90 ปี ดร.เสนาะ อูนากูล มือขวาเศรษฐกิจ “ป๋าเปรม”

ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงบ่ายๆ ของวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวัน อาสาฬหบูชา…วันพระใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ดังที่เขียนกราบเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้ว

วันอาสาฬหบูชาปีนี้นับว่ามีความหมายอย่างยิ่งแก่ผมถึง 2 ประการ…ประการแรกก็คือการสวดมนต์น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณ และพระสังฆคุณดังที่เคยปฏิบัติมาเป็นประจำทุกๆ วันพระใหญ่

ประการที่ 2 วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ยังตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 90 ปี ของบุคคลที่ผมเคารพนับถืออย่างยิ่งท่านหนึ่งอีกด้วย

จึงขออนุญาตที่จะเขียนแสดงมุทิตาจิตต่อท่านย้อนหลังในวันนี้… แม้ว่าจะได้ลงตีพิมพ์ในวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม ก็คงจะไม่ช้าจนเกินไปนัก

ท่านอาจารย์ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัย คุณอานันท์ ปันยารชุน, อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงและจดจำท่านได้…นั่นแหละครับ

ผลงานโดดเด่นของท่านที่สื่อมวลชนยังกล่าวขวัญอยู่เสมอมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่นำพาประเทศไทยจากยุคเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซึมเซาไปสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ในช่วงเวลา 8 ปี ที่ป๋าบริหารประเทศ

ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวข้ามจากประเทศเกษตรกรรมเต็มตัว ไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่…ที่มีทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเป็นรายได้หลักของประเทศเคียงคู่กัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ฉายา “เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” หรือเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชียที่สื่อมวลชนต่างประเทศขนานนามให้แก่รัฐบาลป๋าเปรมนั้น…ผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญยิ่งก็คือ ท่านอาจารย์ ดร.เสนาะ อูนากูล ในฐานะเลขาธิการสภาพัฒน์ นั่นเอง

ท่านเป็นแม่งานใหญ่ในการจัดเตรียมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) และฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) ซึ่งมุ่งเน้นการเจริญเติบโตของประเทศควบคู่ไปกับการกระจายผลการพัฒนาสู่ภูมิภาค และชนบทและการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ

เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนพัฒนาสำเร็จลุล่วงด้วยดี ท่านเสนอให้มีการจัดตั้ง ครม.เศรษฐกิจ โดยมีสภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการ, จัดตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า กรอ. เพื่อดึงพลังภาคเอกชนให้มารวมกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย

ขณะเดียวกันเพื่อให้การกระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาคและชนบทเป็นไปอย่างได้ผล ท่านก็เสนอให้ตั้ง คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและท่านเป็นเลขานุการขึ้นอีกชุดหนึ่ง

รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการที่เปรียบเสมือนการพัฒนาเชิงรุกของประเทศ ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด ที่โด่งดังไปทั่วโลกและเป็นที่มาของการก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่และคำว่า “โชติช่วงชัชวาล” ในยุคนั้น

ส่งผลให้การพัฒนาประเทศเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วและสื่อมวลชนต่างประเทศที่โด่งดังระดับโลก เช่น ไทมส์, นิวสวีค และ ดิ อีโคโนมิสต์ ได้พร้อมใจกันยกฉายา “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” และ “เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย” แก่ประเทศไทยดังได้กล่าวไว้แล้ว

ป๋าเปรมก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2531 นับถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 33 ปี แต่การวางรากฐานทางเศรษฐกิจเอาไว้ครั้งนั้นได้มีผลทำให้ประเทศไทยก้าวเดินมาได้ถึงจุดที่เรียกว่าประเทศ รายได้ปานกลางขั้นสูง ในที่สุด

ผมในฐานะลูกน้องเก่าท่านอาจารย์ ดร.เสนาะ อูนากูล ก็ขออนุญาตนำความสำเร็จเมื่อครั้งกระโน้นมาเล่าสู่กันอ่านเผื่อจะช่วยประโลมหัวใจอันท้อแท้ในยามโควิด-19 ระบาดได้บ้าง

เนื่องในโอกาสที่ขุนพลเอกด้านเศรษฐกิจของป๋าเปรมมีอายุครบ 90 ปี ไปเมื่อ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยโปรดดลบันดาลให้ท่านอาจารย์ จงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย อายุ วรรณะ สุขะ พละ อยู่เป็นมิ่งขวัญของครอบครัวญาติมิตร และลูกศิษย์ลูกหาไปตราบนานแสนนาน

ขอกราบขอบพระคุณในทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านอาจารย์อุทิศตน และทุ่มเทให้แก่ประเทศชาติไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, ดร.เสนาะ อูนากูล, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, เศรษฐกิจ, โควิด-19, ซูมซอกแซก