อย่าลืมปรัชญายุค 2.0 ขยันหมั่นเพียรใช้ได้ทุกยุค

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์มติชน หยิบยกคำสัมภาษณ์ของท่านอาจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ เจ้าตำรับสวนดุสิตโพล มาเป็นข่าวหน้า 1 ผมอ่านแล้วก็ต้องรีบตัดเก็บใส่แฟ้มเอาไว้

อาจารย์สุขุมบอกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยรวมกันถึงกว่า 200 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 150 แห่ง เพราะ 2 ปีที่ผ่านมามีการปิดตัวลงไปจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน

สาเหตุที่ปิดตัวเองก็มาจากหลักดีมานด์ซัพพลายทางเศรษฐศาสตร์นั่นแหละครับ วิชาไหน คณะไหน มหาวิทยาลัยไหนผลิตบัณฑิตที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดมากๆ จบแล้วไม่มีงานทำ มหาวิทยาลัย หรือคณะ หรือวิชานั้นๆ ก็จะไม่มีคนเรียน

สำหรับคณะ หรือแผนกวิชาที่คนเรียนน้อยลงจนต้องปิดไป ท่านก็ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตของท่านว่า เคยเปิดทั้งหมด 60 สาขา ปัจจุบันปิดไปแล้วถึง 36 สาขา

ส่วนใหญ่เป็นสาขานิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ ที่ระยะหลังๆ แทบไม่มีคนเลือกเรียนเลย

ถามว่าสาขาไหนที่เด็กๆ อยากเรียนมากที่สุด คำตอบก็คือ สาขาพยาบาลศาสตร์ อาหาร และหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล

แม้ตัวอย่างที่อาจารย์สุขุมนำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง จะเป็นตัวอย่างเพียงมหาวิทยาลัยเดียว แต่ผมก็เชื่อว่าสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยเราทุกวันนี้อย่างถูกต้อง

ใครจะอยากเรียนนิเทศศาสตร์ (ซึ่งเคยฮิตมากเมื่อ 10 ปีก่อน) เพราะเป็นอาชีพที่จะตกงานง่ายสุด และหางานยากสุดนับแต่นี้เป็นต้นไป

จากการปิดตัวเองของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงการขาดทุนย่อยยับของโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่รอวันตายกันเป็นแถวๆ ในขณะนี้

ครุศาสตร์ก็เช่นกัน เปิดสอบครูทีไรคนสมัครเป็นหลายๆ หมื่น เพื่อแย่งตำแหน่งที่มีอยู่นิดเดียว แสดงว่าใครเรียนครูโอกาสไม่มีงานทำจะสูงมาก

จึงถูกต้องแล้วที่เด็กๆ อยากจะเรียนพยาบาล ซึ่งน่าจะยังหางานง่ายกว่า รวมทั้งวิชาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ที่สมัยนี้หางานได้ง่ายมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลท่านก็ยังกล่อมหูอยู่ทุกวันว่า 4.0 เราต้องไปสู่ 4.0 เพิ่มรายได้จากนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ จะมีสมาร์ทฟาร์เมอร์ จะมีชาวนา 4.0 จะมีสตาร์ตอัพ จะมีเอสเอ็มอี 4.0 ฯลฯ

เด็กไทยรุ่นใหม่ก็เลยฝันว่าจะเป็นเด็กนวัตกรรมและจะมุ่งไปเรียนทางด้านนี้เป็นส่วนมาก โดยลืมข้อเท็จจริงไปว่า คนจะเรียนได้ต้องสมองเลิศพอสมควร และในประเทศไทยจะมีสักกี่คน

ที่สำคัญจะมีสักกี่คนที่ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพร่ำรวยร้อยล้านในชั่วพริบตา

เพียงแต่คนชอบจะพูดถึงหรือยกตัวอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จ และมักจะลืมเอ่ยถึงผู้ที่เจ็บหรือขาดทุนปิดกิจการระเนนระนาด ซึ่งมีมากกว่า

แต่ก็เอาเถอะครับ รัฐบาลจะประชาสัมพันธ์หรือมุ่งเน้นในนโยบาย 4.0 อย่างไร ผมเองเรียนหลายครั้งแล้วว่าไม่ขัดข้อง เพราะบนเส้นทางการพัฒนาประเทศ อย่างไรเสียเราก็จะต้องมุ่งหน้าไปสู่จุดที่ว่านี้

ผมเพียงแต่ท้วงติงเอาไว้บ้างเท่านั้น ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงความเป็นจริงของประเทศไทยและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยว่าคนไทยไม่มีสิทธิไป 4.0 ได้ทุกคน และจริงๆ แล้วจะไปได้น้อยมาก

จะได้ไม่เร่งรัดหรือใจร้อนเกินเหตุ จนนำไปสู่การลงทุนใหญ่ต่างๆ ใช้เงินใช้ทองมากมายกลายเป็นการสูญเสียสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

สำหรับเด็กหรือเยาวชนของเรานั้นเมื่อฟังรัฐบาลพูดถึง 4.0 ก็ขอให้ฟังหูไว้หู และอย่าฝันตามรัฐบาลไปอย่างสุดตัว มุ่งจะเป็นแต่เด็กเทคโนโลยีหรือเด็กนวัตกรรม อยากรวยเร็ว อยากทำงานสบายๆ จนลืมปรัชญาที่สำคัญยิ่งในยุคประเทศไทยสร้างเนื้อสร้างตัวในยุค 2.0 ไปเสียหมด

ปรัชญาหรือค่าสั่งสอนของผู้ใหญ่ยุคก่อนก็คือ ขอให้เด็กๆ อย่าเลือกงาน งานอะไรก็ได้ที่สุจริตก็ขอให้ทำไปเถิด หนักเหนื่อยแค่ไหนก็ขอให้อดทน ขอให้ขยันหมั่นเพียร

ก็ขอฝากปรัชญายุค 2.0 เอาไว้ด้วยนะลูกๆหลานๆเอ๊ย มันต้องขยันก่อน อดทนก่อน แล้วก็มีความเพียร มีความตั้งใจ และมีความอดออมกันซะก่อน…พอเริ่มมีสตางค์เหลือใช้เหลือเก็บแล้ว พวกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีจะตามมาเอง

ถ้าขืนเริ่มด้วยความคิด 4.0 “ฝันหวาน” ว่าแผล็บเดียวตูจะรวยแล้วละก็ รับรองว่าไปไม่รอดแน่นอนลูกหลานเอ๊ย! เพราะจะกลายเป็นคนไทยเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อกันไปทั้งชาติ.

“ซูม”