เขียนถึง “โรคเก่า” สลับฉาก ลืมยัง? วันนี้…“วันไตโลก”

ผมขอหลบเรื่องไวรัสมหาภัยสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ที่กำลังอาละวาดทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเราด้วยสักวันนะครับ เพื่อหันมาเขียนถึง “โรคเก่า” โรคหนึ่งที่อยู่คู่โลกและคู่ประเทศไทยมานานหนักหนาแล้ว และก็คงจะอยู่ต่อไปตราบนิรันดร์กาล

“โรคไต” ไงครับ…คงได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ คุ้นหูเป็นอย่างดีแล้ว และหลายๆ ท่าน หรือญาติมิตรของท่าน อาจจะกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ด้วยซ้ำ เพราะนี่คือหนึ่งในโรคฮิตติดอันดับของประเทศไทย

ผมได้รับเอกสารจากสมาคมและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโรคไตหลายๆ แห่งสรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมทุกๆ ปี เป็น “วันไตโลก”

เพื่อเป็นการให้ความสำคัญแก่การดูแลรักษาป้องกันโรคไต โดยจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจขึ้นทั่วโลก

สำหรับปีนี้วันนี้ (12 มีนาคม) เป็นวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมพอดิบพอดีจึงถือเป็นวัน “ไตโลก” ดังกล่าว

แต่จะมีการจัดงานกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกหรือไม่ ไม่ทราบได้ เพราะโลกทั้งโลกต่างก็ตกอยู่ภายใต้การระบาดของไวรัสโควิด-19 มากบ้างน้อยบ้างต้องหาทางต่อสู้เอาตัวรอดกันอุตลุดอย่างที่ทราบ

ของประเทศไทยเราแต่เดิมก็มีการแถลงข่าวเตรียมตัวจัดงานครึกโครมพอสมควร ตามโรงพยาบาลหรือสถานที่สำคัญหลายแห่ง

โดยเฉพาะ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้กำหนดที่จะมีกิจกรรมใหญ่ มีทั้งนิทรรศการ และการให้บริการคัดกรอง ณ ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคมนี้

แต่ล่าสุดก็ต้องแจ้งเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดเสียแล้ว เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ระบาดของไวรัสมหาภัยที่ยังไม่หยุดยั้ง จึงไม่เหมาะที่จะไปจัดงานใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และโรงพยาบาล สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคไตแห่งแรกของประเทศไทยก็ได้ส่งเอกสารที่น่าสนใจมาให้ผมช่วยเผยแพร่ต่อ…มีประเด็นที่น่าสนใจหลายๆประเด็นเลยทีเดียว

เริ่มจากคำขวัญของ “วันไตโลก” ปีนี้ ที่ว่า “คัดกรอง ป้องกัน รู้ทันโรคไต” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าถ้าทุกฝ่ายรู้จักป้องกัน หรือรู้ทันเสียหน่อย โรคไตก็อาจจะไม่เกิดขึ้นกับเรา

โดยเฉพาะการรับประทานอาหารและยาเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด จากการศึกษาวิจัยพบว่า การบริโภคอาหารรสชาติ เค็มจัด หวานจัด หรือ มันจัด จะเป็นสาเหตุของหลายโรค รวมทั้ง โรคไต

ขณะเดียวกันการรับประทานยาที่ไม่ระมัดระวัง ประเภทซื้อยารับประทานเอง ก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้เป็นโรคไตได้

มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ได้ไปดำเนินการทดลองโครงการ “คลินิกชะลอไตเสื่อม” ที่ อ.คลองขลุง จังหวัด กำแพงเพชร จนเกิดเป็น “คลองขลุงโมเดล” ต้นแบบของความสำเร็จในการชะลอความเสื่อมของไต ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมงานสหวิชาชีพ

ไปแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การรับประทานยา และการออกกำลังกายจนสามารถที่จะยืดเวลาไตเสื่อมไปได้ถึง 7 ปี ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งของประชาชน และของรัฐบาลได้เป็นอย่างมาก

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในภาพรวมของประเทศไทยนั้น มีประชากรถึงเกือบร้อยละ 18 หรือประมาณ 8 ล้านคน ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกือบ 2 แสนคน

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย แต่ทำการปลูกถ่ายได้เพียงปีละ 400 รายเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษา เช่น ฟอกไตก็ค่อนข้างสูง ตกครั้งละ 1,500-2,000 บาท แถมยังต้องฟอกสัปดาห์ละครั้ง เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และบั่นทอนกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้นการป้องกันเอาไว้ก่อน ด้วยการไม่รับประทานอาหารตามใจปาก ประเภทเค็มจัด หวานจัด มันจัด และรับประทานยาต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง จึงเป็นข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด

ผมก็ขอฝากข้อคิดเห็น ข้อชี้แนะต่างๆ ตามที่สมาคม สถาบันที่เกี่ยวข้องกับโรคไตส่งมาให้ผม เนื่องใน “วันไตโลก 2563” ไว้ให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายไปอ่านเล่น ควบคู่ไปด้วย

ขอให้โชคดี–อโรคยา ปรมาลาภา ผ่านพ้นทั้งโรคไวรัสโควิด-19 และโรคไตวาย…ทั้ง 2 โรคเลยนะครับ.

“ซูม”