100 ปี “กลุ่มสิทธิผล” “2 ล้อ” สู่ “4 ล้อ” และ ฯลฯ

ตำนาน 100 ปีของบริษัทในกลุ่ม “สิทธิผล” เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจบลงด้วยความสำเร็จของหนุ่มจีนแต้จิ๋ว ผู้หอบเสื่อผืนหมอนใบมาปักหลักเปิดเพิงเล็กๆ รับจ้างปะยางและซ่อมจักรยานที่ใต้ต้นโพธิ์ ย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร

กนก ลี้อิสสระนุกูล ใช้เวลาปะยางอยู่เพียงไม่กี่ปีก็สามารถเก็บหอมรอมริบเซ้งตึก เปิดร้านชื่อ “เซ่งง่วนฮง” ซ่อมจักรยาน ขายจักรยานและอะไหล่จักรยานในบริเวณตลาดน้อยนั่นเอง

ต่อมาร้าน เซ่งง่วนฮง ก็ได้เป็นตัวแทน จำหน่ายรถจักรยานของอังกฤษที่โด่งดังระดับโลก ยี่ห้อ “ราเล่ห์” ที่คนไทยรุ่นเก่าทั่วประเทศรู้จักเป็นอย่างดี

หลังจากได้เป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานราเล่ห์แล้ว กิจการของหนุ่มจีน ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่า กนก ลี้อิสสระนุกูล และค่อยๆ หลอมตัวเป็นคนไทยทีละน้อยๆ ก็เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นลำดับ

กนก ลี้อิสสระนุกูล ซึ่งยึดมั่นในปรัชญาของเขาที่ว่า ในการทำการค้านั้น จะต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อลูกค้า โดยจะต้องผลิตหรือจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น และจะต้องคำนึงถึงคุณธรรม โดยไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า…ทำให้กิจการของ “เซ่งง่วนฮง” ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ช่วงนี้เองที่เขาจัดตั้งบริษัทใหม่ในชื่อไทยเคียงคู่ไปด้วย ได้แก่ “บริษัทสิทธิผล 1919” เพื่อรำลึกถึงปีที่เขาเซ้งตึกห้องแรกเมื่อ พ.ศ.2462 ซึ่งหากเทียบกับ ค.ศ. ก็คือปี 1919 นั่นเอง

นอกจากจะยึดมั่นในการค้าขายอย่างสุจริตแล้ว สิ่งที่ กนก ยึดถือมาตลอดก็คือ ต้องซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินไทยที่ให้ความสุขความอบอุ่นแก่เขาที่หลบหนีความยากจนจากประเทศจีนมาพึ่งพาอาศัย และจะต้องหาทางตอบแทนเมื่อมีโอกาส

ซึ่งโอกาสการตอบแทนพระคุณประเทศไทยของเขาในฐานะนักธุรกิจก็คือ การเสียภาษีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง และหนึ่งในเกียรติประวัติที่หนุ่มจีนพเนจร ซึ่งที่พัฒนาตัวเองมาเป็นเจ้าสัวย่อยๆ แล้วเมื่อก่อน พ.ศ.2500 ภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ก็คือ…เขาได้รับการยกย่องจากกรมสรรพากรและรัฐบาลไทยที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีว่าเป็นผู้เสียภาษีสูงสุดของประเทศไทยในปี 2499

พร้อมทั้งเสนอชื่อเขาเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย เป็นเกียรติยศสูงสุดแก่วงศ์ตระกูลในปีดังกล่าว

ผู้ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในความสำเร็จของเจ้าสัวกนกก็คือ คุณ โสภา ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขานั่นเอง ในเอกสารที่จัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสครบ 72 ปี ของบริษัทสิทธิผล 1919 ระบุไว้ชัดเจนตอนหนึ่งว่า “ในการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมดของเขา มีคุณ โสภา ร่วมในการบริหารงานเคียงข้างอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด”

เจ้าสัวกนกกับภรรยา คุณโสภา มีทายาทด้วยกัน 4 คน เรียงตามลำดับได้แก่ ปริญญา, วิทยา, กัลยาณี (บุตรสาว) และ ศรีวัฒนา (บุตรสาว) ซึ่งต่อมาลูกๆ เหล่านี้ก็ขึ้นมารับช่วงบริหารกิจการที่เขาขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายๆ กิจการด้วยกัน และ สามารถต่อยอดความสำเร็จส่งต่อมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน

เจ้าสัวกนกมองทะลุมาแต่แรกแล้วว่า เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น การใช้จักรยานย่อมจะน้อยลง และหันไปใช้ยานพาหนะอย่างอื่น โดยเฉพาะรถยนต์และจักรยานยนต์มากขึ้น ดังนั้น แม้สิทธิผล 1919 จะยังคงจำหน่ายจักรยานอยู่ แต่กนกก็หันไปเน้นทางด้านจำหน่ายและผลิตอะไหล่ สำหรับจักรยานยนต์เป็นหลัก และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ต่อมาในปี 2504 เขาก็ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท สิทธิผลมอเตอร์ เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถ มิตซูบิชิสามล้อ และรถยนต์ มิตซูบิชิ “โคลท์” รุ่นแรก พร้อมกับเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เมื่อ พ.ศ.2507

ก่อตั้งโรงงานผลิตรถกระบะมิตซูบิชิขึ้นในประเทศไทย และกลายเป็นตำนานของการผลิตรถออกจำหน่ายทั่วโลกในอีกหลายๆปีให้หลัง นั่นก็คือ การส่งรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย

ฝีมือคนไทย “มิตซูบิชิ แลนเซอร์ แชมป์” ลอตแรกไปจำหน่ายที่ประเทศแคนาดา เมื่อ พ.ศ.2531

น่าเสียดายที่เจ้าสัวกนกมิได้มีโอกาสได้อยู่ร่วมในความสำเร็จของลูกๆ ที่รับช่วงบริหารต่อจากเขาในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ “เมดอินไทยแลนด์” ดังกล่าว เพราะเขาได้ถึงแก่กรรมเมื่อปลายปี 2516 ด้วยอายุเพียง 74 ปี

ก่อนถึงแก่กรรม เจ้าสัวกนกได้ริเริ่มกิจการไว้อีกหลายอย่างนอกเหนือจากการก่อตั้งบริษัท สิทธิผลมอเตอร์ และ บริษัท สหพัฒนายานยนต์ ที่เข้าไปร่วมทุนกับ มิตซูบิชิ ดังที่กล่าวไว้แล้ว

ปี 2508 กนก ลี้อิสสระนุกูล ริเริ่มก่อตั้ง โรงเรียนกนกเทคโนโลยี ขึ้นด้วย เพื่อผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพที่เขาเห็นว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนอย่างยิ่ง

ปี 2512 ก่อตั้ง บริษัท อีโนเวรับเบอร์ ประเทศไทย ร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นในการผลิตและจำหน่ายยางนอก-ยางในรถจักรยานยนต์ และยางสำหรับยานยนต์ทุกชนิด

ปี 2515 ก่อตั้ง มูลนิธิ กนกโสภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำดอกผลอันได้จากกิจการต่างๆบางส่วนไปบริจาคให้แก่องค์กรการกุศลอื่นๆ

ธุรกิจและกิจกรรมข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรากฐานอันแน่นหนาที่ กนก ลี้อิสสระนุกูล วางไว้กับ “กลุ่มสิทธิผล” ก่อนที่ส่งมอบให้ลูกๆทั้ง 4 ของเขารับช่วงไปขยายผลต่อเนื่อง ในโอกาสต่อมา

กล่าวได้ว่าทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นและเป็นผล มาจากปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของเขาที่มีผู้ประพันธ์เป็นบทกลอนไว้ในโอกาสฉลอง 72 ปี ของการก่อตั้ง บริษัทสิทธิผล 1919 ดังนี้

“มาเสื่อผืนหมอนใบด้วยใจสู้
หมั่นมานะเรียนรู้สู่ความหวัง
อีกซื่อสัตย์สุจริตเป็นนิจจัง
มโนตั้งดั่งนี้ชั่วชีวิต
พร่ำสอนลูกปลูกฝังแต่ยังเยาว์
บรรลุเข้าถึงทางธุรกิจ
คุณภาพ คุณธรรม แนวความคิด
ประจำจิต “สิทธิผล” ทุกคนไป”

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

“ซูม”

กลุ่มสิทธิผล, บริษัทสิทธิผล 1919 จำกัด, จักรยาน, ราเล่ห์, บริษัท 100 ปี, ซูมซอกแซก