เราจะกลับมายืนอย่างสง่า คำสัญญาจากสยามพารากอน

ก็มาถึงบทส่งท้ายของคำพูดปลุกปลอบใจพนักงานสยามพารากอนของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ในงานเลี้ยงปลอบขวัญและขอบคุณที่ผมนำลงสู่กันอ่านตั้งแต่ฉบับเมื่อวาน ซึ่งเป็นการพูดถึงความหวังและความสำเร็จ แต่ก็ต้องต่อสู้กับวิกฤติต่างๆ มาโดยตลอด

เธอย้ำหลายครั้งว่าตลอด 18 ปี แม้จะเผชิญวิกฤติร้ายแรงที่เป็นวิกฤติทางการเมืองของประเทศเราด้วย และก็มาเกิดเหตุหน้าห้างของเธอด้วย…แต่สยามพารากอนก็ไม่เคยพ่ายแพ้

ยืนหยัดอยู่ยั้งยืนยงมาได้ เพราะความร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของพนักงานทุกชีวิต

แล้วสำหรับเหตุการณ์ “3 ตุลาคม” ล่ะ สยามพารากอนจะสู้อย่างไร?

ข้างล่างนี้คือคำตอบจากหญิงแกร่ง ชฎาทิพ จูตระกูล

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เราต้องมองให้เห็นว่ามันคือบททดสอบที่น่าสะพรึงกลัวและรุนแรง แต่ทุกท่านต้องเข้าใจนะคะว่าเราเตรียมตัวรับเรื่องแบบนี้มาตลอดเวลา”

“เพราะเรารู้ดีว่าสยามพารากอนคือที่ 1 ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้นที่นี่ พวกเราต้องอยู่ในความไม่ประมาททั้ง รปภ. บริการ ช่างที่มาช่วยกันสนับสนุนรวมทั้งฝ่ายปฏิบัติการดูแลผู้เช่าและ BU ทุกคนทราบดีว่าเหตุการณ์หลายเรื่องเราเตรียมพร้อม”

“เรารู้ดีว่าถ้าประมาทเราอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงมีการซ้อมร่วมกับบรรดาผู้เช่า ถ้าเกิดเหตุกราดยิงหรือกระทั่งจับตัวประกัน เพราะสามปีก่อนเรื่องแบบนี้เริ่มต้นขึ้นที่ต่างประเทศและโคราช เราก็ฝึกซ้อมพนักงานของเราและบรรดาผู้เช่าอยู่ตลอด”

“ไม่ใช่แค่เหตุการณ์แบบนี้เท่านั้น ทีมรักษาความปลอดภัยของเรามีมาตรการที่ยอดเยี่ยม มีวัสดุอุปกรณ์พร้อมเพรียง คนของเรามีความรู้ มีความสามารถและมีใจ เพราะเราต้องดูแลบรรดาร้านค้า ลูกค้า และพนักงานของเราด้วยกันเองทั้งหมด”

“เราจะเห็นว่าการอพยพคนออกจากศูนย์การค้าภายใน 20 นาที เรามีคนไม่ต่ำกว่า 80,000 คน ในขณะเกิดเหตุ แต่สามารถนำคนออกไปได้ ขณะเดียวกันบรรดาร้านค้าที่เราได้ฝึกร่วมกันมาอย่างดีทุกคน ทำตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติได้ทันเวลา”

“ในทุกวิกฤติเวลาคือสิ่งสำคัญที่สุดถ้าเราจัดการได้รวดเร็วแล้วความเสียหายจะลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นภาพที่เกิดขึ้นในวันนั้น บนโซเชียลมีเดีย ไม่ได้หนึ่งในพันที่ประชาชนพูดถึงเรา”

“โดยเฉพาะคนในศูนย์การค้าได้รับการดูแล พนักงานสยามพารากอนช่วยจัดการช่วยอพยพให้ทุกคนออกจากอาคารโดยเร็วที่สุด เราทำได้ครบถ้วน”

“ทุกบททดสอบเรายังต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น แม้เราจะจัดการได้แต่สิ่งที่เกิดนั้นต้องเป็นเครื่องเตือนใจของพวกเรา ต้องน้อมรับและนำมาปรับปรุงการทำงานในทุกส่วนของพวกเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก”

“ทุกอย่างจบลงด้วยดี ต้องคิดให้ได้ว่าเราทุกคนก้าวออกมาจาก วิกฤตินี้ได้อย่างสง่างามแล้ว–อะไรคือสิ่งที่ต้องทำต่อไป…สิ่งที่เราต้องคิดคือ เราคือภาพลักษณ์ของประเทศ เมื่อเกิดเหตุการณ์ในสถานที่ของเรา เรามีภารกิจที่จะต้องกอบกู้ภาพลักษณ์ของเราและความมั่นใจในประเทศไทยให้กลับคืนมาให้ได้”

“หน้าที่นี้ไม่ใช่จะทำไม่ได้ เพราะพวกเราทำกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า เราเจอทุกอย่าง เราเจอมากกว่าใคร แต่ทุกครั้งเราไม่เคยปล่อยให้ความกลัวมาทำให้เราแพ้”

“เราจะทำให้สยามพารากอน เป็นที่หนึ่งในใจคนไทยและคนทั้งโลกได้อย่างไร? เราทำสำเร็จมา 18 ปี และอยู่มาทุกยุคทุกสมัย เราจะไม่ทำให้เหตุการณ์ครั้งเดียว 45 นาที มาทำให้เราแพ้หรือหมดกำลังใจ”

“สยามพารากอนและประเทศไทยจะกลับมายืนอย่างสง่างามได้ตลอดไป”

ทั้งหมดนี้คือความในใจของผู้บริหารสูงสุดของสยามพารากอน ที่มอบให้แก่พนักงานที่อยู่เคียงข้างเธอในการฝ่าวิกฤติทุกๆ ครั้ง

ผมขอให้กำลังใจในการที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นทั้งหมดให้กลับคืนมาอีกครั้งให้จงได้ เพราะความสำเร็จในการกอบกู้ไม่เพียงแต่จะมีผลดีต่อสยามพารากอนเท่านั้น แต่มีความหมายมากไปกว่านั้น เพราะจะรวมไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยโดยรวมของเราด้วย

อีกแค่เดือนกว่าก็จะถึงงานครบรอบ 18 ปี สยามพารากอน แล้วครับ จัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งนะครับปีนี้.

“ซูม”