“2 ฮีโร่โอลิมปิกรุ่นแรก เส้นทางชีวิตที่ต่างกัน”

ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์กรณีสมรักษ์ คำสิงห์ นักชกเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของประเทศไทยถูกฟ้องล้มละลาย และคดีดำเนินมาจนถึงขั้นพิทักษ์ทรัพย์ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ออกประกาศพิทักษ์ทรัพย์ขั้นเด็ดขาดทั้งของสมรักษ์และภริยาไปแล้วนั้น…เรียนตรงๆ ว่ารู้สึกใจหายครับ

จะไม่ให้ใจหายได้อย่างไรล่ะครับ ผมน่ะเป็นหนึ่งในสักขีพยานเลยเชียวละ เมื่อวันที่ สมรักษ์ คำสิงห์ มารับเช็คเงินอัดฉีด 10 ล้านบาท ที่หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เป็นตัวตั้งตัวตีในการมอบให้แก่นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกใน พ.ศ.นั้น

ซึ่งก็คือ พ.ศ.2539 หรือ ค.ศ.1996 ที่รัฐบาลในยุคดังกล่าวยังไม่มีเงินก้อนใหญ่มาตั้งรางวัลอัดฉีดให้แก่นักกีฬาไทย จ่ายทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง รวมแล้วหลายร้อยล้านบาทอย่างทุกวันนี้

จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐนี่แหละครับ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ โดยความริเริ่มของ คุณสราวุธ วัชรพล ซึ่งใช้วิธีรวมพลังจากอภิมหาสปอนเซอร์มาเตรียมการไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ตั้งรางวัลไว้เฉพาะ เหรียญทอง เท่านั้น โดยระบุเป็นกติกาไว้ว่า นักกีฬาไทยคนไหน ประเภทกีฬาใดก็ตาม ได้เหรียญทองมารับไปเลย เหรียญละ 10 ล้านบาท ได้กี่คนกี่เหรียญทองไทยรัฐจะจ่ายให้ทุกเหรียญ

ปรากฏว่าในปี 1996 หรือ “แอตแลนตา” โอลิมปิก ไม่มีนักกีฬาประเภทอื่นๆ ได้เหรียญทองเลย มีแต่เจ้าบาส สมรักษ์ คำสิงห์ นี่แหละที่สามารถเอาชนะคะแนน เซราฟิน โทโดรอฟ นักชกบัลแกเรีย ในรอบชิงชนะเลิศมวยสมัครเล่นรุ่นเฟเธอร์เวทได้สำเร็จ

วันที่สมรักษ์ได้เหรียญทองนั้นคนไทยมีความสุขกันทั้งประเทศเพราะเป็นเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของประเทศไทย

ต่อมาเขาก็มารับเช็คเงินสด 10 ล้านบาท จากคุณ สราวุธ วัชรพล ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และยังบอกกับพวกเราว่า พอรู้ข่าวว่านักกีฬาที่จะได้เหรียญทองจะได้ 10 ล้านบาทจากไทยรัฐ พวกเรานักมวยก็ลงมือซ้อมกันยกใหญ่ เพราะรู้ว่าพวกเรามีโอกาสสูงกว่านักกีฬาอื่นๆ

ตัวเจ้าบาส-สมรักษ์นั้น ถึงกับชกกระสอบทรายไปตะโกนไปว่า 10 ล้าน! 10 ล้าน! นึกไม่ถึงว่าในที่สุดเงิน 10 ล้านบาทก็มาอยู่ในมือของเขาจริงๆ

ก็สมควรที่ สมรักษ์ คำสิงห์ ใน พ.ศ.นั้น จะรู้สึกตื่นเต้นจนมือไม้สั่นขณะรับเช็คอยู่หรอกครับ เพราะเงิน 10 ล้าน เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วมีค่ามากซื้อบ้านเล็กๆ 1 หลัง รถญี่ปุ่น 1 คัน ก็ยังเหลืออีกไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาท

ผมนั่งคิดในขณะนั้นว่า สมรักษ์คงสบายไปทั้งชีวิต เพราะซื้อบ้าน ซื้อรถเสร็จ ฝากเงินที่เหลือไว้กินดอกเบี้ยก็ยังอยู่ได้สบาย

ต่อมาปรากฏว่า เจ้าบาสได้เข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ผมก็ยิ่งมั่นใจว่าชีวิตของเขาคงจะมีความสุขไปจนแก่เฒ่าแน่นอน

ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่าเขาถูกพิทักษ์ทรัพย์อันเป็นขั้นตอนแรกๆ ของการถูกฟ้องล้มละลายผมจึงอดที่จะใจหายเสียมิได้ ด้วยประการฉะนี้

ขอเรียนว่าข้อเขียนวันนี้มิใช่เป็นการซ้ำเติมแต่อย่างใด มีแต่ความเห็นใจและอยากให้กำลังใจสมรักษ์เป็นที่สุด

ผมเชื่อว่าชีวิตคนเราย่อมมีขึ้นมีลง มีโชคดี มีโชคร้าย ดังนั้น เมื่อโชคร้ายมาถึง จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่เถอะ ขอให้ยืนหยัดสู้อย่างถึงที่สุด เพราะในที่สุดก็อาจจะกลับมาโชคดีอีกครั้งก็ได้ในอนาคต

สำหรับโครงการอัดฉีดเงินให้นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกของไทยรัฐนั้น ยังคงดำเนินต่อมาอีกหนึ่งสมัยใน “ซิดนีย์โอลิมปิกปี 2000”

นักกีฬาไทยเราได้เหรียญทองกลับมาคนเดียวอีกครั้ง นับเป็นเหรียญที่ 2 ของประวัติศาสตร์โอลิมปิก ซึ่งก็เป็นนักมวยเช่นกัน ได้แก่ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ในรุ่นฟลายเวท

วิจารณ์มารับเช็ค 10 ล้าน จากคุณสราวุธเช่นเคย จากนั้นก็เข้ารับราชการตำรวจใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ แทบจะหายไปจากสังคมไทยในระดับชาติ

แต่ในระดับต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่จังหวัด อุตรดิตถ์ ขณะนี้ไปไหน ใครๆ ก็รู้จัก เพราะยศและตำแหน่งล่าสุดของเขาคือ พ.ต.ท.วิจารณ์ พลฤทธิ์ สารวัตรอำนวยการ สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ใหญ่ไม่ใช่เล่นนะเนี่ย

พ.ต.ท.วิจารณ์ พลฤทธิ์ หากจะใช้สำนวนของคุณ “ไว เด่นชัย” ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ชอบโพสต์เสมอๆ ในโซเชียลว่า “กินข้าวบ้านดีจังตังค์อยู่ครบ” ก็คงจะนำมาใช้กับ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ได้เป็นอย่างดี

เขาจะกินข้าวบ้านหรือไม่ไม่ทราบ แต่ตังค์ 10 ล้านบาทจากไทยรัฐ น่าจะอยู่ครบแน่ เพราะมีข่าวว่าเขาเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ เป็น 1 ในฮีโร่โอลิมปิกที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมาจนถึงวันนี้.

“ซูม”