ไม่อยากให้ “ประชารัฐ” เป็นชื่อพรรคการเมือง

พอบิ๊กตู่ท่านยอมรับว่าท่านเป็นนักการเมือง และแสดงท่าทีว่าพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้

ก็มีเสียงเล่าลือขึ้นทันทีว่า อาจจะมีการตั้งพรรคสนับสนุนท่าน และอาจใช้ชื่อว่า “พรรคประชารัฐ” ตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อการจับมือกันลงไปพัฒนาประเทศระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชา” หรือประชาชน

เจ้ากรมข่าวลือลือกันว่า เหตุที่พรรคสนับสนุนบิ๊กตู่จะใช้คำว่า “ประชารัฐ” มาเป็นชื่อของพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่ก็เพราะเป็นชื่อที่รู้จักกันแล้วอย่างกว้างขวาง ไม่ต้องเสียเวลาประชาสัมพันธ์มาก

จริงๆแล้วเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็เคยมีการปล่อยข่าวตีปลาหน้าไซว่า จะมีการตั้งพรรคชื่อนี้ แต่ผู้ใหญ่ที่ตกเป็นตัวละครในข่าวต่างก็ออกมาปฏิเสธไปแล้วหนหนึ่ง

แต่อาจจะเป็นเพราะบิ๊กตู่ท่านยอมรับว่า ท่านเป็นนักการเมืองนั่นแหละทำให้เจ้ากรมข่าวลือหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาลืออีกหน

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง หากจะมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสนับสนุนบิ๊กตู่ และต้องขอบพระคุณบิ๊กตู่เป็นอย่างสูง ที่กรุณาแสดงท่าทียอมรับว่าท่านเป็นนักการเมือง และพร้อมที่จะเดินหน้าทางการเมืองต่อไป

เพราะมาถึงขั้นนี้แล้ว จะปกๆปิดๆ หรือลับๆล่อๆอยู่ก็ดูกระไร…ถึงเวลาแล้วครับที่จะต้องเปิดใจแสดงความคิด และความพร้อมออกมาให้ประชาชนเห็น

แต่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง หากจะมีผู้สนับสนุน หรือกองหนุนท่านใดของท่านไปตั้งชื่อพรรคใหม่นี้ว่า พรรค “ประชารัฐ”

ดังที่ทราบกันมาแล้วว่า คำว่า “ประชารัฐ” อยู่ในเนื้อท่อนหนึ่งของเพลงชาติไทย ที่ร้องในตอนเริ่มต้นว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็น ประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน” นั่นเอง คนไทยทุกคนที่ร้องเพลงชาติไทยย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดียิ่ง

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2538-2539 ในการประชุมเพื่อจัดเตรียมแผนพัฒนาฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) ได้มีนักวิชาการท่านหนึ่งเสนอให้ใช้ถ้อยคำว่า “ประชารัฐ” เพื่อเป็นกลไกหนึ่งของการปฏิบัติตามแผน 8 ให้บรรลุผล

คือให้รัฐกับประชาชนทุกหมู่เหล่าจับมือในการพัฒนาประเทศ ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสภาพัฒน์ในยุคดังกล่าวให้ความเห็นชอบ

คำว่า “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารแผนงานและนโยบายของรัฐ จึงถูกดึงจากเพลงชาติไทยมาปรากฏในแผนพัฒนาประเทศไทยเป็นครั้งแรก

แต่จะด้วยอะไรไม่ทราบได้ คำคำนี้ก็ดูจะเลือนหายไปไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก แม้จะได้ประกาศใช้แผนฉบับ 8 ไปแล้วก็ตาม จนมาถึงสมัยนายกฯ ตู่และ คสช. จึงกลับมาฮิตมากอีกครั้งหนึ่ง

มีการนำมาใช้เป็นวิธีปฏิบัติ และได้ตั้งคณะกรรมการร่วมมือในการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับพื้นที่

ภาคเอกชน โดยเฉพาะหอการค้าไทยเข้ามาร่วมด้วยอย่างเต็มที่ รวมทั้งบริษัทธุรกิจเอกชนใหญ่ยักษ์ อีกหลายบริษัทก็เข้ามาร่วม ทั้งในด้านการพัฒนาการศึกษาและการอาชีพต่างๆ ทั่วประเทศไทย ถือเป็นการร่วมมือกันพัฒนาประเทศจากระดับบนสู่ระดับล่างที่เป็นรูปธรรมไม่น้อยทีเดียว

ผมเชื่อว่าที่นักธุรกิจใหญ่ๆ หรือแม้แต่หอการค้าไทยลงไปร่วมทำงานอย่างชนิดทุ่มตัวนั้น น่าจะมาจากคำว่า “ประชารัฐ” นี่แหละ

ฟังแล้วเห็นภาพ และเกิดความรู้สึกในการที่จะร่วมมือกันระหว่าง “ประชา” กับ “รัฐ” ดังเช่น เนื้อเพลงชาติที่ว่า

ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้คงคำนี้ไว้ในฐานะถ้อยคำที่สื่อความหมายและเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมมือในการทำงานเพื่อประชาชน ระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนและประชาชนต่อไป

อย่าเอาไปตั้งเป็นชื่อพรรคการเมืองเลยครับ…เดี๋ยวจะทำให้ถ้อยคำคำนี้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง เพราะเมื่อกลายเป็นการเมืองไปเสียแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนทั่วไปจะลดลงทันที

เก็บถ้อยคำคำนี้ไว้ใช้ในเพลงชาติและใช้ในเรื่องดีๆ ที่แสดงถึงความร่วมมือของรัฐกับประชาชนต่อไปตามเดิมนะครับ…ผมขอร้อง และขอขอบคุณล่วงหน้า!

“ซูม”