จาก “โดมชรา” คนหนึ่ง ถึง “มหา’ลัย” อันเป็นที่รัก

ผมเรียนท่านผู้อ่านแล้วว่าหลังจากเหตุการณ์วันเสด็จฯ ไปทรงดนตรีและทรงปลูกต้นหางนกยูงพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 แล้ว ต่อมาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ผมก็เรียนจบ…จำเป็นต้องร่ำลามหาวิทยาลัยออกไปหางานทำ

แม้ผมจะไม่ค่อยได้กลับไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ่อยนัก หลังจากนั้น แต่ก็ติดตามข่าวคราวที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ

ยามใดที่มีข่าวดี หรือข่าวที่น่าชื่นชมยินดีเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ธรรมศาสตร์ ผมก็จะพลอยปลื้มปีติ อ่านข่าวไปยิ้มไปอย่างมีความสุข

แต่ยามใดที่มีข่าวในเชิงร้ายหรือเชิงลบ ผมก็จะรู้สึกใจหายพลอยเสียใจ พลอยเสียดาย และบางครั้งก็พลอยเจ็บปวดไปด้วยกับผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้นนั้นๆ

58 ปีเต็มที่ผมจากธรรมศาสตร์มา ล้วนมีข่าวทั้ง 2 ด้าน ดีก็ดีใจหาย (อย่าง 14 ตุลาคม 2516 ผมถือว่าเป็นข่าวดีนะ แม้จะต้องมีการสูญเสีย เลือดเนื้อไปพอสมควรก็ตาม แต่เราก็ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาให้ ชื่นชมอยู่หลายปี)

ส่วนข่าวร้ายก็ร้ายอย่างชวนให้น้ำตาไหล (เช่น 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้น)

แต่ธรรมศาสตร์ก็ผ่านมาได้โดยตลอด สามารถยืนหยัดเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ แบบไม่เป็นสองรองใคร

สำหรับในช่วงปี 2 ปีหลังๆ นี้ ก็ยังคงมีทั้งข่าวดีและข่าวที่ทำให้ศิษย์เก่าเช่นผมได้ยินแล้วไม่สบายใจอย่างยิ่ง สลับกันไปสลับกันมาเช่นเคย

แน่นอน ข่าวที่ทำให้พวกเราศิษย์เก่ารู้สึกหัวใจพองโตก็คือ ข่าวที่ศบค. มอบความไว้วางใจให้แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในฐานะหน่วยรบสำคัญหน่วยหนึ่งของการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19

ข่าวการดัดแปลงบางส่วนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้เป็น “โรงพยาบาลสนาม” เป็นที่เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางและเป็นที่ชื่นชมของประชาชน ทั้งในการระบาดรอบแรกและรอบหลัง

ส่วนข่าวที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งก็ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ลูกๆ หลานๆ นักศึกษาธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมกับกลุ่มม็อบราษฎรในการชุมนุมประท้วงที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้

หากจะกล่าวว่าลูกๆ หลานๆ ของเราเป็นกลุ่มแรกๆ และเป็นแกนนำหลักที่จุดพลุขึ้นมาก่อนใครๆ ก็คงไม่ผิดนัก

ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยที่การต่อสู้ทางการเมืองจะเริ่มขึ้นก่อนใครอยู่เสมอที่ธรรมศาสตร์ เพราะนี่คือจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์อยู่แล้ว

แต่ที่ทำให้ศิษย์เก่าจำนวนมากรู้สึกไม่สบายใจก็เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อขับไล่เผด็จการหรือเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อมิให้มีการสืบทอดอำนาจดังที่มีการประกาศไว้ในตอนต้น

กลับกลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องเพื่อ “การปฏิรูปสถาบัน” เป็นหลักไปในที่สุด

ในขณะที่การใช้ถ้อยคำในการปราศรัยก็เต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง ห่างไกลจากความหมายของ “การปฏิรูป” ที่แปลว่าค่อยเป็นค่อยไปโดยสิ้นเชิง

แล้วจะมิให้ศิษย์เก่าที่ได้รับการเพาะบ่มให้รักประชาชนและรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มาโดยตลอดรู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนได้อย่างไรล่ะครับ

ผมยังหวังว่าประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่จะยังมีจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันดังเช่นเรื่องราวในอดีตที่ผมฉายภาพย้อนหลังให้เห็นใน 2-3 วันที่ผ่านมานี้

ยังคงที่จะร้องเพลง “ยูงทอง” ด้วยความเคารพและภาคภูมิใจกับต้นยูงทองพระราชทานทั้ง 5 ต้น

ยังคงพร้อมที่จะเทิดพระเกียรติในทุกๆ วิถีทาง ซึ่งทางหนึ่งที่เห็นอยู่ขณะนี้คือ การมุ่งมั่นพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้สมพระเกียรติสืบต่อไป

ผมขอยืนยันว่าไม่เคยคัดค้านหรือขัดข้องเลย มีแต่จะสนับสนุน และให้กำลังใจด้วยซ้ำ สำหรับการต่อสู้เพื่อขับไล่เผด็จการ เพื่อสิทธิเสรีภาพ และเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ฯลฯ

เพราะนี่ก็คือสิ่งที่ธรรมศาสตร์สั่งสอนพวกเราไว้เช่นกัน

ผมเพียงแต่อยากจะย้ำเอาไว้อีกครั้งว่า การต่อสู้เพื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น จะต้องดำเนินไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น

อะไรที่แปลกปลอมไปจากนี้ ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าไม่ใช่สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการแน่นอน…ขอฝากลูกหลานไว้เพียงเท่านี้ละครับ.

“ซูม”

ข่าว, มหาวิทยาลัย, ธรรมศาสตร์, ยูงทอง, โรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, การปฏิรูป, สถาบัน, ซูมซฮกแซก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อีกหนึ่งบันทึกธรรมศาสตร์ ภาพจำเพิ่มเติมวัน “ทรงดนตรี”
ปลูก “ยูงทอง” ไว้เคียง “โดม”..วันที่ “ชาวธรรมศาสตร์” ไม่เคยลืม
ไปนอน รพ.ธรรมศาสตร์ คิดถึง “คำสอน” ธรรมศาสตร์
• จาก “โดมชรา” คนหนึ่ง ถึง “มหา’ลัย” อันเป็นที่รัก