“เปลี่ยนม้า” กลางศึก “ข่าวดี” หรือ “ข่าวร้าย”?

ผมเขียนถึงข่าวดีๆ ของประเทศไทยติดต่อกันมาหลายวัน แม้จะเป็นเพียงข่าวเล็กๆ แต่ก็ถือว่ามีความหมายอ่านแล้ว “ใจฟู” มีความสุขใจและมีกำลังใจที่จะเดินหน้าทำงานกันต่อไป

ทั้งๆที่มี “ข่าวร้าย” เกิดขึ้นหลายๆ ข่าว ร้ายเล็กๆ บ้าง ใหญ่ๆ บ้าง แต่ผมก็ไม่หยิบมาพูดถึงเขียนถึง เพราะถือว่าในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัปดาห์แห่งความสุข เป็นสัปดาห์แห่งความมงคล เพราะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลขึ้นปีใหม่แบบไทยๆ บวกกับเทศกาลฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีอายุยืนยาวมาถึง 242 ปี

จึงไม่ควรพูดถึงข่าวร้ายๆ ซึ่งได้เกิดและตั้งเค้ามาตลอดแม้จะเป็นห้วงเวลาที่ควรจะมีแต่เรื่องดีๆ อย่างที่ว่า

แต่มาถึงช่วงเวลานี้ผ่านเทศกาลดีๆ ไปเรียบร้อย การพูดถึงข่าวร้ายเสียบ้างคงไม่มีใครถือสาหาความว่าจะนำสิ่งไม่เป็นมงคลมาสู่ประเทศไทย

ข่าวร้ายแรกก็คือ การเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งของรัฐบาลตามข่าวที่มีการพาดหัวมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน

ทำไมผมจึงจัดให้ข่าว “เปลี่ยนรัฐมนตรี” เป็นข่าวร้าย? เหตุผลข้อที่ 1 ก็เพราะรัฐบาลนี้เพิ่งจะตั้งมาได้แค่ 8 เดือนเท่านั้น ตามหลักควรจะยังอยู่ในช่วงของข้าวใหม่ปลามัน ตามค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนรัฐมนตรีในแต่ละรัฐบาลในอดีตที่มักจะเกิน 1 ปีเป็นอย่างน้อย

แต่นี่แค่ 238 วัน ประมาณ 8 เดือน (ในวันที่ผมเขียน) เปลี่ยนซะแล้วแสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างในรัฐบาลฯ แน่ๆ

โดยทฤษฎี การบริหาร ไม่ว่าจะบริหารบริษัท บริหารองค์กร หรือบริหารประเทศก็เถอะไม่ควรเปลี่ยนตัวผู้ร่วมในการบริหารอย่างที่เรียกกันว่า “เปลี่ยนม้ากลางศึก” เร็วนัก

ควรจะใช้ม้าตัวเดิมนั้นทำศึกต่อไปจนกว่าจะสามารถพิชิตศึกได้ หรือถึงเวลาอันสมควร เช่น ม้าตัวนั้นเริ่มอ่อนล้า เริ่มมีบาดแผล เริ่มบาดเจ็บจนไม่สามารถจะลุยศึกไปกับเราได้เหมือนเก่า

นี่ดูๆ ก็ไม่เห็นมีม้าตัวไหนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า บางตัวยังเข้มแข็งทำงานดีมาก คลอดนโยบายดีๆ ออกมาหลายเรื่อง กลับโดนเปลี่ยนกลางคัน ยกตัวอย่างเช่นกระทรวงสาธารณสุข

จึงไม่มีทางที่จะสันนิษฐานได้เป็นอย่างอื่นนอกเสียจากจะต้องสันนิษฐานว่ามี “ปัญหา” (อะไรก็ไม่รู้) เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทยถึงขั้น เปลี่ยนม้าที่ยังเข้มแข็งคะนองศึก…อย่างคุณหมอชลน่านเอาเสียดื้อๆ

แต่ท่านผู้รู้บางท่านบอกผมว่าในหลักบริหารเช่นกัน ถ้าเราพบม้าที่ดีกว่า หรือเราพบว่าการพิชิตศึกได้อย่างรวดเร็วจะต้องใช้ม้าที่ดีกว่า เพราะตอนที่เราลงทำศึกตอนแรกเงื่อนเวลาบังคับทำให้ต้องตัดสินใจใช้ม้าบางตัวไปก่อน

ดังนั้นเมื่อถึงช่วงที่จะต้องโจมตีแตกหักก็มีเหตุผลที่จะต้องหาม้าตัวใหม่ที่เข้มแข็งเข้ามาเสริมให้ทันท่วงที

ผมถามว่านโยบายอะไรของรัฐบาลนี้ที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็วและแตกหักในช่วงนี้? ได้รับคำตอบว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทไงล่ะ…รัฐบาลท่านยืนยันแล้วที่จะต้องเดินหน้าต่อไป

ในการเปลี่ยนม้าสำหรับกระทรวงการคลังที่จะทำหน้าที่หาเงินมาแจกเพื่อให้นโยบายนี้เดินหน้าไปได้จึงจำเป็นต้องทำและรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยเองจึงจัด “ม้าใหม่” มาเสริมกระทรวงที่ว่าแบบแข็งปึ้ก

ถ้าบทวิเคราะห์ข้างต้นนี้เป็นความจริงก็แสดงว่าที่ผมยกให้ข่าวการ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” เป็น “ข่าวร้าย” นั้นถูกต้องแล้ว

เพราะการเปลี่ยนม้าในกรณีที่ 1 อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของกระทรวงที่สำคัญกระทรวงหนึ่งของประเทศที่กำลังขับเคลื่อนนโยบายระยะยาวที่สำคัญหลายๆ นโยบายอย่างได้ผลอาจต้องชะลอลงไปบ้าง

ถือเป็น ข่าวร้าย เล็กๆ ที่ใช้เวลาไม่มากนักน่าจะปรับตัวได้

ส่วนกรณีที่ 2 เปลี่ยนม้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท หากเป็นเช่นที่ท่านผู้รู้วิเคราะห์ก็ถือว่าจะเป็น “ข่าวร้าย” ที่อาจยืดเยื้อและบานปลายออกไปได้

เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลเป็นนโยบายที่มีความเสี่ยงสูง และมีเสียงคัดค้านอย่างมากจากนักวิชาการและจากผู้ห่วงใยประเทศชาติรวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย

เป็นนโยบายที่จะต้องใช้เงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไงๆ ต้องมาจากหยาดเหงื่อของผู้เสียภาษีอากรอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเสียงทักท้วงจากผู้เสียภาษี จึงย่อมจะต้องดังขึ้นเรื่อยๆ เป็นของธรรมดา

ดังนั้นการมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไปของรัฐบาล จึงจะเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งที่อาจจะแรงขึ้นและแรงขึ้นในวันข้างหน้า

แล้วจะไม่ให้ผมรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวมองว่า การเปลี่ยนม้ากลางศึกครั้งนี้เป็น “ข่าวร้าย” ได้ยังไงล่ะครับ.

“ซูม”

เปลี่ยนแปลง, โยกย้าย, รัฐมนตรี, รัฐบาล, การเมือง, นโยบาย, แจกเงินดิจิทัล, ข่าวร้าย, ข่าวดี, ข่าว, ข่าววันนี้, ซูมซอกแซก, ไลฟ์สไตล์, แจกเงิน