ลุ้น “สงครามโควิด” ยุติ ข่าวดีจาก “หลาย” สมรภูมิ

เมื่อช่วงบ่ายๆ วันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์หลายสำนักได้นำข้อมูลจากการโพสต์เฟซบุ๊กของคุณหมอ “มนูญ ลีเชวงวงศ์” แห่งโรงพยาบาลวิชัยยุทธ มาเผยแพร่…ผมอ่านแล้วเห็นว่าเป็นข่าวดี ก็ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่ออีกทอดหนึ่ง

คุณหมอมนูญท่านโพสต์ไว้ดังนี้ครับ

“ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศแรกในโลกที่รายงานว่าสายพันธุ์โอมิครอนติดได้ง่ายมาก แต่ไม่รุนแรง  ระยะแรกประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าไม่รุนแรง ปัจจุบันทุกประเทศยอมรับแล้วว่าคนติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมักมีอาการน้อยเหมือนไข้หวัด”

“เพียงแต่ยังแยกไม่ออกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนติดเชื้อได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมมาก่อนหรือไม่ (ซึ่ง) ประเทศแอฟริกาใต้ได้ทำการศึกษายืนยันว่า แม้คนที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสมาก่อน เวลาติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนก็ยังมีอาการไม่หนักได้ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเองที่ลดความรุนแรงลง”

“หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้อย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนพฤศจิกายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นเร็วและลงเร็ว ขณะนี้เดือนมกราคมอยู่ในขาลง จำนวนผู้เสียชีวิตในการระบาดก็ต่ำเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาก่อนหน้านี้”

“ต้องรอดูว่าเมื่อไรการแพร่ระบาดโอมิครอนระลอกนี้ในแอฟริกาใต้จะหยุดลง ไม่มีการระบาดระลอกใหม่อีก เปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นประเทศแรกในโลก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะเป็นข่าวดีสำหรับคนทั้งโลก”

“สถานการณ์แพร่ระบาดของโอมิครอนของประเทศไทยตามหลังประเทศแอฟริกาใต้ ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เดือนมีนาคมจำนวนผู้ติดเชื้อคงลดลง คนไทยโดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่ต้องกลัวโอมิครอนจนเกินไป คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และคนที่ถึงเวลาฉีดเข็มกระตุ้นรีบไปฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด”

ครับ! ก็ต้องขอขอบคุณ คุณหมอมนูญเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าประเด็นที่ท่านโพสต์ไว้จะเป็นความจริงในที่สุด…

ผมเองเป็นคนชอบดูชอบอ่านสถิติตัวเลข นั่งอ่านนั่งสังเกตตัวเลขของประเทศแอฟริกาใต้แบบวันต่อวันมาตั้งแต่วันแรกที่มีข่าวว่าสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดขึ้นที่นั่น

เห็นด้วยกับคุณหมอทุกประการเลยครับว่าในช่วงโอมิครอนระบาดใหม่ๆ นั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อของแอฟริกาใต้พุ่งกระฉูดขึ้นอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม สูงปรี๊ดขึ้นไปถึงวันละ 30,000 กว่าๆ จนกลายเป็นสถิติสูงสุดเมื่อเทียบย้อนหลังกลับไปสู่สายพันธุ์อื่นๆ ในอดีต

แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดลง จนมาถึงวันที่ผมเขียนต้นฉบับคือวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565 ยอดติดเชื้อใหม่ประจำวันของแอฟริกาใต้เหลือแค่ 1,931 รายเท่านั้นเอง ส่วนยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 54 ราย ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ผ่านมา

เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า สายพันธุ์นี้ติดง่าย ติดเร็ว แต่ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เก่า และที่สำคัญ หยุดระบาดได้เร็วกว่าเยอะ

ในวันเดียวกันนี้เอง คุณหมอดังระดับโลกชาวสหรัฐฯ คุณหมอ แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโควิด-19 หมายเลขต้นๆ ซึ่งปัจจุบันมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของท่านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันกับคุณหมอมนูญ

ดร.เฟาซีระบุว่า สถานการณ์ในหลายๆ ประเทศกำลังผ่อนคลายลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ท่านมั่นใจว่าจะถึงจุด “พีก” หรือสูงสุดในเร็วๆ นี้ แม้จะยังมีบางรัฐที่ตัวเลขกำลังขึ้นสูงอยู่ก็ตาม

“จากข้อมูลที่เรามีอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี” โอมิครอน มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น และหากสายพันธุ์นี้กลายเป็นสายพันธุ์หลัก ก็จะทำให้ “เรา” ควบคุม โควิด-19 ได้มากขึ้น

“คำว่าควบคุมไม่ได้แปลว่าเราจะจำกัดได้หมดสิ้น แต่หมายถึงว่าโรคระบาดนี้จะลดระดับลงเป็นโรคทั่วๆ ไป ที่เราสามารถที่จะเรียนรู้และอยู่กับมันได้”

สาธุ! ขอให้เป็นเช่นที่ทั้ง 2 คุณหมอกล่าวไว้เถอะครับ…เราทนทุกข์ทรมานกันมามากแล้ว…2 ปีเต็มๆ ไม่ใช่สั้นๆ นะครับ ยาวนานเหลือเกินกว่าจะผ่านไปได้ในแต่ละวัน.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, โอมิครอน, ไวรัส, แอฟริกาใต้, ซูมซอกแซก