หนังสือพิมพ์ “ญี่ปุ่น” “ไม่โต” แต่ยัง “ไม่ตาย”

ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง และตกอยู่ในภาวะการต่อสู้ยกสุดท้ายของอาชีพนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อหนังสือพิมพ์ กระดาษ ทั่วโลก…ดังนั้นไม่ว่าจะเดินทางไปประเทศไหน ผมมักจะหาโอกาสไปเดินสำรวจตลาดหนังสือพิมพ์ของประเทศนั้นอยู่เสมอๆ ว่าสถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร

ไปญี่ปุ่นเที่ยวนี้ แม้ผมจะไม่มีเวลาไปเดินตรวจตลาดอย่างจริงจัง แต่จากการเดินเข้าออกร้านสะดวกซื้อ ทั้ง “แฟมิลี่มาร์ท” และ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ข้างบ้านพักของผมก็ยังรู้สึกชื่นใจและขอบคุณร้านสะดวกซื้อ 2 ยี่ห้อนี้…ที่ยังมี “หนังสือพิมพ์” และ “แมกกาซีน” วางจำหน่ายอย่างโดดเด่นสะดุดตา

ทุกช่วงสายๆ ก่อนออกเที่ยว ผมจะแวะซื้อของขบเคี้ยวบางอย่างที่ แฟมิลี่มาร์ท ซึ่งมีถึง 3 แห่งใกล้ๆ บ้านพักผม หรือไม่ก็ที่ “เซเว่น” ซึ่งมีหนึ่งแห่งก่อนถึงทางเข้าสถานีรถใต้ดิน

ผมจะมองเห็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับดัง 3-4 ยี่ห้อของญี่ปุ่นวางค่อนข้างหนาพอสมควรบนแผง ใกล้ๆ ประตูทางเข้าของร้าน

ครั้นตระเวนเที่ยวเสร็จสรรพกลับบ้านตอนดึก ผมก็จะแวะซื้อน้ำซื้อแซนด์วิช กลับไปตุนไว้เป็นอาหารเช้าวันรุ่งขึ้น

ผมก็จะเห็นกองหนังสือพิมพ์บนแผงบางลงบ้าง…บางวันบางมาก บางวันบางน้อย…แต่ก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว

ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามรายงานที่ผมเคยอ่านเจอที่ระบุว่า ในประเทศญี่ปุ่นที่ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันสูงสุดในโลก…ก็เหมือนกับทุกประเทศในโลกนี้ที่ “สื่อกระดาษ” ทุกประเภทต้องทำสงครามกับสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในโทรศัพท์มือถือ และนับวันจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยอดขายหนังสือพิมพ์เหลือจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา

น่าจะประมาณ 40 ปีมาแล้ว ผมเคยได้รับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ไปตระเวนทั่วประเทศญี่ปุ่นเกือบ 2 สัปดาห์

มีโอกาสแวะดูงานที่หนังสือพิมพ์ “โยมิอูริ ชิมบุน” ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงสุดในญี่ปุ่นและของโลกด้วย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะกว่า 10 ล้านฉบับต่อวันใน ค.ศ.นั้น

มาถึงปีล่าสุดคือ ค.ศ.2022 เท่าที่มีการเผยแพร่ตัวเลข ยอดจำหน่ายของโยมิอูริ ชิมบุนเหลืออยู่ประมาณ 6 ล้าน 8 แสนฉบับ ลดลงไปกว่า 3 ล้านฉบับต่อวัน

ผมคิดว่าโยมิอูริน่าจะมีปัญหาต่างๆ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยเจอข่าวคราวหรือบทความเกี่ยวกับปัญหาในการบริหารของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

เป้าหลักในการต่อสู้ของเขาก็คือ จะต้อง “ธำรง” ความเป็นหนังสือพิมพ์รายวันต่อไป และไม่ยอมออกเป็นสื่อออนไลน์…แม้จะมีเว็บไซต์อยู่ แต่ก็จะนำข่าวหรือบทความ หรือคอลัมน์มาลงอย่างจำกัดเหมือนเป็นหนังตัวอย่างให้ผู้อ่านไปอ่านของจริงใน “ฉบับพิมพ์”

ในแถลงการณ์ของบริษัทยืนยันจะรักษาไว้ซึ่งความเที่ยงตรงและถูกต้องของข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เป็นหลักยึดของสังคม เพราะจากการแพร่หลายของโซเชียลมีเดียจะเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่แปลกปลอมและหลอกลวงแฝงอยู่ไม่น้อย

สำหรับยักษ์ใหญ่เบอร์สองของญี่ปุ่น อันได้แก่ อาซาฮี ชิมบุน นั้น สถิติปี 2010 ระบุว่า มียอดจำหน่ายถึง 7.90 ล้านฉบับ แต่ ณ ปี 2022 เหลือเพียง 4.29 ล้านฉบับ ลดวูบไปอย่างน่าใจหายเช่นกัน

ของ อาซาฮี ชิมบุน มีรายงานว่าด้วยการดิ้นรนต่อสู้อย่างชัดเจน ทั้งปลดคนงาน ทั้งให้ลาออกโดยสมัครใจ เมื่อพบว่ารายได้จากการโฆษณาและการจำหน่ายขาดทุนมาตลอด

อาซาฮี ชิมบุนมีฉบับออนไลน์แบบครบเครื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการหาสมาชิก และไม่แน่ใจว่ามียอดมากน้อยเพียงใด เหตุหนึ่งที่หาสมาชิกยาก เพราะไปปล่อยให้อ่านฟรีเสียแต่แรก

ก็ได้แต่ให้กำลังใจอาซาฮี ชิมบุน และหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นทุกฉบับขอให้อยู่ต่อไปนานๆ และหากจะชนะศึกครั้งนี้ได้ ก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง

ย้อนกลับมาที่ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นอีกครั้ง…ผมขอขอบคุณและปรบมือให้แทนเพื่อนๆ นักหนังสือพิมพ์ชาวญี่ปุ่นของผมไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

ที่ทุกร้านทุกยี่ห้อตั้งแต่ “เซเว่น” “แฟมิลี่มาร์ท” ไปจนถึง “ลอว์สัน” และอื่นๆ ยังคงมี “แผง” ขายหนังสือพิมพ์ และแมกกาซีนตั้งไว้ในจุดโชว์หน้าร้านอย่างสะดุดตา และให้เกียรติ

ขายได้หรือไม่ได้อย่างไรก็ช่างเถิด แต่อย่างน้อยหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นก็ยังมีที่วางขายอีก 50,000-60,000 แผงจากร้านสะดวกซื้อที่เขามีอยู่ทั้งหมดทั่วประเทศ.

“ซูม”

หนังสือพิมพ์, รายวัน, ญี่ปุ่น, ไม่โต, แต่ยัง, ไม่ตาย, ร้านสะดวกซื้อ, เซเว่น, แฟมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน, กระดาษ, ซื้อ, ข่าว, ซูมซอกแซก