อีกหนึ่งบันทึกธรรมศาสตร์ ภาพจำเพิ่มเติมวัน “ทรงดนตรี”

ผมตั้งใจว่าจะจบข้อเขียน “ซีรีส์” ชุดไปนอนเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จนเป็นเหตุให้มีโอกาสรำลึกความหลังอันประทับใจหลายๆ เรื่องในวันนี้

เผอิญพลิกไปเจอสำเนาเอกสารที่ผมถ่ายมาจากหนังสือพิมพ์ในหอสมุดแห่งชาติ เมื่อหลายๆ ปีก่อนว่าด้วยข่าวการเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นหางนกยูง และทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อีกสำเนาหนึ่ง…ก็เลยต้องเปลี่ยนใจ เพราะอยากให้ท่านผู้อ่านได้อ่านข่าวของฉบับนี้ด้วย

เป็นของหนังสือพิมพ์ “สารเสรี” ครับ ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2506 หลังวันเสด็จฯ 1 วัน เช่นเดียวกัน

รายงานข่าวของ สารเสรี ค่อนข้างละเอียดมากคงต้องเรียงตัวจิ๋วเพื่อให้จบได้พอดีในคอลัมน์…จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่ส่วนใหญ่ก็คงจะมีปัญหาด้านสายตากันพอสมควรแล้ว สำหรับการที่จะต้องมาอ่าน “ตัวจิ๋ว” ในวันนี้…พร้อมแล้วเชิญอ่านได้เลยนะครับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไปรเวต และทรงปลูกต้นหางนกยูงไม้ประจำมหาวิทยาลัยรวม 5 ต้น เท่ากับคณะการศึกษาที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย หลังทรงปลูกต้นหางนกยูงแล้ว พล.อ.ถนอม กิตติขจร อธิการบดีมหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลเชิญเข้าสู่หอประชุม ซึ่งภายในมีวงดนตรีมหาวิทยาลัยและนักศึกษาเฝ้ารับเสด็จอยู่แล้วประมาณ 5,000 คน ล้นหอประชุมเมื่อวันที่ 9 เดือนนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่นักศึกษา ก่อนที่จะทรงดนตรีว่า การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้พระองค์ได้เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ เพราะทรงเป็นหนี้แก่นักศึกษาจึงได้เสด็จฯ มาปลูกต้นหางนกยูงให้ ขอให้ช่วยกันดูแลและบำรุงรักษา จะได้ผลิดอกออกผล ส่วนดอกจะเป็นอย่างไรพระองค์ยังบอกไม่ได้ ฉันใดการศึกษาก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ จึงจะผลิดอกออกผลในที่สุด

เกี่ยวกับที่พระองค์ท่านรับสั่งว่า เป็นหนี้นักศึกษานั้น เนื่องจากนักศึกษาไปตั้งแถวคอยรับแขกชาวต่างประเทศได้เปล่งเสียงไชโยโห่ร้อง ซึ่งเป็นการดี เพราะประมุขชาวต่างประเทศที่มาต่างพอใจมาก ที่ได้รับการต้อนรับอย่างดี ทำให้มีความเข้าใจและเพิ่มพูนความสัมพันธ์กัน การสร้างมิตรสัมพันธ์นั้นจะเกิดแต่รัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทั้งประชาชนและนิสิตนักศึกษา และคราวหน้าที่จะถึงนี้ คือพระเจ้ากรุงกรีกจะเสด็จฯ มา จึงขอความร่วมมืออีกครั้ง

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเข้าร่วมวงดนตรี โดยทรงแซกโซโฟน เพลงแรกพระองค์เป็นผู้ทรงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังไม่มีเนื้อร้อง มีคณาจารย์เลขาธิการมหาวิทยาลัยอธิการบดีและคณบดี ตลอดทั้งนักศึกษาทุกคณะได้ขอให้ทรงบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์สำหรับธรรมศาสตร์ รวมทั้งหมดถึง 10 ครั้ง แต่ละครั้งก็มีผู้ขอบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ถึง 4 หมื่นบาทเศษ

อนึ่ง มีผู้กราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโซโล่เพลงโอมายปาปาด้วยพระองค์เอง เมื่อจบเพลงนักศึกษาต่างปรบมือกึกก้องยาวนาน เช่นเดียวกันนักศึกษาต่างกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปียโน ซึ่งพระองค์ทรงอย่างแคล่วคล่องและไพเราะ ทำให้นักศึกษาเงียบเป็นปลิดทิ้ง เมื่อจบแล้วเสียงปรบมือก็ดังกึกก้องขึ้นอีก จากนั้นมีพระราชเสาวนีย์สั้นๆ ว่า “เล่นไม่ค่อยเป็น ลืมไปเสียบ้างแล้ว”

ครับ! ทั้งหมดนี้ก็คือรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ สารเสรี เมื่อวันเสด็จทรงดนตรีครั้งแรกและปลูกต้นหางนกยูง 9 กุมภาพันธ์ 2506 ที่ผมขอนำลงเสริมรายงานของหนังสือพิมพ์ เสียงอ่างทอง ที่ได้อ่านกันไปแล้วเมื่อวานนี้

บางช่วงบางตอนถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยเราด้วย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยของเรากำลังเปิดประเทศต้อนรับพระราชอาคันตุกะและแขกของรัฐบาลจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลจะมาขอใช้หอประชุมธรรมศาสตร์ซึ่งทันสมัยที่สุดใน พ.ศ.2506 เป็นสถานที่แสดงโขนหรือศิลปะวัฒนธรรมไทยต้อนรับทำให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการรับเสด็จพระราชอาคันตุกะต่างๆ ด้วยการมาเข้าแถวหน้าหอประชุม ดังที่พระองค์ท่านได้ตรัสว่า “ทรงเป็นหนี้นักศึกษา” นั่นเอง

พรุ่งนี้อย่าลืมอ่านตอนจบหรือบทสรุปของซีรีส์นี้กันด้วยนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, หอประชุมใหญ่, มหาวิทยาลัย, ธรรมศาสตร์, ท่าพระจันทร์, หนังสือพิมพ์, สารเสรี, โรงพยาบาล, ธรรมศาสตร์, ซูมซอกแซก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อีกหนึ่งบันทึกธรรมศาสตร์ ภาพจำเพิ่มเติมวัน “ทรงดนตรี”
ปลูก “ยูงทอง” ไว้เคียง “โดม”..วันที่ “ชาวธรรมศาสตร์” ไม่เคยลืม
ไปนอน รพ.ธรรมศาสตร์ คิดถึง “คำสอน” ธรรมศาสตร์
• จาก “โดมชรา” คนหนึ่ง ถึง “มหา’ลัย” อันเป็นที่รัก