เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปนอนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มา 3 คืนครับ
ผมไม่ได้ล้มป่วยเองหรอกครับ ไปนอนเฝ้าแม่บ้านผมที่จู่ๆ ก็ปวดท้องกะทันหัน และสงสัยว่าจะเป็นโรค “ไส้ติ่งอักเสบ” ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นจริง จึงไปนอนให้น้องๆ ชาวหมอธรรมศาสตร์ช่วยเจี๋ยนให้
แม้จะเป็นการผ่าตัดเล็กแต่ก็ต้องนอนพักฟื้นอยู่ถึง 3 คืน ผมก็เลยอาสาไปนอนค้างเป็นเพื่อนเธอ เพื่อชดเชยที่เธอไปนอนค้างเป็นเพื่อนผม เมื่อตอนผมผ่าตัด “บายพาส” หัวใจที่โรงพยาบาลรามาธิบดีหลายปีก่อนโน้น
ด้วยเหตุที่ผมเป็นคนตื่นเช้าและชอบเดินออกกำลังตอนเช้าๆ จึงลุกขึ้นมาเดินรอบๆ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตลอดทั้ง 3 เช้าที่ผมเฝ้าไข้แม่บ้านผมอยู่ (โดยสวมแมสก์อย่างมิดชิด และพกขวดแอลกอฮอล์จิ๋ว พร้อมฉีดเป็นอาวุธคู่กายอยู่ตลอดเวลา)
เห็นคนไข้ที่เนืองแน่น เห็นความเจริญงอกงามของโรงพยาบาล ที่กำลังก่อสร้างและขยายโน่นขยายนี่เป็นการใหญ่แล้วก็อดภูมิใจเสียมิได้ ในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเก่าแก่อันดับ 2 ของประเทศแห่งนี้
ภูมิใจตั้งแต่เห็นชื่อเต็มๆ ของโรงพยาบาลที่มีอักษรตัวเบ้อเริ่มบนหลังคาชั้นสูงสุดของตัวอาคารโรงพยาบาลที่ว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” แล้วละครับ
ในคอลัมน์ซอกแซกของผมเมื่อปี 2535 ได้เขียนถึงโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า ในหลวง ร.9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวาง ศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2529
โรงพยาบาลเปิดให้บริการประชาชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระองค์ท่าน เจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ใน พ.ศ.ดังกล่าว
เมื่อตอนที่ผมเขียนซอกแซกแนะนำโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติครั้งแรกนั้น มีอาคารหลักๆ เพียง 2 อาคารเท่านั้น…ต่างกับในช่วง 3 เช้าที่ผมเดินออกกำลังไปรอบๆ ซึ่งน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกหลายต่อหลาย อาคารจนนับไม่หวาดไม่ไหว
เห็นแล้วก็ปลื้มใจดังได้พรรณนาไว้หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เริ่มเขียนคอลัมน์วันนี้
ทั้งปลื้มใจในความสามารถของพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ชาวธรรมศาสตร์ที่ช่วยกันพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชนในเขต กทม.ด้านเหนือไปจนถึงชาวปทุมธานี ชาวนนทบุรี ชาวอยุธยา และชาวอ่างทอง ฯลฯ
และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ทรงวางศิลาฤกษ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อ 29 มีนาคม 2531
นอกจากนี้ ช่วงที่เดินผ่านตึก “ฉุกเฉิน” ผมอ่านพบข้อความอันเป็น “อมตะ” ที่พวกเราชาวธรรมศาสตร์ยึดมั่นอยู่เสมอ…และทางโรงพยาบาลได้นำมาประดับไว้อย่างเด่นชัดได้แก่ข้อความที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” นั่นเอง
สำหรับรุ่นที่ผมเข้าเรียน ซึ่งเป็นการสอบเข้ารุ่นแรก พ.ศ.2503 นั้น นอกจากธรรมศาสตร์จะสอนให้พวกเรารักประชาชนแล้ว ยังสอนให้รัก ชาติ–ศาสนา–พระมหากษัตริย์ อีกด้วย
ขยายความถึงสิ่งที่พวกเราชาวธรรมศาสตร์ควรรักควรหวงแหนเพิ่มขึ้นอีกให้ครบถ้วนว่าอย่างนั้นเถิด
ผมจำได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอดีตมีความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างลึกซึ้ง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด
พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ติดต่อกันถึงกว่า 40 ปี นับแต่ พ.ศ.2493 จนถึง พ.ศ.2537
ที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตผมก็คือ ก่อนผมเรียนจบ 1 ปี ในหลวง ร.9 ได้เสด็จมาทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงนำทำนองเพลงพระราชนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หรือยูงทอง) มาบรรเลงเป็นครั้งแรก พร้อมกับทรงปลูกต้น “หางนกยูง” พระราชทาน แก่มหาวิทยาลัย 5 ต้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2506
ผมอยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วยและไม่เคยลืมเลยตราบทุกวันนี้.
(อ่านต่อพรุ่งนี้)
“ซูม”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
• อีกหนึ่งบันทึกธรรมศาสตร์ ภาพจำเพิ่มเติมวัน “ทรงดนตรี”
• ปลูก “ยูงทอง” ไว้เคียง “โดม”..วันที่ “ชาวธรรมศาสตร์” ไม่เคยลืม
• ไปนอน รพ.ธรรมศาสตร์ คิดถึง “คำสอน” ธรรมศาสตร์
• จาก “โดมชรา” คนหนึ่ง ถึง “มหา’ลัย” อันเป็นที่รัก