“ดราม่าไอศกรีม “ไผ่ทอง” ใช้ “วิกฤติ” เป็น “โอกาส”

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวดราม่าในตระกูลผู้ผลิตไอศกรีมยี่ห้อไผ่ทอง ถือเป็นเรื่องท็อปฮิตติดอันดับต้นๆ ของโลกโซเชียลบ้านเราเลยทีเดียว

มีการแชร์ มีการโพสต์ มีการเม้นต์กันอย่างกว้างขวางของ “ศึกสายเลือด” เมื่อแม่ซึ่งเป็นเจ้าของไอศกรีมยี่ห้อ “ไผ่ทองไอสครีม” ถึงกับยื่นฟ้องลูกชายที่ผลิตไอศกรีมตราสัญลักษณ์เดียวกัน ชื่อยี่ห้อก็คล้ายกัน ออกเสียงเหมือนๆ กัน

ต่างกันตรงตัวสะกด เพราะของแม่ใช้ ส.เสือ และลูกชายใช้ ศ.ศาลา จึงออกมาเป็น “ไผ่ทองไอศครีม” อย่างที่เห็นๆ ในท้องตลาดขณะนี้

คุณแม่ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของดั้งเดิมวัย 82 ปีแล้ว ในขณะที่ฝ่ายลูกที่ถูกฟ้องว่าเลียนแบบอายุ 54 ปี จากรายงานข่าวล่าสุดของ “ไทยรัฐออนไลน์” ที่ผมอ่านเมื่อสายๆ วันพุธที่ผ่านมา

ในรายงานพิเศษของ ไทยรัฐออนไลน์ ฉบับนี้ พาดหัวว่า “รอผมตายก่อน” แม่ลูก “ไอติมไผ่ทอง” สัมพันธ์ขาดสะบั้น

และในท่อนสุดท้าย ไทยรัฐออนไลน์ จบด้วยประโยคของลูกชายว่า “เป็นเรื่องเศร้าใจที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในครอบครัวแบบนี้ และในฐานะที่ถูกแม่ฟ้องก็ถือว่าวิกฤตินี้เป็นโอกาสที่ดีที่เข้าสู่กระบวนการรอศาลตัดสิน ซึ่งดีกว่าการจบลงด้วยการใช้กำลังทำร้ายกัน ไม่เช่นนั้นรุ่นลูกรุ่นหลานต่อๆ  ไปจะขัดแย้งกันไม่จบ”

ส่วนสถานที่สัมภาษณ์นั้นก็คือโรงงาน ไผ่ทองไอศครีม ที่ สะพานขาว ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยี่ห้อที่ใช้ “ศ.ศาลา” ในคำว่า ไอศครีม นั่นเอง

ผมคิดว่าท่านผู้อ่านที่เดินทางไปตามท้องถนนสายต่างๆ ใน กทม. น่าจะคุ้นเคยกับไอศกรีมไผ่ทองไม่มากก็น้อย…เป็นไอศกรีมแบบ 3 ล้อถีบ จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปใบไผ่สีทองบนสีเขียว มองเห็นถนัดตา

รสชาติของไอศกรีม ซึ่งจะบรรจุเป็นถังต่างๆ ในตัวถังรถ 3 ล้อจะมีทั้งรสวานิลลา, กะทิ, ช็อกโกแลต ฯลฯ แต่ที่ดังมากก็คือรสเผือก

ข้างๆ ตัวถังก็จะมีโถข้าวเหนียว โถลูกชิด โถขนุนเชื่อม สับปะรดเชื่อม ถั่วแดงเชื่อม ฯลฯ รวมทั้งถั่วลิสงคั่ว สำหรับใช้ใส่ในไอศกรีม เพื่อรับประทานคละเคล้ากันไป

ผมเป็นแฟน ไอศกรีมไผ่ทอง มานานมาก และเคยเขียนให้เต็มคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว

เหตุที่เขียนถึงก็เพราะสำนักงานเก่าแก่ของผมเมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ อันได้แก่ สภาพัฒน์ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งอยู่ที่สะพานขาวนั้น อยู่ใกล้ๆ กับโรงงานไอศกรีมไผ่ทอง ที่สะกดด้วย “ศ.ศาลา” ของคุณลูกชายนั่นเอง

ห็นมาตั้งแต่ยังเป็นร้านเล็กๆ  จนกลายเป็นโรงงานเล็กๆ แบบ SME มีเครื่องจักรมาช่วยผลิต

ช่วงที่ผมเป็นผู้อำนวยการกองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนาที่สภาพัฒน์ประมาณ พ.ศ.2534-2535 เวลาเลี้ยงปีใหม่ กองเราจะสั่งไอศกรีมไผ่ทองมาเป็นของหวานอยู่เสมอ

ช่วงนั้นไผ่ทองสะพานขาวเริ่มพัฒนามาเป็นแบบใส่กล่องขนาดเขื่องๆ มีซองพลาสติกห่อเครื่องเคียงและจะให้ยืมที่ตักไอศกรีมที่เป็นโลหะแข็งๆ ขาวๆ มาด้วย สำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อเป็นกล่องๆ ไปตามงานเลี้ยง

ที่สายหวานอย่างผมชอบมากก็คือไอศกรีมเผือกครับ ใส่ลูกชิดลงไปนิด ข้าวเหนียวอีกหน่อย โรยถั่วลิสงคั่วลงไปด้วย อร่อยอย่าบอกใคร

เมื่อมาอ่านข่าวว่ามีดราม่า มีไผ่ทอง 2 แห่ง ทั้ง ส.เสือ ศ.ศาลา ในขณะนี้ผมจึงรู้สึกอินมากกว่าคนอื่นๆ เพราะความหลังฝังใจอย่างที่ว่า

คดีนี้จะจบลงอย่างไร อยู่ที่ศาลสถิตยุติธรรมท่านจะวินิจฉัยและมีคำพิพากษา แต่ในฐานะแฟนคนหนึ่งของไอศกรีมยี่ห้อนี้ ผมก็อยากจะฝากข้อคิดเห็นว่า ขอให้ใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาส เพราะการโด่งดังอย่างมากในโซเชียลงวดนี้ ทำให้ผู้คนรู้จักไอศกรีมยี่ห้อนี้ไปทั่วประเทศไทย

เมื่อเรื่องราวจบลงแล้ว น่าจะนำไปขยายผล ทำให้กลายเป็นไอศกรีมแบรนด์ระดับชาติ สู้กับไอศกรีมฝรั่งซะเลย

หามือตลาดดีๆ มาช่วยทำ อาจจะเป็นคู่แข่งไอศกรีม “สเวนเซ่นส์” จากอเมริกาก็ได้นะครับ

ช่วงนี้สเวนเซ่นส์ไปโลดมาก ไม่มีไอศกรีมไทยประกบได้เลย ต่างกับร้านกาแฟ สตาร์บัคส์ ที่มี คาเฟ่อเมซอน ของ ปตท.ประกบซะอยู่หมัด อย่างที่ผมเขียนถึงสัปดาห์ก่อน

ใครช่วยโปรโมตไอศกรีมไทยสู้ “สเวนเซ่นส์” บ้างนะครับ ถ้าไม่ใช่ “ไผ่ทอง” จะเป็น “ทิพย์รส” หรือ “มหาชัย” ฯลฯ หรืออะไรก็ได้ ผมเอาใจช่วยเต็มที่เลยซีน่ะ.

“ซูม”