ตรุษจีน “นครสวรรค์” 108 ปี “พลังศรัทธา”

ผ่าง! ผ่าง! มาแล้วครับข้อเขียนประจำปีของคอลัมน์นี้ เพราะเขียนมาทุกปีไม่เคยขาดแม้แต่ปีเดียว นับตั้งแต่ปี 2516 ที่คอลัมน์ “เหะหะพาที” และคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” ถือกำเนิดขึ้นในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

นั่นก็คือ ข้อเขียนเกี่ยวกับงาน “ตรุษจีน” ของจังหวัดนครสวรรค์ งานที่รวมพลังคนนครสวรรค์เป็นหนึ่งเดียว และงานที่คนนครสวรรค์ร่วมกันสืบสานด้วยความศรัทธาอันแก่กล้ามาจนถึงบัดนี้เป็นเวลา 108 ปีนั่นเอง

ดังนั้น ถ้านับจากปี 2516 ที่หัวหน้าทีมซอกแซกเขียนถึงตรุษจีนนครสวรรค์เป็นครั้งแรกในไทยรัฐมาจนถึงปีนี้ 2567 จึงเท่ากับ 51 ปี พอดิบพอดีไม่มีขาดไม่มีเกิน จึงเท่ากับเขียน

มาถึง 51 ปี 51 ครั้งแบบมาราธอนโดยไม่เว้นเลย แม้สักปีเดียว ดังที่เกริ่นไว้ถ้าจะถามว่า ทำไมถึงเขียนได้อย่างทรหด อดทนถึงขนาดนั้น ก็คงต้องตอบว่า…เป็นเพราะคำว่า “ศรัทธา” โดยแท้…คนนครสวรรค์รุ่นปู่รุ่นย่า สามารถจัดงานนี้ได้ถึง 108 ปี โดยไม่หยุดยั้ง ท่านก็ประกาศตรงๆ ในชื่องานของท่านว่า “108 ปี มหัศจรรย์สีสันแห่งศรัทธา” แสดงว่า เพราะศรัทธาแท้ๆ ท่านจึงจัดงานติดต่อกันมาได้ยาวนานถึง ขนาดนี้ แม้จะเหนื่อยมาก เพราะต้องซักซ้อมมาก ต้องลงทุนคิดค้นโน่นนี่อย่างมาก ฯลฯ

หัวหน้าทีมซอกแซกก็เช่นกันที่ตั้งใจเขียนติดต่อกันมาถึง 51 ปี 51 ครั้ง ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ด้วย “ศรัทธา” นี่แหละครับ

ยังจำได้ว่าสมัยหนุ่มๆ ศรัทธาเยอะกว่านี้อีก ไม่เพียงแต่จะเขียนให้เท่านั้น พอถึงเทศกาลจัดงานยังกลับไปเยี่ยมบ้านไปชมงานไปเข้าแถวยืนดูขบวนแห่กับชาวนครสวรรค์อื่นๆ ด้วยความชื่นชมเสียอีกด้วยซ้ำ

มาช่วงหลังๆ ด้วยอายุที่มากแล้ว จะกลับไปดูงานเที่ยวงานก็ยากลำบาก จะไปยืนดูหรือไปเดินตามขบวนแห่ก็ลำบาก…แต่ด้วย “ศรัทธา” ที่ยังเหลืออยู่เต็มเปี่ยมจึงหันมาใช้วิธีเขียนถึงหรือที่เรียกกันว่า “ประชาสัมพันธ์” เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนทั่วประเทศที่มักชอบออกเที่ยวตรุษจีนแวะไปเที่ยวตรุษจีนที่นครสวรรค์ด้วยเท่านั้นเอง

ไปไหว้ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ไปชมขบวนสิงโตและมังกรทอง ไปตื่นตาตื่นใจกับขบวนนางฟ้า ขบวนเจ้าแม่กวนอิมสมมติ และขบวนเอ็งกอพะบู๊ ยอดนักสู้แห่งเขาเหลียงซาน

ปีก่อนๆ จะมีขบวน “เต้นกำรำเคียว” ด้วย เพราะการร้องรำ ขณะกำเคียวเกี่ยวข้าวนั้นถือกำเนิดมาจาก อำเภอพยุหะคีรี ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์นั่นเอง

ในยุคก่อนๆ เมื่อครั้งหัวหน้าทีมซอกแซกยังเป็นเด็ก งานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ของจังหวัดนครสวรรค์จะมีเฉพาะภาคกลางวันในวัน “ชิวสี่” หรือวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 4 ในธรรมเนียมจีนเท่านั้นเอง

ต่อมาก็มีผู้เสนอให้แห่ตอนกลางคืนด้วย ในคืน “ชิวซา” หรือวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 3 โดยอาจใช้ขบวนสั้นลงหน่อย แต่ใช้แสงสีเสียงมาช่วยเสริมให้ขบวนสวยงามมากขึ้น

จึงเกิดเป็นประเพณี “แห่กลางคืน” และก็เป็นที่นิยมอย่างมากมาจนถึงบัดนี้

ประเพณีแห่กลางคืนจะเริ่มขึ้นเมื่อใด หัวหน้าทีมซอกแซกไม่แน่ใจ แต่ถ้าให้สันนิษฐานจากความทรงจำน่าจะประมาณปี 2505-2506 หรือเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา ท่านใดยังจำความได้อย่าลืมเขียนมาบอกกล่าวบ้างนะครับ

สำหรับที่มาที่ไปของประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ของชาวปากนํ้าโพหรือชาวนครสวรรค์นั้นเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 108 ปีก่อนหรือประมาณ พ.ศ.2459-2460 ซึ่งเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่จนผู้คนชาวปากนํ้าโพเสียชีวิตจำนวนมาก

ในยุคที่การแพทย์ของประเทศไทยยังไม่เจริญ ยารักษาโรคทันสมัยยังไม่มี การรักษาช่วยชีวิตผู้คนที่ทำได้ในยุคนั้นก็เพียงแค่ใช้ยาแผนโบราณหรือสมุนไพรเท่านั้น

แต่สำหรับชาวปากนํ้าโพมีตัวยาทางใจเพิ่มขึ้นอีก 1 ตำรับ คือการไปวิงวอนขอความช่วยเหลือ จากศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ปากนํ้าโพในช่วงเวลานั้น ให้มาช่วยบำบัดโรคร้ายด้วยอีกแรงหนึ่งโดยเฉพาะเจ้าพ่อแควใหญ่หรือเจ้าพ่อเทพารักษ์ ซึ่งได้มีการประทับทรงและเขียนเป็น “ฮู้” หรือ “ยันต์” ให้ประชาชนนำไปปิดไว้ที่ประตูบ้านเพื่อป้องกันโรค หรือไม่ก็นำฮู้ไปแช่น้ำเพื่อทำน้ำมนต์มาประพรมหรือบางครั้งก็ดื่มกิน จนเป็นผลให้โรคระบาดทุเลาเบาบางลง

ด้วยความศรัทธาชาวปากน้ำโพในยุคโน้น จึงได้จัดพิธีแห่แหนขึ้นเมื่อโรคภัยสงบลงแล้ว เพื่ออัญเชิญเจ้าพ่อมาให้ประชาชนสักการบูชาถึงในบริเวณหน้าตลาดปากน้ำโพ จนเกิดเป็นประเพณี “แห่เจ้า” นับแต่นั้นมา

สำหรับปีนี้งานตรุษจีนนครสวรรค์เริ่มมาตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ก็จริง แต่พิธีแห่กลางคืนของคืน “ชิวซา” จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้จันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่ 1 ทุ่มโดยประมาณ และพิธีแห่กลางวันจะเริ่มในเช้าวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ไปจนถึง 5 โมงเย็น สะดวกเวลาไหนก็สามารถไปร่วมชมขบวนแห่และไปร่วมรับบุญรับสิริมงคลกันได้ในช่วงเวลานั้น

อนึ่ง เนื่องจากปีนี้ช่วงเวลาของตรุษจีนกับช่วงเวลาของวัน “วาเลนไทน์” เข้ามาใกล้ชิดกัน อย่างพอเหมาะพอเจาะ ทำให้วัน “ชิวโหงว” หรือวันที่ 5 ของปีใหม่จีนไปตรงกับ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักพอดิบพอดี

ที่นครสวรรค์เขายังมีงานตรุษจีนอีก 1 วันนะครับ ไม่แน่ใจว่าทางจังหวัดจะประชาสัมพันธ์ไว้หรือไม่…แต่คอลัมน์นี้ขอประชาสัมพันธ์ให้เลยก็แล้วกัน…ขอเชิญชวน “คู่รัก” ทั้งหลายที่จะเข้าพิธีแต่งงานไปจดทะเบียนสมรสที่อำเภอเมืองนครสวรรค์กันด้วย

จดทะเบียนเสร็จก็แวะไปที่บริเวณท่าน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา ที่เขายังมีงานอีก 1 วัน และเจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกองค์ยังคงประทับอยู่อย่างครบครัน…

ไปขอพรท่านให้ความรักของผู้จดทะเบียน สมรสทั้งหลายอยู่ยั้งยืนยงไปตราบกาลนิรันดร์ได้เลยนะครับ.

“ซูม”

ตรุษจีน “นครสวรรค์” 108 ปี “พลังศรัทธา”, เทศกาล, ท่องเที่ยว, หนังสือพิมพ์, ไทยรัฐ, มังกร, วาเลนไทน์, วันแห่งความรัก, ข่าว, ซูมซอกแซก