ผลสำรวจ “รอยเตอร์ฯ” คนไทย “เชื่อมั่น” ไทยรัฐ

วันนี้ผมขอเปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องร้อนๆในประเทศไทย กรณีรัฐบาลไทยบอกว่าไม่ “ล็อกดาวน์” แต่ “ลักหลับ” คนไทยออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาตอนดึก มีมาตรการแรงๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะการห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหารอีกแล้ว จนถูกสวดพึมพำในขณะนี้…

ไปเขียนเรื่องอื่นๆ สักวันนะครับ เพราะมีรายงานมาจากต่างประเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับเรื่องสื่อสารมวลชนทั้งในระดับโลก และในประเทศไทย ที่น่าสนใจมาก…ปล่อยทิ้งไว้หลายวันจะกร่อยเสียเปล่าๆ

เป็นรายงานของ สถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน สถาบันทางวิชาการอิสระ ตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษโน่นละครับ…ซึ่งในแต่ละปีเขาจะมีรายงานที่เรียกว่า Digital News Report เผยแพร่ออกมาเป็นรายงานประจำปี

ปรากฏว่าปีนี้ 2021 ผลการสำรวจจาก 46 ประเทศ (รวมทั้งไทย) ซึ่งมีประชากรกว่าครึ่งโลก พบว่าชาวโลกหันมาเสพข่าวสารต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ถึง 73 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 69 เปอร์เซ็นต์

ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการสำรวจในปีนี้ก็คือ แม้ประชาชนทั่วโลกจะหันมาเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ความไม่ค่อยเชื่อถือในโซเชียลมีเดียก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่โซเชียลมักเล่นข่าวหรือรายงานอย่างหวือหวา ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่

จากประเด็นนี้เอง การศึกษาและสำรวจของสถาบันรอยเตอร์ฯในปีนี้จึงมุ่งไปที่สื่อหลักที่ได้รับความเชื่อถือของประเทศต่างๆ ควบคู่ไปด้วย

ในส่วนของประเทศไทยนั้นสถาบันรอยเตอร์ฯ สรุปว่าสื่อที่คนไทยใช้ในการบริโภคข่าวสารอันดับ 1 ได้แก่สื่อออนไลน์ ซึ่งสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์และในจำนวนนี้เป็นโซเชียลมีเดียเสีย 71 เปอร์เซ็นต์

รองลงไปก็คือ ทีวี 51 เปอร์เซ็นต์ และน้อยสุดก็คือสื่อสิ่งพิมพ์ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ดูจากภาพรวมเช่นนี้จะเห็นได้ว่าโซเชียลมีเดียนั้นครอบงำคนไทยสูงสุดแต่จากความหวือหวารวดเร็วขาดความกลั่นกรอง จึงทำให้ประชาชนไม่ค่อยไว้ใจและหันมาแสวงหาความเชื่อถือจากสื่อหลักๆ มากขึ้น

ทีนี้เราลองไปดูการเข้าถึง “สื่อหลัก” ของไทยกันเลยว่าสื่อไหนเข้าถึงประชาชนชาวไทยมากหรือน้อยอย่างไร?

เริ่มจากสื่อ “ออฟไลน์” อันได้แก่ ทีวี, วิทยุและสิ่งพิมพ์ ใน 1 สัปดาห์ สื่อที่เข้าถึงคนไทยมากที่สุด เรียงตามลำดับดังนี้ 1.ช่อง 3 เอชดี (36 เปอร์เซ็นต์) 2. ไทยรัฐทีวีช่อง 32 (33 เปอร์เซ็นต์) 3.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (31 เปอร์เซ็นต์) 4.ช่องวัน 31 (29 เปอร์เซ็นต์) 5. ช่อง 7 เอชดี (29 เปอร์เซ็นต์) 6.ไทยพีบีเอส (25 เปอร์เซ็นต์) ฯลฯ

สำหรับสื่อ ออนไลน์ อันดับ 1 ที่เข้าถึงคนไทยมากที่สุดใน 1 สัปดาห์ ได้แก่ ไทยรัฐออนไลน์ (51 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 2 ไทยพีบีเอสนิวส์ ออนไลน์ (32 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 3 ข่าวสดออนไลน์ (27 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 4 พีพีทีวี ออนไลน์ (23 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 5 สำนักข่าวไทย ออนไลน์ (22 เปอร์เซ็นต์) ฯลฯ

ในส่วนของความ “เชื่อถือ” นั้น สถาบันรอยเตอร์ฯ สำรวจออกมาเป็นคะแนน และมองในลักษณะของการเป็น “แบรนด์” ของแต่ละสื่อ (อาจเป็นเพราะบางแบรนด์มีสื่อหลายประเภท)

ผลปรากฏว่าอันดับ 1 แบรนด์ไทยพีบีเอส (70 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 2 แบรนด์ไทยรัฐ (70 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 3 ช่อง 7 เอชดี (68 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 4 สำนักข่าวไทย อสมท (68 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 5 ครอบครัวข่าว 3 (68 เปอร์เซ็นต์) อันดับ 6 ข่าวสด (67 เปอร์เซ็นต์) ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าในส่วนของ “ไทยรัฐ” เรานั้น ในแง่ “ออฟไลน์” ติดอันดับ 2 และอันดับ 3 คือ ไทยรัฐทีวี กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ…ในด้าน ออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ อันดับ 1 แบบทิ้งห่างเลย และที่น่าดีใจก็คือ ในด้านความเชื่อถือแบรนด์ “ไทยรัฐ” (อันหมายถึงทั้ง 3 สื่อ) ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 รองจากแบรนด์ ไทยพีบีเอส เท่านั้น

ผมขออนุญาตไม่แสดงความเห็นเพิ่มเติมอะไรมากกว่านี้ นะครับ…เพราะเจตนาเพียงจะนำผลการสำรวจของสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนประจำปีนี้มาให้ท่านผู้อ่านทราบเท่านั้น

นอกจาก…จะบอกสั้นๆ ว่า “ดีใจ” ครับที่ผลสำรวจของสถาบัน ระดับโลก ชี้ว่า “ไทยรัฐ” ยังเป็นที่เชื่อถือของคนไทย.

“ซูม”

ข่าว, สื่อ, ออนไลน์, สื่อสารมวลชน, ล็อกดาวน์, ไทยรัฐ, โควิด-19, โซเชี่ยล, มีเดีย, ซูมซอกแซก