วิกฤติ “อุดมศึกษา” ไทย มหาวิทยาลัยร้าง/บัณฑิตตกงาน

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงรายงานข่าวที่ว่ามหาวิทยาลัยเอกชนของไทยหลายๆ แห่งกำลังถูก “ทุนจีน” เข้ามากว้านซื้อ จนถึงขั้นตกลงกันได้แล้ว 2 แห่ง และยังมีการเจรจาต่อรองกันอยู่ รวมๆ แล้ว อาจจะถึง 10 แห่งก็เป็นได้

อันเป็นผลมาจากการที่เด็กไทยเกิดน้อยลง ทำให้จำนวนผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยลดลงอย่างมาก มหาวิทยาลัยบางแห่งถึงกับต้องปิดหรือยกเลิกการสอนในบางคณะ ตกอยู่ในภาวะการขาดทุน ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด

เป็นที่มาของการเปิดสอนเป็นภาษาจีนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ ของจีน ดึงนักศึกษาจีนมาเรียน และในที่สุดก็พัฒนาไปจนถึงขั้นมี “ทุนจีน” เข้ามาซื้อกิจการมหาวิทยาลัยไทยดังที่เป็นข่าว

ผมไม่มีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแสดงความคิดเห็นได้ว่า การเข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนไทยของทุนจีนจะเกิดผลบวกหรือผลลบทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองอย่างไรบ้างในอนาคต?

จึงเสนอไว้แค่เพียงข้อเท็จจริงกับความรู้สึกห่วงกังวล ถามไถ่ไปยังท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในท่อนท้ายของข้อเขียนฉบับเมื่อวานนี้

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนต่อถึงปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งก็คงจะครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และของเอกชนควบคู่กันไป

นั่นก็คือปัญหา “บัณฑิตว่างงาน” หรือ “บัณฑิตตกงาน” ซึ่งมีรายงานข่าวว่าพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในระยะหลังๆ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ผลการสำรวจพบว่ามีบัณฑิตตกงานในปัจจุบัน หรือตกงานอยู่แล้วประมาณ 370,000 คน และเมื่อถึงเดือนมีนาคม 2563 จะมีบัณฑิตจบออกมาจากมหาวิทยาลัยอีก 3 แสนคน รวมแล้วเป็น 6 แสนคน

หากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังเป็นอย่างนี้ จำนวนคนตกงานน่าจะสูงขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน

ทางรัฐบาลเองก็รับรู้ในตัวเลขนี้ และได้เตรียมโครงการไว้สำหรับรองรับ เรียกว่า “โครงการยุวชนสร้างชาติ” เตรียมงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งที่จะรับมือกับปัญหาบัณฑิตตกงาน

มีทั้งการรื้อฟื้น โครงการบัณฑิตอาสา คล้ายๆ โครงการของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในยุคก่อน โดยจะใช้เงินถึง 8,000 ล้านบาท รับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี จำนวน 50,000 คน ให้ลงไปพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน ในอัตราเงินเดือน 10,000-15,000 บาท

ขณะเดียวกันก็จะมี โครงการอาสาประชารัฐ งบประมาณ 500 ล้านบาท รับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ปีที่ 4 จำนวน 10,000 คน ให้ไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน 4-5 เดือน หรือ 1 ภาคเรียน ให้เงินคนละ 5,000 บาท และยังโอนการทำงานนี้มาเป็นหน่วยกิตได้ด้วย

นึกย้อนหลังกลับไปผมจำได้ว่าเคยเขียนตั้งข้อสังเกตไว้หลายครั้งว่าประเทศเราจะมีมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่ให้การศึกษาสูงถึงระดับปริญญาตรีมากไปหรือเปล่าหนอ?

เพราะรวมๆ แล้วมีถึงกว่า 120 มหาวิทยาลัย หรือสถาบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เท่าที่ผมนั่งนับดูเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนก็มีถึง 42 แห่งเข้าไปแล้ว และส่วนใหญ่ก็สอนวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ทั่วๆ ไปมากกว่าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือวิชาชีพที่ตลาดต้องการ

ในที่สุดสิ่งที่วิตกไว้ก็เกิดขึ้น เมื่อมีการสำรวจตัวเลขการว่างงานของบัณฑิตดังที่เป็นข่าว

ที่รัฐบาลท่านลงมือช่วยแก้ไขขณะนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่ดีแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ในระยะยาวคงต้องหันมาคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทบทวนสถานการณ์ ปัญหาและข้อเท็จจริงของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษากันอย่างจริงจัง เพื่อหาทางออกที่ถูกต้อง

เหนื่อยนะครับหากว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยที่เปรียบเสมือนทัพหน้าของการไปสู่ 4.0 มีปัญหาถึง 2 ด้าน คือปัญหามหาวิทยาลัยเอกชนคนเรียนลดลง จนต้องไปพึ่งทุนจีนและปัญหาคนเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วตกงานอย่างที่เราคุยกันมา 2 วันนี้

ขืนปล่อยเอาไว้ไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ระวังจะลดไป 2.5 หรือ 2.0 เอานะครับ บิ๊กตู่.

“ซูม”