เลขาธิการสภาพัฒน์ ตำแหน่งนี้ยังมีความหมาย (1)

มีข่าวที่ผมติดค้างเอาไว้ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์อยู่ข่าวหนึ่ง ที่ผมบอกว่า ไม่อยากจะหยิบมาเขียนถึงในช่วงเวลาที่คนไทยเรากำลังมีความสุขและสนุกสนานกับเทศกาลปีใหม่ไทย

เพราะเนื้อหาสาระหรือความคิดเห็นที่มีต่อข่าวนี้อาจจะหนักเกินไป มีเรื่องของนโยบายของหลักการหรือวิชาการเข้ามาผสมผสานบ้างไม่เหมาะแน่ๆ กับช่วงเวลาที่คนไทยกำลังเฮฮาอยู่กับการสาดน้ำหรือออกเดินทางไปทั่วประเทศ

วันนี้กลับมาทำงานกันตามเดิมแล้ว ได้เวลาละครับที่ผมจะขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวที่ขึ้นพาดหัวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ก่อนสงกรานต์เพียง 1 หรือ 2 วัน

ข่าวการโยกย้ายท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในนามของสภาพัฒน์ คุณปรเมธี วิมลศิริ ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั่นแหละครับ

เพื่อแทนปลัดคนเก่าที่ถูกให้ออกจากราชการ เพราะพัวพันกับคดีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย แล้วก็โยกย้ายท่านปลัดกระทรวงการคลัง คุณ สมชัย สัจจพงษ์ มาดำรงแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์แทน

ลำพังแค่โยกย้าย 2 ท่านนี้ก็เป็นข่าวใหญ่หน้า 1 อยู่แล้ว เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญของทางราชการและเป็นการย้ายนอกฤดูกาลอย่างกะทันหันอย่างที่เรียกกันว่าย้ายฟ้าผ่าหรืออะไรทำนองนั้น

แต่ข่าวนี้กลับใหญ่หรือฮือฮาขึ้นไปอีก เมื่อท่านปลัดกระทรวงการคลังตัดสินใจยื่นใบลาออก ไม่ยอมรับตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ ทั้งๆที่ยังมีอายุราชการอยู่อีกหลายปี

เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา และลงท้ายท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่มีการยับยั้งเป็นอันขาด เพราะคนที่เป็นข้าราชการเมื่อได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไหนก็ต้องไปปฏิบัติ ณ ที่นั้น

ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ และตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังยังคงว่างอยู่จนถึงขณะนี้ และกำลังรอว่ารัฐบาลจะเลือกใครขึ้นดำรงตำแหน่งอันสำคัญทั้ง 2 ตำแหน่งดังกล่าว

ประเด็นที่ผมตั้งใจจะหยิบมาเขียนถึงคงไม่ใช่สาเหตุของการลาออกของท่านปลัดกระทรวงการคลังว่าเป็นเพราะเหตุใด? ไม่เข้าขากับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้อย่างที่เป็นข่าวจริงหรือไม่?

ผมเคารพในการตัดสินใจของท่าน เพราะในการตัดสินใจลาออกและปฏิเสธตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันในทางราชการได้อย่างเด็ดเดี่ยวนั้นแสดงว่าท่านคิดอย่างรอบคอบแล้ว

ที่ผมมีความประสงค์จะเขียนถึงในวันนี้จะเป็นในซีกของตำแหน่ง เลขาธิการสภาพัฒน์ มากกว่า เพราะไม่ว่าอย่างไร ตำแหน่งก็ว่างลงแล้ว เพราะย้ายคุณปรเมธีออกไปแล้ว

ตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไร? ยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่? และคุณสมบัติของผู้จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ควรเป็นอย่างไร?

คือประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในการเฟ้นหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ท่านต่อไปไม่มากก็น้อย

ผมเห็นว่าตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ยังคงเป็นตำแหน่งที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ เพราะนอกจากจะมาทำหน้าที่กำกับดูแลการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะต้องทำทุกๆ 5 ปีแล้ว ยังจะต้องดูแลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศในทุกด้านตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศอีกด้วย

ดูจะมีภารกิจมากกว่า และหนักหน่วงกว่าเลขาธิการสภาพัฒน์ในอดีต โดยเฉพาะในยุคที่ก่อตั้งมาใหม่ๆ มาจนถึงก่อนที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2557 เสียด้วยซ้ำ

การเลือกการเฟ้นตัวบุคคลที่จะมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ จึงเป็นงานสำคัญยิ่งของรัฐบาล ปัจจุบันที่คงไม่อยากจะให้ผลงานที่ท่านคิดค้นขึ้นมา และถือเป็นนโยบายเอกของท่าน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องสะดุดหยุดลง หรือมีอายุเพียงแค่รัฐบาลนี้เท่านั้น

มองในประเด็นนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงรู้สึกผิดหวัง และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรู้สึกผิดหวัง ที่ท่านปลัดกระทรวงการคลังปฏิเสธตำแหน่ง และได้แสดงออกจากการให้สัมภาษณ์ทั้ง 2 ท่านด้วยท่าทีที่ไม่ค่อยสบอารมณ์

(อ่านต่อพรุ่งนี้)

“ซูม”