ร่วมอนุรักษ์ “ควายไทย” เคียงคู่ “คนไทย” ตลอดไป

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้เมื่อบ่ายๆของวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็น “วันอนุรักษ์ควายไทย” และเนื่องจากผมเคยมีความรักความหลังอยู่กับเรื่อง “ควายๆ” พอสมควร ทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่อยากจะเขียนถึง “ควายไทย” ขึ้นมาตงิดๆ

อย่ากระนั้นเลยขออนุญาตร่วมขบวนการ “อนุรักษ์ควายไทย” เขียนถึงควายไทยสักวันนะครับ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีวันอนุรักษ์ควายไทยก็เพราะควายที่เคยเป็นสัตว์ใช้งาน ช่วยชาวนาในการไถนาทำนามาแต่โบราณกาล แต่ต่อมาชาวนาสมัยใหม่หันมาใช้เทคโนโลยีในการทำนาโดยใช้รถไถ หรือเครื่องจักรมาไถนาเสียเป็นส่วนมาก ทำให้ควายแปรสภาพมาเป็นสัตว์เลี้ยงเท่านั้น จำนวนจึงลดลงอย่างน่าวิตก

จากที่เคยมีจำนวนถึง 6.4 ล้านตัวในอดีต มาถึง พ.ศ.2557 เหลือเพียง 1.3 ล้านตัว โดยประมาณเท่านั้น ทางกรมปศุสัตว์จึงทำเรื่องเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และกำหนดให้มี “วันอนุรักษ์ควายไทย” เพื่อสร้างความตระหนักและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธ์ไปในที่สุด

กระทรวงเกษตรฯ จึงทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และได้รับอนุมัติให้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เมื่อ 7 มีนาคม 2560 ซึ่งก็คือรัฐบาลที่มี “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

เหตุผลที่ใช้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันอนุรักษ์ควายไทยนั้น เนื่องมาจากวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2523 เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการดำเนินงาน “โครงการธนาคารโค-กระบือ” ขึ้นเป็นครั้งแรกถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์โคกระบืออย่างเป็นรูปธรรมนับแต่นั้นมา

จากข้อมูลเมื่อปี 2557 ที่ระบุว่าเหลือควายไทยอยู่ประมาณ 1.3 ล้านตัว ดังที่อ้างไว้ในตอนต้น นำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขปีนี้คือ 2567 หรือ 10 ปีให้หลัง จะเห็นได้ว่าเราเริ่มมีจำนวนควายไทยเพิ่มขึ้นมาบ้างแล้ว

เพราะจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า ในปีนี้ (2567) มีควายทั้งสิ้น 1,817,289 ตัว โดยจังหวัดที่มีมากที่สุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ บุรีรัมย์ 164,855 ตัว, สุรินทร์ 155,366 ตัว, อุบลราชธานี 139,683 ตัว, ศรีสะเกษ 97,102 ตัว และ สกลนคร 96,634 ตัว

จาก 1.5 ล้านตัว เป็น 1.8 ล้านตัวเศษๆ ก็ต้องถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไม่น้อยทีเดียว

ในช่วงที่ผมมีโอกาสทำงานในด้านพัฒนาชนบทนั้น ได้บรรจุโครงการ ธนาคารโค-กระบือ ตามพระราชดำริ เป็นโครงการสำหรับการพัฒนาในเขตพื้นที่ยากจนด้วย…โดยตั้งเป้าที่จะให้มีธนาคารโค-กระบือตามความสมัครใจในระดับหมู่บ้าน เพื่อสำหรับนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำนาโดยตรงของเกษตรอีกครั้ง

เหตุเพราะต้นทุนที่เป็นเงินสดที่ชาวนาจะต้องใช้จ่ายต่อไร่สูงมาก ทำให้ต้นทุนเงินสดขึ้นไปปร่ิมๆ กับราคาข้าว เสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างมาก หากราคาข้าวตกต่ำลง

คณะกรรมการพัฒนาชนบทยุคโน้นจึงพยายามโน้มน้าวให้ชาวนาหันมาใช้วิธีแบบโบราณ ซึ่งจะประหยัดเงินสดได้มากกว่า เช่น การไถนาด้วยโคกระบือ การใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก รวมไปถึงการลงแขกมาช่วยกันดำนาหรือเกี่ยวข้าว ซึ่งจะประหยัดและลดต้นทุนได้อย่างมาก

แต่ในที่สุดแนวคิดที่จะหันกลับมาใช้วิธีลดต้นทุน “เงินสด” ตามแบบโบราณก็ต้องระงับไป เพราะพี่น้องชาวชนบทมองว่าเป็นวิธีที่ช้าไม่ทันใจสู้วิธีใหม่ๆ (ซึ่งต้นทุนแพงกว่าอย่างมาก) ไม่ได้เลย

รวมทั้งการไถนาโดยใช้โคกระบือก็ลดฮวบลงด้วย ส่งผลให้ปี 2525 ที่มีกระบือถึง 6 ล้านกว่าตัวนั้น ค่อยๆหดหายจนเหลือเพียง 1.3 ล้านตัว ใน พ.ศ.2557 ดังกล่าว

ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ผมก็รู้สึกดีใจที่ยอดจำนวนกระบือกลับมาเพิ่มเป็น 1.8 ล้านตัวเศษ และหวังว่าจะให้เพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ นะครับ

ดีใจครับที่ทราบว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัด “แชมป์” ที่มีควายมากที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน ผมเห็นชื่อแล้วก็หายห่วง เพราะจังหวัดนี้มีอะไรดังหลายอย่างตั้งแต่ ทีมฟุตบอล ไปจนถึง ลูกชิ้นยืนกิน และสนามแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์ระดับโลก

ฝากควายไทยไว้อีกอย่างนะครับ “น้องเน” (เนวิน ชิดชอบ) น้องรักเก่าของผม ขอให้ช่วยดูแลอนุรักษ์ควายไทยให้อยู่ยั้งยืนยง เคียงคู่บุรีรัมย์และเคียงคู่ประเทศไทยไปตราบนานเท่านาน.

“ซูม”

วันอนุรักษ์ควายไทย, ควาย, ไทย, พัฒนาชนบท, ราคา, เนวิน ชิดชอบ, บุรีรัมย์, ข่าว,​ ซูมซอกแซก