เคล็ดลับของโนเกีย ล้มแล้วทำไมลุกได้?

ผมยกเนื้อที่ให้แก่มูลนิธิไทยรัฐเพื่อเผยแพร่เรื่องราวและข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับพิธีเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของโลก กำพล วัชรพล เสียหลายวัน…วันนี้ขอกลับไปที่ “ฟินแลนด์” ประเทศจิ๋วแต่แจ๋วประเทศหนึ่งของยุโรปและของโลกที่ผมยังเขียนค้างอยู่

ยังมีความประทับใจอีก 2-3 เรื่องที่ผมตั้งใจจะเขียนผ่านคอลัมน์ ในวันธรรมดาๆ มากกว่าที่จะเก็บไว้เขียนในซอกแซกวันอาทิตย์

เรื่องแรกเลยก็คือบริษัท Nokia น่ะครับ…โนเกียที่ผมคิดว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ล้านคนในประเทศไทยน่าจะเคยรู้จักและเคยใช้มือถือยี่ห้อนี้ กันมาบ้างแล้ว

แต่แล้วจู่ๆ โทรศัพท์โนเกียก็แทบสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย (ได้ข่าวว่าจากโลกด้วย) เมื่อคนไทยและคนทั้งโลกหันมาหลงใหลได้ปลื้มกับมือถือสมาร์ทโฟนยี่ห้อต่างๆ จนลืมมือถือโนเกียไปอย่างเหลือเชื่อ

ลือกันว่า เพราะโนเกียไม่ได้เตรียมเทคโนโลยีทันสมัยนี้ไว้ หรือชะล่าใจ หรือคาดไม่ถึง หรืออะไรก็แล้วแต่เถอะ…เอาเป็นว่าโนเกียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้แก่โทรศัพท์อัจฉริยะอื่นๆ และต้องหายต๋อมไปจากตลาดเป็นเวลานานพอสมควร

เพิ่งจะกลับมาใหม่เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วนี่เอง ที่เริ่มจะมีมือถือยี่ห้อนี้ออกมาขายกับเขาบ้าง แต่ก็ยังเป็นยี่ห้อท้ายๆ ไม่ดังเหมือนไอโฟน ซัมซุง หรือแม้แต่หัวเหว่ยด้วยซ้ำ

ในช่วงแพ้สงครามโทรศัพท์มือถือผมเคยอ่านข่าวเจอว่าโนเกีย ซึ่งเป็นแบรนด์ของฟินแลนด์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อรายได้จากการส่งออกและต่อจีดีพีของฟินแลนด์อย่างมาก…ได้สูญเสียความยิ่งใหญ่ไปในบัดดล

แต่โนเกียก็มิได้ยอมแพ้ มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ หันมาเน้นด้านโครงข่ายหรือการขายหรือสร้างระบบสื่อสารทั้งระบบ พร้อมพัฒนาตัวเองสู่เทคโนโลยีใหม่ จนกลับมายิ่งใหญ่อีกหน

เมื่อผมกับคณะสื่อมวลชนไทยมีโอกาสไปเยี่ยมกองบัญชาการของโนเกียที่เขตเมืองเอสปู ซึ่งอยู่ริมขอบด้านใดด้านหนึ่งของเฮลซิงกิในบ่ายวันหนึ่ง ผมก็ถึงบางอ้อในทันทีว่า เพราะเหตุนี้นี่เองที่ทำให้โนเกียเอาตัวรอดได้ และยังผงาดอยู่ ณ วันนี้

นั่นก็คือการยึดมั่นอยู่ใน “คาถา” สำหรับการพัฒนาประเทศยุคใหม่ที่เรียกกันว่า “วิจัย” และ “พัฒนา” นั่นเอง

วิจัยอย่างไม่หยุดยั้งคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโนเกียมาตลอด

หลังจากแพ้สงครามโทรศัพท์ โนเกียก็หันไปทุ่มให้กับระบบโครงสร้างโทรคมนาคมสื่อสาร และอินเตอร์เน็ตอย่างเต็มตัว มีการเข้าหุ้น และในที่สุดก็ซื้อบริษัทวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ เหล่านี้ทั้งจากฝรั่งเศสและสหรัฐฯ เข้ามารวมกับหน่วยวิจัยเดิมที่มีอยู่

อีกไม่นานต่อมาโนเกียก็สามารถประกาศวิสัยทัศน์ รวมทั้งโฆษณาตัวเองจนโด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้งด้วยถ้อยคำต่างๆ ดังต่อไปนี้

“โนเกีย คือ ผู้นำระดับโลกในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีสำหรับยุคแห่งการเชื่อมต่อ เรามีศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พร้อมรองรับผู้ให้บริการระบบสื่อสารภาครัฐ องค์กรขนาดใหญ่ และผู้บริโภคด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์, บริการและสิทธิการใช้งานที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรที่สุด

“ไม่ว่าจะเป็นการมอบโครงสร้างระบบเพื่อรองรับ 5G และอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงการรองรับเทคนิค Virtual reality และการติดตามสุขภาพแบบดิจิทัล (digital health)”

ผมเป็นคนโลว์เทคอ่านแล้วยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดว่าสินค้า หรือเทคโนโลยีที่โนเกียยุคใหม่กำลังขาย หรือจะขายคืออะไร? หมายความว่าอย่างไร? และรวมทั้งเอาไปขายให้ใครบ้าง?

แต่เมื่อแอบเปิดรายงานประจำปี 2018 ซึ่งเป็นปีล่าสุดของเขาดูก็พบว่า เขามีรายได้ตลอดทั้งปี 22,560 ล้านยูโร มีผลกำไร 549 ล้านยูโร มีสินทรัพย์ทั้งหมด มูลค่า 39,520 ล้านยูโร มีพนักงานทั่วโลก 103,083 คน ในกว่า 100 ประเทศ และดำเนินธุรกิจกับประเทศทั้งหมด 130 ประเทศ

สำหรับโทรศัพท์มือถือที่กลับมาใหม่ แม้จะมีโชว์รูมอยู่ที่ตึกโนเกียสำนักงานใหญ่ด้วยกัน แต่ผู้บรรยายต้อนรับพวกเราบอกว่า เป็นของบริษัท HMD Global ซึ่งได้ลิขสิทธิ์โทรศัพท์โนเกียไปแล้ว และบริษัทโนเกียปัจจุบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนต่างๆ

สรุปของสรุปจากบทเรียนของโนเกียก็คือ “วิจัย” เท่านั้นที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเดินไปข้างหน้า ซึ่งก็เป็นบทเรียนที่เรารู้มานมนานแล้วและตั้งสภาวิจัยแห่งชาติมาแล้วถึง 60 ปี (พ.ศ.2502 ยุคจอมพลสฤษดิ์)

แต่ไปมัววิจัยอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้ เราถึงยังเป็นเราอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และยังต้องเสียเงินซื้อเทคโนโลยีบานตะไทอยู่ในปัจจุบัน.

“ซูม”