช้ มีโทรศัพท์มือถือใช้ และมีโซเชียลมีเดียเกลื่อนไปหมด

ประเพณี “ล้อเลียน” ก็เลือนหายไปกลายเป็นเรื่องของการ “บูลลี่” เข้ามาแทน

เว็บๆ หนึ่งให้คำจำกัดความว่า “บูลลี่” หรือ Bully ในภาษาอังกฤษหมายถึง การกลั่นแกล้งผู้อื่นให้เสียหาย อับอาย เป็นทุกข์ โดยการกระทำ คำพูด การกีดกันทางสังคม หรือผ่านช่องทางโซเชียลที่เรียกว่า Cyber bullying

นอกจากนี้ยังรวมถึงการเหยียดชาติพันธุ์ รูปร่าง หน้าตา รวมทั้งการเหยียดและล้อเลียนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย

พฤติกรรม bullying คือการกลั่นแกล้งผู้อื่น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดขึ้นในโรงเรียน หรือในวัยเรียน

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี 2561 น่าตกใจมาก ระบุว่านักเรียนไทยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 6 แสนคน จัดว่าอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ทำให้สังคมไทยต้องหันมาใส่ใจในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการเผยแพร่ภาพข่าว คลิปวิดีโอ รวมถึงคำบอกเล่าจากผู้มีประสบการณ์มากขึ้น

คนที่เกิดมาในยุคที่การล้อเลียน (ซึ่งก็เริ่มในโรงเรียน และมีมากในสมัยเราเป็นนักเรียนนั่นแหละ) เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ล้อแล้วต่างคนก็ต่างสนุก และต่างก็รักกันมากขึ้น…เมื่อได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้แล้วก็ใจหาย

เจอคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ผมก็ได้แต่เจียมตัวไม่กล้าพูดเล่นพูดหัว เพราะกลัวว่าเด็กรุ่นใหม่เขาจะโกรธเอาว่าเราไปบูลลี่เขา เนื่องจากเส้นแบ่งระหว่างการ “ล้อ” กับ “บูลลี่” มันเปราะบางมากแยกลำบากเหลือเกิน

แม้แต่จะเขียนหนังสือทุกวันนี้ยังต้องระวัง เพราะกลัวจะไปบูลลี่คนอื่นๆ ในสังคมโดยที่เราไม่รู้ตัว

ทุกวันนี้คนแก่อย่างพวกเราจึงมีความสุขกับการเลี้ยงรุ่น เพราะยังเป็นคนรุ่นเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมเดียวกัน

ยังเรียกไอ้อ้วน ไอ้ผอม ไอ้ก้าง ไอ้อู๊ด หรือล้อชื่อพ่อชื่อแม่กันได้ โดยไม่โกรธเคืองกัน ย้อนยุคกลับไปสู่สมัยที่พวกเรายังเป็นเด็ก

แต่เพื่อนๆ ที่ว่านี้ก็ชักจะเหลือน้อยเต็มทีแล้วครับ…คงล้อเล่นกันอีกได้ไม่กี่ปี…และอีกไม่นานนักวัฒนธรรมการล้อเล่นอาจจะหมดไปจากประเทศไทย…เหลือแต่ “บูลลี่” ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรม แต่เป็นการกระทำที่โหดร้ายอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น.

“ซูม”

ข่าว, วัฒนธรรม, ล้อเล่น, บูลลี่, Bully, ซูมซอกแซก